เลขาฯมูลนิธิข้าวไทยชี้ชาวนาใกล้ล่มสลายวอนรัฐหนุนศักยภาพสู้อาเซียน
กรมการข้าวชูนวัตกรรมข้าวไทย เชิดชูกระดูกสันหลังชาติ 4-7 มิ.ย. พร้อมผลักดันกองทุนสวัสดิการชาวนา เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทยชี้คนรุ่นใหม่เมินกลิ่นโคลนสาบควายแนะรัฐเร่งหนุนวิจัยสร้างศักยภาพสู้ประชาคมอาเซียน
เร็วๆนี้ กรมการข้าว เกษตรกลางบางเขน กรุงเทพฯ เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่อรายละเอียดการจัดงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติประจำปี 2555ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 มิ.ย.55 ที่กรมการข้าวฯ โดยนายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทุกวันที่ 5 มิ.ย.ทุกปีคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.52 เห็นชอบให้เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อเชิดชูเกียรติชาวนาที่มีอยู่กว่า 16 ล้านคนในฐานะที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติในการผลิตข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย สามารถส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายแสนล้านบาท ปีนี้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนประกอบด้วย กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ กรมการค้าภายใน ธกส.ร่วมจัด โดยในปีนี้ด้รับพระมาหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานวันที่ 6 มิ.ย.55
นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กิจกรรมในงานจัดให้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ รวบรวมเครื่องมือวัสดุพระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง 2 พระองค์ที่เกี่ยวกับข้าวมาแสดง รวมทั้งตัวอย่างผลงานชาวนาดีเด่นแห่งชาติ จำลองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการผลิตข้าว 11 กลุ่มชาติพันธุ์ และแสดงหมู่บ้านต้นแบบผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและวิธีผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแก้ปัญหาเมล็ดพันธุ์ขาดแคลนจากจังหวัดชัยนาท นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสาธิตระบบปลูกข้าวแบบใหม่ ลดต้นทุนการผลิต ประกวดการแข่งขัน โชว์ชิม การรูปแปรรูปข้าว การแข่งขันการย้อนยุคในสมัยเก่า รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจ อีกทั้งยังจะมีการสัมมนาเกษตรกรดีเด่นทั่วประเทศจำนวนกว่า 200 คนโดยจะมีพิธีมอบประกาศนียบัตรและในวันที่ 5 มิ.ย.ชาวนาทั้ง 200 คนจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเสนอปัญหาและแลกเปลี่ยนหาทางออกให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"ต้องบอกว่าแรงจูงใจให้ชาวนารุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพชาวนานั้น ตนมองเรื่องคุณภาพชีวิตของชาวนาเป็นหลักปัจจุบันได้มีการผลักดันกองทุนสวัสดิการชาวนา ซึ่งเป็นกองทุนที่จะให้เงินบำนาญชาวนาหลังจากมีอายุเกิน 65 ปีหรือ เป็นสมาชิกกองทุนเกิน 15-64 ปี ก็สามารถปันผลเงินคืนได้ โดยชาวนาจะต้องส่งเงินปีละ 3%-7% ของรายได้และรัฐบาลสนับสนุนให้อีก 1.5% ของเงินรายได้ ซึ่งได้ยื่นเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้วต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป เชื่อว่ากิจกรรมปีนี้จะทำให้เกดแรงบันดาลใจและกิจกรรมดีๆสำหรับชาวนาและข้าวไทยตาม"อธิบดีกรมการข้าว กล่าว
อย่างไรก็ตาม นางขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงสภถานการณ์ข้าวและชาวนาไทยในปัจจุบันว่า อาชีพการทำนาสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีครอบครัวทำนานั้นแทบไม่มีโอกาสจะมาประกอบอาชีพชาวนา แต่หากเป็นลูกหลานของชาวนาที่จะมาดำเนินกิจการต่อจากพ่อแม่นั้นหลังจากการสำรวจความคิดเห็นในโรงเรียนชาวนาทั่วประเทศพบว่า มากกว่า 90% ไม่ประสงค์จะประกอบอาชีพทำนา ดังนั้นประเทศไทยจะประสบปัญหาจากปลูกข้าวเพื่อสู้กับต่างประเทศในการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนเนื่องจากชาวนาที่ประกอบอาชีพขณะนี้มีอายุมากแต่การศึกษาต่ำไม่สามารถรับเทคโนโลยีและเปลี่ยนแปลงระบบทำนาให้ทันโลกได้ ชาวนาต้องเพิ่มขีดความสามารถเพื่อรับการเข้าสู่เศรษฐกิจอาเซียน ในขณะนี้ประเทศเวียดนามสนับสนุนการทำวิจัยข้าวเพื่อพัฒนาผลผลิตและมีแนวโน้มว่าจะก้าวขึ้นนำประเทศไทย ส่วนประเทศไทยสนับสนุนการทำวิจัยเท่าเดิมและยังลดลงด้วย
“นอกจากชาวนาไทยจะได้รับผลกระทบจากโครงสร้างการผลิตแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการขาดน้ำ มีแมลงเพิ่มขึ้น มีปัญหาน้ำท่วมซึ่งต่อไปจะรุนแรงมากขึ้น หากถามว่าเกษตรประเทศไทยพร้อมหรือยังกับการเข้าสู่อาเซียนตอบเลยว่าไม่พร้อม อยู่ที่ว่าเรามีแผนอะไรที่จะมารองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นมีข้อเสนอคือรัฐบาลควรสนับสนุนการวิจัยข้าวให้มากขึ้น และดูแลเรื่องราคาข้าวแบบยั่งยืนเนื่องจากการจำนำข้าวเป็นการช่วยเหลือเรื่องราคาแค่ชั่วคราวและควรช่วยเหลือเรื่องเทคโนโลยีในการปลูกข้าว และศึกษาว่าชาวนาต้องการความช่วยเหลือในช่วงใดและแบบใด จึงขอให้รัฐสนับสนุนงานวิจัยด้านข้าวมากขึ้นรวมทั้งดูแลเรื่องราคาข้าว เชื่อว่าจะทำให้ชาวนาเข้มแข็งขึ้นได้” เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย
รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อมูลทางเว็บไซต์ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่นระบุวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ มีประวัติความเป็นมา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อทอดพระเนตรกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งได้ทรงหว่านข้าวในแปลงนาหลังตึกขาว ปัจจุบันคือ ตึกพืชพรรณ ของกรมวิชาการเกษตร การกำหนดให้มีวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ แยกออกจากวันพระราชพิธีพืชมงคล เนื่องจากวันพระราชพิธีพืชมงคลดังกล่าวมิได้เฉพาะเจาะจงแต่เฉพาะอาชีพการทำนาและชาวนา แต่หมายรวมถึงอาชีพการทำไร่ การทำสวน ประกอบกับการกำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลในแต่ละปี เป็นการกำหนดทางจันทรคติ ทำให้ไม่สามารถระบุเป็นวันแน่ชัดล่วงหน้าถาวรในปฏิทินได้ และไม่เหมาะสมที่จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองสำหรับชาวนาโดยทั่วไป