สัญญาโมฆะ-ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!ชนวน บ.เอวิเอฯแพ้คดีGT200 ชดใช้9ล.
“…แม้จะได้ความว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตเกี่ยวกับคุณลักษณะ และประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในไทย และเป็นผู้สั่งซื้อมาจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญากับโจทก์ จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภค ไม่รับฎีกาบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จำเลยที่ 1 ในคดีที่กรมราชองครักษ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด กับพวกเป็นจำเลยที่ 1-5 คดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด และสารเสพติด หรือ GT200 และมีคำสั่งให้ชดใช้เงินคืนรวม 9 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200)
ตามทางไต่สวนในศาลแพ่ง บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ยืนยันว่า ในช่วงปี 2547-2548 กองทัพอากาศ และกองทัพบก ได้จัดซื้อเครื่อง GT200 จากบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ผู้ผลิตที่อังกฤษหลายครั้ง ทำให้เชื่อว่าเครื่อง GT200 ใช้งานได้จริง จึงมาเป็นตัวแทนจำหน่าย และไม่มีส่วนรู้เห็นกับบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ดังกล่าว ต่อมาจึงขายให้กับกรมราชองครักษ์ จำนวน 3 เครื่อง วงเงินรวม 9 ล้านบาท โดยศาลแพ่งวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้ยังรับฟังไม่ได้ว่า บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เข้าข่ายหลอกลวงขายเครื่อง GT200 ให้กับกรมราชองครักษ์ (อ่านประกอบ : ทบ.-ทอ.ซื้อหลายครั้งเชื่อใช้ได้จริง!ข้อต่อสู้ บ.เอวิเอฯก่อนแพ้คดี GT200 ชดใช้ 9 ล., พลิกเหตุผลศาลแพ่ง! ทำไม บ.เอวิเอฯแพ้คดี แต่ไม่เข้าข่ายหลอกลวงขายเครื่อง GT200?)
อย่างไรก็ดีเงื่อนปมสำคัญที่ทำให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด แพ้คดีนี้ เกิดขึ้นจากที่ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า สัญญาจัดซื้อดังกล่าวเป็นโมฆะ และบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ต้องชดใช้เงินคืนให้แก่กรมราชองครักษ์หรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพิพากษาศาลแพ่ง เฉพาะประเด็นข้างต้นมานำเสนอ สรุปได้ ดังนี้
@เครื่องทำงานได้ไม่จริง เป็นกล่องเปล่าติดเสา สัญญาจึงเป็นโมฆะ
ได้ความจากนายทหารระดับสูง 2 นาย ให้ถ้อยคำแทนการซักถามว่า ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ศทอ.) ตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง GT200 แล้วสรุปว่า ไม่พบการแผ่สนามไฟฟ้า ไม่พบประจุไฟฟ้าสถิตสะสมบนพื้นผิว ไม่พบการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่พบการเคลื่อนที่ของเข็มชี้ทิศทาง และไม่พบการเคลื่อนที่บอกทิศทางของเครื่อง ดังนั้นเครื่อง GT200 ไม่ได้มีการทำงานโดยใช้พลังงานไฟฟ้าสถิตจากตัวคน ไม่ได้มีวิธีการค้นหาในลักษณะสนามแม่เหล็กแบบไดอะและพารา ตามคุณลักษณะเฉพาะของเครื่อง และไม่มีปฏิกิริยาใดเกิดขึ้นเมื่อนำสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิดมาทดสอบตามรายงานผลดังกล่าว
อีกทั้งจากการผ่าเครื่อง GT200 ไม่พบอุปกรณ์ภายใน ตัวเครื่องเป็นกล่องพลาสติกเปล่าติดเสาอากาศ การ์ดตรวจสสารก็เป็นเพียงแผ่นพลาสติกธรรมดา ตัวเครื่องและอุปกรณ์ดังกล่าวมิได้มีแผงวงจรหรือกลไกการทำงานอย่างใด ๆ ไม่มีคุณสมบัติ คุณลักษณะ ประสิทธิภาพตามที่จำเลยทั้ง 5 เสนอขาย จำเลยทั้ง 5 ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เครื่อง GT200 พิพาท ไม่ได้เป็นเครื่องตรวจหาสสารระยะไกล ตรวจจับอาวุธ วัตถุระเบิด และยาเสพติดดังที่มีการโฆษณาเสนอขาย ดังนั้นการที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อเครื่อง GT200 พิพาทจากจำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์พิพาท ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม สัญญาจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่
@บ.เอวิเอฯ ยังอ้าง ทบ.-ทอ.จัดซื้อตั้งแต่ปี’48 เชื่อโดยสุจริตว่า เครื่องใช้ได้
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2550 โจทก์ (กรมราชองครักษ์) ในฐานะผู้ซื้อ กับจำเลย (บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด) ในฐานะผู้ขาย ตกลงทำสัญญาซื้อขายเครื่อง GT200 จำนวน 3 ครั้ง วงเงินรวม 9 ล้านบาท และโจทก์ชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนตามสัญญา
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 (บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด) ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ในประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1 สั่งซื้อเครื่อง GT200 แล้วนำมาจำหน่ายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอราคาแก่โจทก์ กระทั่งโจทก์ตกลงซื้อจากจำเลยที่ 1 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีการติดต่อซื้อขายกับบริษัท โกลบอล เทคนิคอล โดยตรง จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ชี้ช่องให้มีการซื้อขายเช่นนี้ กรณีนี้จึงถือว่า โจทก์ และจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้ซื้อและผู้ขาย
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์รู้จักผลิตภัณฑ์เครื่อง GT200 ที่มีใช้ในหน่วยงานราชการกองทัพอากาศตั้งแต่ปี 2548 โดยกองทัพอากาศซื้อเครื่อง GT200 โดยตรงกับบริษัทผู้ผลิต และกองทัพอากาศจัดซื้อเครื่อง GT200 ดังกล่าวหลายครั้งนานต่อเนื่องนับปี และกองทัพบกก็ซื้อเครื่อง GT200 จากบริษัทผู้ผลิตโดยตรงเช่นกัน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่า เครื่อง GT200 มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน
จำเลยที่ 1 ยอมรับเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่อง GT200 ของบริษัทผู้ผลิต และจำเลยที่ 1 ซื้อเครื่อง GT200 มาจำหน่ายหรือเป็นตัวแทนจำหน่ายเป็นการกระทำโดยสุจริต โจทก์ติดต่อแจ้งความประสงค์มายังจำเลยที่ 1 ว่า ต้องการซื้อเครื่องตรวจหาสสารระยะไกล โดยระบุชื่อเรียกขาน และคุณสมบัติใช้งาน ไม่ได้เกิดจากจำเลยชวนเสนอให้ซื้อ และในการติดต่อซื้อทุกครั้ง โจทก์เป็นผู้มีหนังสือเชิญชวนมายังจำเลยที่ 1 โดยเป็นเพียงตัวแทนจำหน่าย ไม่ได้บริการซ่อมแซม ในการฝึกอบรมและสาธิตต่าง ๆ จำเลยที่ 1 ประสานให้คณะครูฝึก และตัวแทนของบริษัทผู้ผลิต ตลอดจนประสานให้ช่างของบริษัทผู้ผลิต ซ่อมแซมเครื่อง GT200 ดังกล่าว และการที่โจทก์ซื้อเพิ่ม ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจโดสุจริตว่า เครื่อง GT200 ดังกล่าว มีคุณสมบัติและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเลยที่ 1 จึงสั่งซื้อมาขายแก่โจทก์อีก จึงไม่ผิดสัญญา
@ข้อต่อสู้ บ.เอวิเอฯ ฟังไม่ขึ้น เหตุเป็นตัวแทนจำหน่าย-ผู้ทำสัญญา
ศาลเห็นว่า แม้จะได้ความว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตเกี่ยวกับคุณลักษณะ และประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในไทย และเป็นผู้สั่งซื้อมาจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญากับโจทก์ จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
เมื่อศาลวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ เนื่องจากโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแหงนิติกรรม จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญารับเงินไว้ โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงต้องรับผิดคืนทรัพย์สินในฐานะลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจาก นายทหารรายหนึ่งให้ถ้อยคำแทนการซักถามว่า โจทก์บอกเลิกสัญญา และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินภายใน 7 วัน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2557 ตามหนังสือสัญญาบอกเลิก จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินภายใน 25 เม.ย. 2557 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เพิกเฉย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินจำนวน 9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราผิดนัดนับตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2557 จนกว่าจะชำระเสร็จ
@พิพากษาให้ บ.เอวิเอฯ ชดใช้เงิน 9 ล้านพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้น ให้จำเลยที่ 1 นำมาชำระในนามของโจทก์ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ส่วนจำเลยที่ 2-5 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากไม่ได้กระทำการในนามส่วนตัว แต่กระทำการในนามตัวแทนของจำเลยที่ 12 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
หมายเหตุ : ภาพประกอบเครื่อง GT200 จาก nation