เมื่อกฤษฎีกาชี้ขาดกรมอุทยานฯ ใช้เงินรายได้ ช่วยจนท. สู้คดียิงชาวบ้านเสียชีวิตไม่ได้
"...สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งหน่วยงานในสังกัดเพื่อขอความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกฟ้องคดีสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายจ้างทนายความแก้ต่างคดี จำนวน 200,000 บาท แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีตำแหน่งเป็นพนักงานราชการซึ่งมีรายได้น้อย การที่ศาลประทับรับฟ้องในคดีอาญาทำให้เจ้าหน้าที่นั้นไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรับการพิจารณาเลื่อนค่าตอบแทนประจำปี ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก..."
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่สามารถนำเงินรายได้ มาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้ายซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม และได้มีการปะทะกันระหว่างราษฎรกับเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีราษฎรเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บสาหัส 5 คน ได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินรายได้ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ และข้อ 14 (8) แห่งระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติฯ
คือ ข้อสรุปเกี่ยวกับความเห็นทางกฎหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เผยแพร่ออกมาล่าสุด ต่อกรณี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือ ที่ ทส 0903.4/13480 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ขอให้สำนักงานอัยการจังหวัดลำปางแก้ต่างคดีในคดีหมายเลขดำที่ 336/2555 ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกฟ้องคดี สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 คณะเจ้าหน้าที่ประจำอุทยานแห่งชาติแม่ยมร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารกองพันทหารม้าที่ 12 (ค่ายพระยาไชยบูรณ์) ได้ออกตรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้ายซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยมและได้มีการปะทะกันระหว่างราษฎรกับเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีราษฎรเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บสาหัส 5 คน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย เป็นเงินจำนวน 1,883,195 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว
โดยต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผลการสอบสวนปรากฏว่า การเสียชีวิตและการบาดเจ็บของราษฎรนั้นไม่ได้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติแม่ยม ดังนั้น เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งคดีนี้ศาลจังหวัดลำปางได้จำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอผลในคดีอาญา
ส่วนกรณีคดีอาญา พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวม 11 คน ต่อศาลจังหวัดลำปาง ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.1254/2559 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น และเนื่องจากคดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดลำปางเป็นโจทก์ฟ้องคดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงไม่สามารถขอให้พนักงานอัยการแก้ต่างคดีให้กับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้ ตามข้อ 215 แห่งระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ที่กำหนดว่า คดีอาญาใดที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือราษฎรในคดีนั้นแล้ว ห้ามมิให้พนักงานอัยการไม่ว่าจะเป็นคนเดียวกับผู้สั่งฟ้องหรือไม่ก็ตาม รับแก้ต่างคดีอาญาให้กับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือราษฎรนั้น อีกทั้งกรณีนี้ก็ไม่สามารถออกหนังสือรับรองเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกฟ้องคดีอาญาได้ เนื่องจากข้อ 4 ประกอบกับข้อ 5 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา พ.ศ. 2528 กำหนดให้ผู้มีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการจะต้องเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาหรือถูกฟ้องคดีอาญาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้แก่ส่วนราชการเจ้าสังกัด และหัวหน้าส่วนราชการเจ้าสังกัดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำที่ถูกกล่าวหาหรือถูกฟ้องคดีนั้นเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการและทางราชการมิได้เป็นผู้กล่าวหาหรือฟ้องคดีนั้นเอง โดยให้ได้รับความช่วยเหลือทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล แต่สำหรับการได้รับความช่วยเหลือในชั้นศาลให้ได้รับความช่วยเหลือเฉพาะคดีที่มิใช่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น
ต่อมาสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งหน่วยงานในสังกัดเพื่อขอความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกฟ้องคดีสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายจ้างทนายความแก้ต่างคดี จำนวน 200,000 บาท แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีตำแหน่งเป็นพนักงานราชการซึ่งมีรายได้น้อย การที่ศาลประทับรับฟ้องในคดีอาญาทำให้เจ้าหน้าที่นั้นไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรับการพิจารณาเลื่อนค่าตอบแทนประจำปี ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเรื่องนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประชุมหารือแนวทางช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ว่าจะสามารถนำเงินรายได้ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ โดยที่ประชุมมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายที่หนึ่ง เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ถูกดำเนินคดีอาญาสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้ายซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม ถือเป็นการดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ จึงสามารถนำเงินรายได้ ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาใช้จ่ายเป็นค่าทนายความและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในกรณีนี้ได้
ฝ่ายที่สอง เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ถูกดำเนินคดีอาญาสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้ายซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติไม่ใช่เป็นการป้องกันรักษาอุทยานแห่งชาติ จึงไม่อยู่ในความหมายของการบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ กรณีจึงไม่สามารถนำเงินรายได้อุทยานแห่งชาติตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาใช้จ่ายเป็นค่าทนายความและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในกรณีนี้ได้
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันไม่อาจพิจารณาให้เป็นที่ยุติได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อยุติและเป็นแนวทางในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกฟ้องคดีอาญาสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
1. กรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะสามารถนำเงินรายได้ในการบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร
2. หากสามารถนำเงินรายได้ในการบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติมาเป็นค่าใช้จ่ายตาม 1. ได้ หากต่อมาศาลพิพากษาว่า เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นผู้กระทำความผิด เงินบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติที่ได้จ่ายไปแล้วจะดำเนินการอย่างไร
3. กรณีที่เจ้าหน้าที่ได้เสียค่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกี่ยวกับการดำเนินคดี หากต่อมาศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถนำเงินรายได้ในการบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติมาชดใช้ให้แก่เจ้าหน้าที่ได้หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) และผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นการสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้าย ซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม นั้น ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตรวจยึดและจัดทำบัญชีของกลางที่ทำการยึดได้ในที่เกิดเหตุได้มีราษฎรกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมตัวกันเพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ทหารคืนของกลางที่ยึดไว้จึงเกิดการปะทะกัน โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้อาวุธปืนในการป้องกันตัวจนเป็นเหตุให้ราษฎรเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บสาหัส 5 คน
ราษฎรผู้เสียหายจึงได้แจ้งความดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวซึ่งพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ทหารในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น โดยเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุเนื่องจากราษฎรมีเพียงมีดและไม้ที่ใช้ในการป้องกันตัวเท่านั้น
พนักงานอัยการพิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นพ้องกับพนักงานสอบสวน จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ทหาร ต่อศาลจังหวัดลำปางตามข้อหาดังกล่าว ศาลจังหวัดลำปางพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่มีความผิดตามฟ้องเนื่องจากเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จึงพิพากษาให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และคดีนี้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็จะได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อไป
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกอบกับข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว มีความเห็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถนำเงินรายได้ในการบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาเป็นค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 23วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 บัญญัติให้เงินค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าตอบแทน ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เก็บได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากร และเก็บรักษาไว้ใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันการเก็บรักษาและการใช้จ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 โดยเมื่อพิจารณาข้อ 14 ที่กำหนดให้เงินรายได้ให้นำไปจ่ายได้เฉพาะเพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติตามกรณีที่กำหนดไว้
แต่หากจะนำไปใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาตินอกเหนือไปจากกรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 14 ย่อมเป็นอำนาจของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายที่จะเป็นผู้อนุมัติได้ตาม ข้อ 15 ประกอบกับบทนิยามคำว่า “บำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ” ตามข้อ 4 ที่หมายความว่า การดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองดูแลรักษาและพัฒนาอุทยานแห่งชาติ หรือเพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ หรือเพื่ออำนวยความสะดวก ในการทัศนาจรหรือการพักอาศัย หรือเพื่ออำนวยความปลอดภัย หรือให้ความรู้แก่ประชาชน แล้ว จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินรายได้ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ ต้องเป็นการใช้จ่ายสำหรับกรณีที่ปรากฏในข้อ 14 และข้อ 15 แห่งระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติฯ และการใช้จ่ายเงินนั้นต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครอง ดูแลรักษา หรือพัฒนาในเขตพื้นที่ที่ได้มีการประกาศกำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 6แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ แล้วเท่านั้น
สำหรับการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประสงค์จะนำเงินรายได้ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ มาเป็นค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้ายซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติตามที่ขอหารือนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวยังมิได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และแม้มาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาโอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงอำนาจหน้าที่และกิจการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพ.ศ. 2546 จะกำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ และกฎหมายว่าด้วยสวนป่า ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารและเขตพื้นที่ป่าที่เตรียมการจัดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติก็ตามแต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดภาระหน้าที่ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเท่านั้น โดยมิได้มีผลทำให้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้าย เป็นอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ แต่อย่างใด
การปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่นี้จึงมิใช่การดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับการนำเงินรายได้ไปใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติในกรณีสนับสนุนการปฏิบัติงาน และช่วยเหลือเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 14 (8) แห่งระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 นั้น ย่อมจะต้องเป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อันเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อกรณีปรากฏข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงของผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่า คดีอาญาที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีนั้น ทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเห็นว่ากระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จึงเห็นควรสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น และศาลจังหวัดลำปางได้มีคำพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่มีความผิดตามฟ้อง เนื่องจากเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ในชั้นนี้ กรณีจึงยังไม่อาจถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น การที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะนำเงินรายได้ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ในกรณีตามข้อหารือนี้ จึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินรายได้ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ และข้อ 14 (8) แห่งระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติฯ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี แม้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะถูกพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา จึงมีผลทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือตามข้อ 5 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์กลางสำหรับการให้ความช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการ แต่หากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้วเห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ก็อาจพิจารณาดำเนินการตามข้อ 10 แห่งระเบียบเดียวกันนี้ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะส่วนราชการเจ้าสังกัด สามารถขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นการเฉพาะเพื่อปฏิบัติการนอกเหนือไปจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้
ส่วนประเด็นที่สองและประเด็นที่สาม เมื่อได้พิจารณาแล้วว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่สามารถนำเงินรายได้ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2504 มาเป็นค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้าย ซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติได้ กรณีจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาข้อหารือทั้งสองประเด็นนี้อีก
ทั้งหมดนี่ คือ ความเห็นทางกฎหมายของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่แจ้งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับทราบเป็นทางการไปแล้ว