เช็คท่าที 'ออมสิน-ผู้รับเหมา' ปมร้อนเลิกจ้างปรับปรุงสนง.ใหญ่ 68ล. ใครผิด-ใครถูก?
“...ฝ่ายก่อสร้างของธนาคารออมสินมีการพิจารณาประเมินแล้วว่า ผู้รับจ้างไม่มีศักยภาพในการดำเนินการโครงการดังกล่าว เนื่องจากดำเนินการระยะเวลามานานกว่า 3 ปี ยังไม่แล้วเสร็จ และระยะเวลาที่ล่วงเลยเกินกว่าค่าปรับตามสัญญา ซึ่งธนาคารสามารถทำการยกเลิกได้ หากมีค่าปรับเกินกว่า 10% และปัจจุบันก็เกิน 10% แล้ว ดังนั้นจากที่ได้ประเมินแล้วทางธนาคารจำต้องบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้...”
เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สาธารณชนกำลังจับตามอง ต่อกรณี พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เพื่อให้คู่สัญญาคือ ธนาคารออมสิน ในฐานะผู้ว่าจ้าง และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท ซิวิล ในฐานะผู้รับจ้าง ตกลงกันปรับลดเงินค่าจ้างงวดที่ 2 ทั้งเสนอให้ธนาคารออมสินส่งมอบพื้นที่ทำงานให้ครบถ้วนเพื่อให้ผู้รับจ้างทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยให้เหตุผลว่าปัญหาเกิดขึ้นจากการทำงานของทั้ง 2 ฝ่าย (อ่านประกอบ : บกพร่องทั้ง2ออมสิน-เอกชน! ผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้งผลวินิจฉัยงานปรับปรุงสนง.ใหญ่ 68 ล.)
ขณะที่ในช่วงสายวันที่ 18 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน กรณีคนงานและผู้ประกอบการรับเหมาเอกชนว่า ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญา การว่าจ้างปรับปรุงพื้นที่พร้อมจัดซื้อครุภัณฑ์อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารออมสิน กทม. มูลค่า 68 ล้านบาท ดังกล่าวแล้ว (อ่านประกอบ : ร้อง ป.ป.ช.สอบแบงก์ออมสินปรับปรุง สนง.ใหญ่ 68 ล.ส่อไม่เป็นไปตามสัญญา)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า นางสาวสุทธินี ชุณหวรชัย ผู้จัดการ หจก. ท ซิวิล ได้ทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งยกเลิกสัญญา ลงวันที่ 18 ก.ย. 2561 ถึงประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง โครงการ เพื่อให้ธนาคารออมสินชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญา และคืนค่าปรับทั้งหมด
สาระสำคัญระบุดังนี้
หจก. ขอชี้แจงต่อคำสั่งดังกล่าวและขออุทธรณ์คำสั่งยกเลิกสัญญา ดังเหตุผลต่อไปนี้
1.ประเด็นการทำงานล่าช้าเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา หจก. ของอุทธรณ์ว่า หจก. ได้มีหนังสือขอให้ธนาคารออมสิน ส่งมอบพื้นที่ในการทำงานหลายฉบับ เนื่องจากพื้นที่ที่ธนาคารจะต้องส่งมอบนั้น ยังคงมีพนักงานของธนาคารทำงานอยู่ในอาคารเป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ซึ่งตามหนังสือเลขที่ กพ. 01-87/2558 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2558 ธนาคารมีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบพื้นที่ในการทำงานให้กับ หจก. ทั้งหมด การส่งมอบพื้นที่ไม่ครบถ้วนทำห้ หจก. ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะการเจาะพื้น ทาสี หรืออื่นๆ จะได้รับแจ้งจากพนักงานของธนาคารว่ามีเสียงดัง สั่นสะเทือน และกลิ่นเหม็น ของให้ หจก. หยุดการทำงานช่วงระยะเวลาที่มีพนักงานของธนาคารทำงานอยู่ เป็นเหตุให้ หจก. ต้องหยุดการทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว โดยต้องทำงานในวันหยุด ซึ่งมีระยะเวลาในการทำงานน้อยลงมาก เป็นพฤติการณ์หนึ่งที่ หจก. ไม่ต้องับผิดตามกฎหมาย ในประเด็นนี้ หจก. ได้ร้องเรียนไปยัง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิฉัยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานรับเหมางานปรับปรุงพื้นที่พร้อมจัดซื้อครุภัณฑ์ อาคาร 10 ชั้น 1-11 ปรากฏว่า ยังคงมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสินปฏิบัติงานอยู่อาคารดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของผู้รับจ้าง และเป็นสาเหตุที่ทำให้งานต้องล่าช้า เพราะธนาคารยังไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ชั้น 2-7 เป็นเหตุให้ผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าทำงานพื้นที่ดังกล่าวได้ เป็นพฤติการณ์หนึ่งที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย และผู้ตรวจการได้เสนอแนะให้ธนาคารออมสินส่งมอบพื้นที่การทำงานให้ครบถ้วนทั้งอาคาร เพื่อให้ผู้รับจ้างทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังได้ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบแปลนและรายการครุภัณฑ์หลายรายการ โดยระยะเวลาในการสรุปรายการที่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขนานเกินสสมควร และไม่ทำการแจ้งให้ หจก. ทราบภายในระยะเวลาอันสมควร ซึ่งสุดท้ายแล้ว ธนาคารกลับแจ้งว่าให้ยึดตามแบบแปลนและรายการครุภัณฑ์เดิม เป็นพฤติการณ์หนึ่งที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย
2.ประเด็นค่าปรับ ค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หจก. ขออุทธรณ์ว่า การที่ธนาคารไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ครบถ้วนตามสัญญา ธนาคารมีหน้าที่ที่จะต้องขยายระยะเวลาในการทำงานให้กับ หจก. ให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่ หจก. ต้องเสียไปทั้งในส่วนของอุปสรรคที่ต้องทำงานในวันหยุด ทั้งในส่วนของการที่จะต้องรอระยะเวลาในการแก้ไขแบบแปลนจากทางธนาคาร รวมถึงระยะเวลาในการรออนุมัติวัสดุที่ธนาคารจะขอแก้ไข ซึ่งระยะเวลาเหล่านี้เป็นระยะเวลาที่เสียไป โดยไม่ใช่ความผิดของ หจก. แต่เป็นการกระทำที่เกิดจาดธนาคารออมสิน
3.ประเด็นการริบหลักประกัน หจก. ขออุทธรณ์ว่า ธนาคารออมสินได้มีหนังสือ ที่ พค.บ. 6213/2561 ลงวันที่ 10 ส.ค. 2561 และหนังสือ ที่ พค.บ. 6671/2561 ลงวันที่ 29 ส.ค. 2561 แจ้งแก่ หจก. ว่า จะหักเงินงวดที่ 2 เพื่อใช้เป็นค่าปรับ แต่ทางธนาคารออมสินกลับมีหนังสือ ที่ พค.บ. 6898/2561 ลงวันที่ 5 ก.ย. 2561 ถึงธนาคารกรุงไทย เพื่อแจ้งยึดหลักทรัพย์ของ หจก. ซึ่งเป็นการปรับซ้ำซ้อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะธนาคารต้องปรับจากเงินงวดที่ 2 ตามที่หนังสือแจ้งไว้ ธนาคารไม่มีสิทธิ์บังคับเอากับหลักประกันซึ่ง หจก. ได้วางไว้
4.ประเด็นค่าเสียหายอันเกิดขึ้นจากการที่ธนาคารได้จ้าบุคคลภายนอกเข้าปฏิบัติงาน หจก. ขออุทธรณ์ว่า การที่ธนาคารได้นำบุคคลภายนอกเข้าปฏิบัติงาน โดยที่ หจก. ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ธนาคารเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะส่งมอบพื้นที่ไม่ครบถ้วน การที่ธนาคารแจ้งยกเลิกสัญญา จึงเป็นการเลิกสัญญา โดยไม่ใช่ความผิดของ หจก. แต่ธนาคารซึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาในเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ กลับเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาเอง ย่อมถือได้ว่า ธนาคารเป็นฝ่ายผิดสัญญาและใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ ดังนั้น ค่าเสียหายอันเกิดจากที่ธนาคารได้จ้างบุคคลภายนอกเข้าปฏิบัติแทน หจก. ธนาคารต้องเป็นผู้ชำระเอง และไม่มีสิทธิ์นำค่าเสียหายดังกล่าวมาเรียกให้ หจก. ชำระแทนได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หจก. ขออุทธรณ์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นธรรม และผิดสัญญาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาธนาคารออมสิน ซึ่งธนาคารออมสินไม่มีสิทธิ์โดยชอบด้วยข้อสัญญาในการที่จะบอกเลิกสัญญา หจก. ย่อมมีสิทธิ์เรียกร้องเอาจากธนาคารรออมสินในฐานะผู้ผิดสัญญาได้ และธนาคารออมสินจะต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญา และคืนค่าปรับทั้งหมด
ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวนการธนาคารออมสิน เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงสาเหตุของการยกเลิกสัญญาโครงการดังกล่าว ว่า ฝ่ายก่อสร้างของธนาคารออมสินมีการพิจารณาประเมินแล้วว่า ผู้รับจ้างไม่มีศักยภาพในการดำเนินการโครงการดังกล่าว เนื่องจากดำเนินการระยะเวลามานานกว่า 3 ปี ยังไม่แล้วเสร็จ และระยะเวลาที่ล่วงเลยเกินกว่าค่าปรับตามสัญญา ซึ่งธนาคารสามารถทำการยกเลิกได้ หากมีค่าปรับเกินกว่า 10% และปัจจุบันก็เกิน 10% แล้ว ดังนั้นจากที่ได้ประเมินแล้วทางธนาคารจำต้องบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้
“ในส่วนที่ผู้รับจ้างอ้างว่า ธนาคารไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้นั้น ไม่เป็นความจริง ทางธนาคารมีการส่งมอบพื้นที่ทำงานให้ ซึ่งการส่งมอบพื้นที่นั้น เป็นการส่งมอบพื้นที่เป็นช่วงเวลา การที่จะให้ย้ายคนออกทั้งอาคารครั้งเดียวนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้รับจ้างทำการปรับปรุงทีละชั้น ธนาคารก็ส่งมอบพื้นที่ทีละชั้น ไม่จำเป็นต้องส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดในคราวเดียว แต่กระนั้นในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ผู้รับจ้างก็ทำการปรับปรุงได้แล้วเสร็จเพียง” นายชาติชายกล่าว
นายชาติชาย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ทางธนาคาร รับมอบงาน ซึ่งธนาคารก็รับมอบงานตามที่ผู้รับจ้างส่งมาแต่ส่วนที่ยังไม่ส่งก็ไม่สามารถรับมอบได้ และส่วนที่ผิดไปจากแบบนั้น ทางผู้ตรวจการแผ่นดินแนะนำให้เจรจาว่า ส่วนที่ผิดแบบจะรับมอบได้หรือไม่ แต่ตามกฎหมายแล้ว ผู้ที่รับมอบงานที่ผิดแบบก็จะมีความผิดได้ ในที่ประชุมจึงวินิจฉัยและเห็นว่า ให้รับงานตามที่ผู้รับจ้างส่งมา ตามความเห็นผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่การว่าจ้างสัญญาต่อหรือไม่ให้อยู่ในดุลยพินิจของธนาคารออมสิน
นายชาติชาย กล่าวถึงการอุทธรณ์ของผู้รับจ้างดังกล่าวว่า เมื่อผู้รับจ้างเห็นว่าเสียผลประโยชน์ ก็สามารถทำการร้องเรียนหรืออุทธรณ์ได้ เป็นขั้นตอนปกติ ทั้งนี้ ธนาคารออมสินพร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จในทุกประเด็น
ขณะที่สำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยัง นางรำไพ บุญลาภ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานบริหารงานกลาง กลุ่มปฏิบัติการ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้
เบื้องต้นได้รับคำชี้แจงว่า ในกรณีดังกล่าวนั้น ทางธนาคารจะขอชี้แจงและตอบประเด็นข้อสงสัยเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมาที่สำนักข่าวอิศราอีกครั้ง
ทั้งหมดนี่ คือ ความเคลื่อนไหวและท่าทีล่าสุด ทั้งฝ่ายธนาคารออมสิน และผู้รับเหมา ที่บ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาเรื่องนี้ อาจจะไม่ได้ยุติจบลงด้วย 'ทางออก' ตามผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนหน้านี้แน่นอน
อ่านประกอบ :
บกพร่องทั้ง2ออมสิน-เอกชน! ผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้งผลวินิจฉัยงานปรับปรุงสนง.ใหญ่ 68 ล.
ร้อง ป.ป.ช.สอบแบงก์ออมสินปรับปรุง สนง.ใหญ่ 68 ล.ส่อไม่เป็นไปตามสัญญา