“เว็บไซต์ TPMAP” แพลต์ฟอร์มบิ๊กดาต้า แก้ยากจน ระบบพัฒนาคนแบบชี้เป้า
สศช.-เนคเทค เปิดเเพลต์ฟอร์มบิ๊กดาต้า "เว็บไซต์ TPMAP" เจาะข้อมูล 5 มิติความยากจนของไทย สุขภาพ-ความเป็นอยู่-การศึกษา-รายได้-เข้าถึงบริการภาครัฐ หวังเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจยกระดับคุณภาพชีวิต เจาะลึกตั้งเเต่ระดับจว.ถึงชุมชน เร่งพัฒนาเป็นเเบบเรียลไทม์ เตรียมเสนอนายกฯ ต.ค. 61
www.tpmap.in.th หรือ Thai Poverty Map and Analytics Platform: TPMAP เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการพัฒนาโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเป็นระบบบิ๊กดาต้าเบื้องต้น ช่วยชี้เป้าปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัดต่าง ๆ ในประเทศ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาตรงเป้าหมายมากขึ้น และสามารถเปิดโอกาสให้ภาคการเมืองออกแบบนโยบายให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้
โดยระบบดังกล่าวนี้รวบรวมใช้ข้อมูลจากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จากกรมพัฒนาชุมชน และข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลังมายืนยันซึ่งกันและกัน เรียกว่า ประชากรสำรวจ ดังนั้นข้อมูลในฐานข้อมูลนี้จึงไม่ได้มาจากประชากรทั้งประเทศ โดยใช้วิธี Multidimensional Poverty Index (MPI) ซึ่งคิดค้นโดย Oxford Poverty&Human Development Initiative และ United Nation Development Programme ซึ่ง สศช. นำมาปรับใช้กับประเทศไทย โดย MPI คือ ดัชนีความยากจนหลากมิติ อาศัยหลักการที่ว่า คนจนคือผู้ที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่ง TPMAP พิจารณาจาก 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านการเงิน ด้านการเป็นอยู่ และด้านการเข้าถึงบริการของรัฐ
ข้อมูลเบื้องต้น ณ วันที่ 13 ก.ย. 2561 ภาพรวมประชากรสำรวจทั้งประเทศ 36.64 ล้านคน เข้าข่ายยากจน 1.03 ล้านคน แบ่งเป็นคนจนที่มีปัญหาในมิติสุขภาพ 2.17 แสนคน มิติความเป็นอยู่ 2.44 แสนคน มิติการศึกษา 3.78 แสนคน มิติรายได้ 3.76 แสนคน และมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ 6,490 คน
โดยข้อมูลที่ปรากฎยังไม่ใช่ลักษณะเรียลไทม์ เพราะเพิ่งเริ่มต้นการพัฒนา อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะเป็นระบบเรียลไทม์แน่นอน
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผอ.เนคเทค
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการนำเสนอระบบแก่ส่วนราชการแล้ว ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำพูน มุกดาหาร และนครพนม เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของระบบฐานข้อมูล และฝึกการใช้งาน รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นแนวทางการพัฒนาระบบให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงขอความร่วมมือจากส่วนราชการร่วมดำเนินการจัดทำข้อมูลเพื่อทดสอบและนำร่องการพัฒนาระบบ ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายใต้ ต.ค. 2561
นอกจากนี้จะเปิดให้ร่วมใช้งาน ร่วมพัฒนาเชื่อมฐานข้อมูลทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้ระบบมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในวันที่ 25 ก.ย. 2561 ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทค ประจำปี 2561 NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2018 “ประเทศไทยก้าวไกล ด้วยงานวิจัยใช้ได้จริง” หัวข้อสัมมนา Big Data แก้ไขปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ .