การพัฒนาที่ปกปิดข้อมูล : ความเสี่ยงที่ชุมชนมิอาจกำหนดชีวิตตนเอง
เดือนพฤษภาคมมีข่าวพิษภัยสารเคมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การระเบิดของถังเก็บสารเคมีโรงงานบีเอสที ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การรั่วไหลสารเคมีโรงงานอดิตยาเบอร์ราในละแวกใกล้เคียง
ล่าสุดมีการร้องเรียนกรณีลักลอบนำน้ำปนเปื้อนสารเคมีมาทิ้งที่บริเวณเทศบาลตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนิคมอุตสาหกรรมบางปู และยังมีการลักลอบทิ้งน้ำเสียที่คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ต่างๆ เหล่านี้ส่งผลสะเทือนต่อวงการมลพิษของบ้านเรามากพอควร
เรื่องราวของมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอีกครั้งถึงความเสี่ยงของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับพื้นที่มลพิษ
การรั่วไหลของสารโทลูอีนหลังการระเบิดของโรงงานบีเอสที ดูจะเป็นประเด็นถกเถียงอย่างเข้มข้น ถึงวันนี้ยังไม่อาจหาคำยืนยันที่แน่ชัดจากฟากฝ่ายรัฐบาลได้ว่าควรจะมีความระมัดระวังการตกค้างของสารชนิดนี้ในอากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ในเวลาต่อมาหรือไม่ ทั้งที่นักวิชาการหลายฝ่ายต่างออกมายืนยันถึงความอันตรายของมันที่จะส่งผลในระยะยาวกับร่างกายของมนุษย์
“โทลูอีนนี้ภาคราชการจะพูดกันเยอะว่าไม่ใช่สารก่อมะเร็ง จริงๆแล้วเมื่อไหม้ไฟแล้วมันสามารถแปรหรือเปลี่ยนรูปเป็นสารเคมีอื่นๆ เช่น ก๊าซคาบอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนนอคไซค์ ซึ่งก็เป็นอันตรายต่อร่างกาย และอาจกลายเป็นสารอีกหลายๆตัวตามปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นโทลูอีนที่ไหม้ไฟสามารถกลายเป็นมลพิษอีกหลายตัวที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคน”
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงเหตุการณ์ระเบิดของโรงงานบีเอสที มูลนิธิบูรณะนิเวศ เป็นหนึ่งในอีกหลายองค์กรที่ร่วมกันจัดเสวนาเรื่องการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อสุขภาพคนมาบตาพุด ซึ่งจัดไปแล้วสองครั้งในชุมชนมาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยการเชื้อเชิญผู้เกี่ยวข้องหลากหลายฝ่าย มาร่วมกันคิดและเปิดเผยข้อมูลในด้านตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรม
ศ.ดร.ทาเคชิ มิยากิตะ จากศูนย์วิจัยเปิดเพื่อการศึกษาโรคมินามาตะ มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดการเสวนาครั้งนี้ ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำความเข้าใจเรื่องการสื่อสารความเสี่ยงที่มีประเด็นสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ ต้องทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน และนำข้อมูลที่ได้มานั้นสร้างความไว้วางใจต่อกันและต้องมีความพยายามลดความเสี่ยงเท่าที่จะทำได้และร่วมกันหาทางออกและประชาชนต้องร่วมกันคิดว่าอยากจะสร้างสังคมแบบไหน เพื่อให้ชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม
“หัวใจของการสื่อสารความเสี่ยงคือการทำความจริงให้ปรากฏมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจากเหตุการณ์ล่าสุดของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทำให้เราเห็นว่าตลอดเวลากว่า 30 ปีของการตั้งนิคมแห่งนี้ ชาวบ้านต้องอยู่กับความเสี่ยงทั้งเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การปกปิดข้อมูลที่แท้จริงที่พวกเขาไม่อาจรู้และกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้อย่างแท้จริง” อาจารย์มิยากิตะ กล่าว
ส่วน เพ็ญโฉม เสริมว่า กรณีที่ไม่มีการแจ้งเตือนโดยทันที มันก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในพื้นที่นี้ แล้ววิธีการแจ้งเตือนก็มีปัญหาหลายอย่างซึ่งทั้งหมดนี้วิธีการเหล่านี้จะถูกระบุไว้ในแผนปฏิบัติการฉุกเฉินของจังหวัด ซึ่งจะมีระดับแบ่งเป็นต่างๆ ว่า ถ้าร้ายแรงระดับที่ 1 ให้ทำแบบนี้ ระดับที่ 2 ให้ทำแบบนี้ ระดับที่ 3 ให้ทำแบบนี้ แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในซีกของชุมชน ก็ยังคงไม่ได้รับการใส่ใจและดูแลเหมือนเดิม ในขณะเดียวกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ก็ยังไม่มีการพูดถึงว่าจะดูแลชาวบ้านหรือว่าจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากซีกชุมชนอย่างไร
แม้รู้ว่าอยู่บนความเสี่ยง แต่พระอธิการสมหมาย จฺนทโก เจ้าอาวาสวัดหนองแฟบผู้เป็นชาวระยองโดยกำเนิด ก็ได้ริเริ่มให้มีศูนย์พักพิงชั่วคราวกรณีเกิดสารเคมีรั่วไหล ไว้ที่ศาลาวัดหนองแฟบ ท่านยังมีความเชื่อว่าแท้แล้วชุมชนกับโรงานอุตสาหกรรมนั้นยังอยู่ร่วมกันได้
“อาตมาเชื่อว่าโรงงานกับชุมชนคุยกันปรับเข้าหากันอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ตรงนี้ เช่น หนองแฟบ มาบชะลูด มันเกินขีดที่จะอยู่ตรงนี้แล้ว อาจจะอพพยพไปอยู่ข้างๆ ก็เป็นอีกกรณีที่อยู่ร่วมกันได้ ต้องยอมรับว่าการพัฒนาของเราแต่เริ่มต้นไม่ได้วางแผนเรื่องมลพิษต่างๆ ถือว่าทั้งประเทศมาเริ่มเรียนรู้เหมือนกัน รัฐบาลที่เคยคิดแต่เรื่องรายได้ ไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา เมื่อมีผลแล้วก็ต้องมาเรียนรู้ด้วย” พระสมหมาย ทิ้งท้าย
ด้าน ยูมิโกะ มูระมาซึ ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่เมืองไทยมากว่า 8 ปี เธอมีพื้นเพมาจากเมืองโตโยต้า ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ได้เล่าถึงถิ่นเกิดของตัวเองว่า มีการกำหนดให้ที่ตั้งโรงงานกับชุมชนค่อนข้างห่างกันอยู่ และพยายามปลูกต้นไม้ โรงงานของโตโยต้าก็จะมีต้นไม้เต็มไปหมดมีกำแพงเรียบร้อย ส่วนมากอยู่ในทุ่งนาด้วยซ้ำ
การปลูกต้นไม้รอบโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในอีกหลายข้อตกลงที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจะต้องทำเพื่อปรับสภาพแวดล้อม แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
ใช่ว่าเมืองไทยเท่านั้นที่ต้องการสื่อสารความเสี่ยง ศ.ดร.ชิเกะฮารุ นากาจิ ผู้อำนวยการenvironmental monitoring laboratory และอาจารย์ประจำคณะสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง เล่าว่าที่ญี่ปุ่นขณะมีประเด็นปัญหาใหญ่ที่ต้องสื่อสารความเสี่ยงเช่นเดียวกัน คือเรื่องฟูกูชิมะและพลังงานปรมาณู
“การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างไร้ทิศทาง หากไม่ได้รับการแก้ไขตรงไปตรงมาในวันนี้อาจก่อให้เกิดมลพิษที่ยากต่อการเยียวยา การสื่อสารความเสี่ยงเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารร่วมกันระหว่างผู้คนทุกฟากฝ่าย เพื่อเกิดการยอมรับและทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อให้ประชาชนรู้ถึงสาเหตุของความเจ็บป่วย และสามารถจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพของพวกเขาได้อย่างเท่าทัน” อ.นากาจิ กล่าว
…………………………..
เหตุการณ์ล่าสุดของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทำให้เห็นว่าตลอดเวลากว่า 30 ปีของนิคมฯแห่งนี้ ชาวบ้านต้องอยู่กับความเสี่ยง และมีการปกปิดข้อมูลที่ทำให้พวกเขาไม่อาจรู้และกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้อย่างแท้จริง