พลิกเหตุผลศาลแพ่ง! ทำไม บ.เอวิเอฯแพ้คดี แต่ไม่เข้าข่ายหลอกลวงขายเครื่อง GT200?
“…เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้ง 5 รู้เห็นกับบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ลำพังเพียงการยื่นใบเสนอราคาพร้อมแผ่นพับโฆษณาเครื่อง GT200 โดยที่เอกสารดังกล่าวก็ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล และจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้แปลเอกสารเท่านั้น จำเลยทั้ง 5 ไม่ได้เป็นผู้จัดทำ หรือเกี่ยวข้องในการจัดทำเอกสารดังกล่าว จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง 5 หลอกลวงโจทก์ให้หลงเชื่อในคุณภาพ และคุณสมบัติของสินค้าพิพาท…”
หลายคนอาจทราบกันไปแล้วว่า คดีที่กรมราชองครักษ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแพ่งบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด กับพวกเป็นจำเลยที่ 1-5 โดยศาลแพ่ง ได้พิพากษาให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (จำเลยที่ 1) ชดใช้เงินคืนแก่กรมราชองครักษ์ 9 ล้านบาท จากการซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด และหาสารเสพติด หรือเครื่อง GT200 ต่อมาบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ได้ยื่นฎีกาเรื่องขาดอายุความ และไม่ทราบว่าเครื่อง GT200 มีคุณสมบัติไม่ตรงตามสัญญา อย่างไรก็ดีศาลฎีกาไม่รับฎีกาของบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (อ่านประกอบ : ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200)
แต่หากย้อนกลับไปดูคำพิพากษาศาลแพ่ง ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2559 พบว่า กรมราชองครักษ์ได้ติดต่อขอซื้อเครื่อง GT200 จากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด 3 ครั้ง วงเงินรวม 9 ล้านบาท ต่อมาพบว่า เครื่อง GT200 ดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริง จึงฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหาย
อย่างไรก็ดีข้อต่อสู้สำคัญของบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ระบุว่า กองทัพอากาศ และกองทัพบกได้จัดซื้อเครื่อง GT200 จากบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ที่เป็นบริษัทแม่ผู้ผลิตเครื่อง GT200 จากประเทศอังกฤษหลายครั้ง บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จึงเชื่อว่าเครื่องดังกล่าวใช้ได้จริง จึงเป็นผู้จำหน่ายหรือตัวแทนจำหน่ายเครื่องดังกล่าวในไทย และไม่เคยโฆษณาประชาสัมพันธ์การขายเครื่องดังกล่าว แต่ฝ่ายโจทก์ (กรมราชองครักษ์) เป็นผู้ติดต่อซื้อเอง และยังซื้อเพิ่มอีกรวม 3 ครั้ง จึงเชื่อโดยสุจริตว่าเครื่อง GT200 ดังกล่าวใช้ได้จริงนั้น (อ่านประกอบ : ทบ.-ทอ.ซื้อหลายครั้งเชื่อใช้ได้จริง!ข้อต่อสู้ บ.เอวิเอฯก่อนแพ้คดี GT200 ชดใช้ 9 ล. )
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบคำพิพากษาศาลแพ่งเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2559 พบว่า ศาลได้ตั้งประเด็นวินิจฉัยสำคัญเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่อง GT200 ดังกล่าว คือ ประเด็นจำเลยทั้ง 5 ได้หลอกลวงโจทก์ให้หลงเชื่อในคุณภาพและคุณสมบัติของสินค้าพิพาทจนเป็นเหตุให้โจทก์เข้าทำสัญญาหรือไม่ สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
@กรมราชองครักษ์เป็นคนติดต่อ บ.เอวิเอฯ ขอซื้อเครื่อง GT200 3 ครั้งด้วยวิธีพิเศษ 9 ล.
กรณีนี้ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ได้ความจาก พ.อ.คชาวุธ ฟุ้งลัดดา และ พล.ท.ธนรัชฎ์ หิรัญบูรณะ ให้ถ้อยคำแทนการซักถามว่า โจทก์ประสงค์จะจัดหาเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดเพื่อใช้ในการถวายความปลอดภัยฯ โจทก์จึงหาข้อมูลโดยสอบถามไปยังจำเลยที่ 1 (บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด) โดยจำเลยที่ 4 (ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด) มีเจตนาที่จะหลอกลวงโจทก์ให้หลงเชื่อในคุณภาพและคุณสมบัติของเครื่อง GT200 ว่า มีประสิทธิภาพในการตรวจจับอาวุธ วัตถุระเบิด ยาเสพติด และสสารอื่น ๆ จึงได้ส่งใบเสนอราคาเครื่อง GT200 แต่ในการจัดซื้อโจทก์พิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายโดยออกหนังสือเชิญชวนไปยังบริษัทต่าง ๆ ให้มาเสนอราคา โดยจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2-3 (กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท เอวิเอ แซทคอมจำกัด) มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 (เจ้าหน้าที่บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด) เป็นผู้ยื่นใบเสนอราคา พร้อมเอกสารโฆษณา และเอกสารแสดงรายละเอียดคุณลักษณะของเครื่อง GT200 จำเลยที่ 1 กับพวกกล่าวอ้างถึงคุณลักษณะ และประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 แสดงรายละเอียด เงื่อนไข และคุณลักษณะเฉพาะของเครื่อง GT200 และเอกสารโฆษณาที่จำเลยที่ 1 เสนอขาย
ต่อมาคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษของโจทก์ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ตรวจสอบราคา เงื่อนไข และคุณลักษณะของเครื่อง GT200 ที่จำเลยที่ 1 เสนอมาแล้ว หลงเชื่อว่าเครื่อง GT200 ของจำเลยที่ 1 มีคุณภาพ และคุณสมบัติตรงตามใบเสนอราคา แบบเอกสารโฆษณา และเอกสารแสดงรายละเอียด เงื่อนไข คุณลักษณะเฉพาะตามที่จำเลยที่ 1 เสนอขาย ซึ่งตรงกับเงื่อนไขตามที่ราชการกำหนด และตรงกับความต้องการของโจทก์ คณะกรรมการจัดซื้อวิธีพิเศษจึงมีความเห็นควรให้โจทก์จัดซื้อเครื่อง GT 200 ดังนั้นการที่จำเลยทั้ง 5 ร่วมกันทำการเสนอขาย โดยหลอกหลวงโจทก์เกี่ยวกับคุณภาพและคุณสมบัติของเครื่อง GT200 อันเป็นเท็จดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อตามที่จำเลยทั้ง 5 กล่าวอ้าง ในการเสนอขาย รวม 3 ครั้ง วงเงิน 9 ล้านบาท
@บ.เอวิเอฯอ้าง โจทก์ย่อมรู้คุณสมบัติเครื่อง GT200 อยู่แล้ว เหตุ ทอ.-ทบ.เคยซื้อ
ทนายจำเลยทั้ง 5 ถามค้านว่า โจทก์ทราบว่า กองทัพอากาศใช้เครื่อง GT200 ซึ่งเครื่องดังกล่าวมีขนาดเล็ก กะทัดรัดเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ จึงมีการทำเรื่องขอรับสนับสนุนชุดตรวจหาวัตถุระเบิดและตรวจหาสารพิษจากกองทัพอากาศ และของบประมาณเพื่อดำเนินการจัดซื้อ โดยโจทก์ติดต่อขอข้อมูลและให้จำเลยที่ 1 เสนอราคา
พล.อ.ต.กัณฐ์ธวัตน์ หรือกัณฐัศว์ วรสวาสดิ์ ตอบทนายจำเลยทั้ง 5 ที่ถามค้านว่า โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 ให้เสนอราคาและคุณสมบัติของเครื่อง GT200 ตรงตามที่โจทก์ต้องการ จำเลยที่ 1 จึงทำใบเสนอราคาและคุณสมบัติเครื่อง GT200 ตรงตามที่โจทก์ต้องการ จำเลยที่ 1 จึงทำใบเสนอราคาและเอกสารที่เกี่ยวข้อง จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเครื่อง GT200 จากผู้ผลิตประเทศอังกฤษเข้ามาจำหน่าย
เจือสมคำพยาน ร.อ.ท.ขจรศักดิ์ วัฒนางกูร นางศศกร ปลื้มใจ และ น.ส.พันธทวีทรัพย์ สุดยาใจ พยานจำเลยทั้ง 5 ว่าโจทก์เชิญชวนให้จำเลยที่ 1 เสนอราคาโดยกำหนดชนิด ประเภท ผู้ผลิต และแหล่งกำเนิดสินค้าเครื่อง GT200 ของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ประเทศอังกฤษ และแนบแผนพับรูปสินค้ามาด้วย
ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การซื้อขายเครื่อง GT200 อันเป็นข้อพิพาทนี้ โจทก์เองย่อมรับทราบถึงคุณลักษณะ และประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 โจทก์จึงขอรับการสนับสนุนชุดตรวจหาวัตถุระเบิดและตรวจหาสารพิษจากกองทัพอากาศ และดำเนินการของบประมาณเพื่อจัดซื้อนำมาปฏิบัติงานในหน่วยงาน
สอดคล้องกับรายการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติดของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า กองทัพอากาศนำเครื่อง GT200 มาใช้งานตั้งแต่ปี 2547 ผลการใช้งานสามารถตรวจพบสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด ปรากฏผลสำเร็จหลายครั้ง โจทก์จึงเชิญชวนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดชนิด ประเภท ผู้ผลิต และแหล่งกำเนิดสินค้าเครื่อง GT200 ของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ประเทศอังกฤษ
@ทบ.-ทอ.เคยซื้อตั้งแต่ปี’47 เชื่อใช้งานได้จริง เลยมาเป็นตัวแทนจำหน่าย
ทั้งได้ความจาก ร.อ.ท.ขจรศักดิ์ นางศศกร และ น.ส.พันธวีทรัพย์ เบิกความต่อว่า เมื่อเดือน พ.ค. 2550 กองทัพบกมีหนังสือเชิญชวนมายังจำเลยที่ 1 ให้เสนอราคาเครื่อง GT200 โดยแนบระเบียบการเสนอราคาและกำหนดให้ส่งแผ่นผับโฆษณา เงื่อนไขในการทำสัญญา พร้อมแนบใบเสนอราคา และรูปภาพของเครื่อง GT200 มีภาพการใช้งานด้วยตัวเครื่อง
ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2550 จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่อง GT200 ตามหนังสือตัวแทนแต่งตั้ง เหตุที่จำเลยที่ 1 ยอมรับเป็นตัวแทนผู้ผลิตโฆษณาประชาสัมพันธ์คุณสมบัติการใช้งานเครื่อง GT200 โดยมีคำรับรองจากกองทัพบกประเทศอังกฤษ และกองทัพบกของประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้ามีความเชื่อถือผลิตภัณฑ์ของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล มีชื่อสินค้า GT300 และ GT400 ตามแผ่นพับโฆษณาอย่างเป็นทางการของผู้ผลิต และจำเลยที่ 1 ขายเครื่อง GT200 ให้กองทัพบกตามคำเชิญชวนของหน่วยงานดังกล่าว จำเลยที่ 1 เชื่อถือจากคำโฆษณาของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ผู้ผลิตจากประเทศอังกฤษ เพราะเห็นว่ามีลูกค้าหลายประเทศซื้อเครื่อง GT200 โดยบริษัท โกลบอล เทคนิคอล โฆษณาประชาสัมพันธ์ทางสื่ออินเทอร์เน็ต มีเว็บไซต์ของผู้ผลิตเป็นการเฉพาะตัว ในการเป็นตัวแทนขายสินค้าเครื่อง GT200
@ไม่รู้มาก่อนเครื่อง GT200 ใช้งานไม่ได้ เป็นแค่ตัวแทนจำหน่าย-แปลโฆษณา
จำเลยที่ 1 ไม่ทราบมาก่อนว่าเครื่อง GT200 ไม่มีคุณภาพตามโฆษณา เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มิใช่บุคคลทั่วไปจะมีไว้ใช้ ไม่มีวางขายเหมือนเช่นสินค้าปกติทั่วไป จำเลยที่ 1 ไม่เคยโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่เคยออกสื่อโฆษณาขายทางวิทยุและโทรทัศน์ ไม่มีพนักงานขายไปเสนอขายสินค้าต่อหน่วยราชการหรือบุคคลใด ผู้ผลิตแจ้งว่า กรรมวิธีการผลิตและเทคโนโลยีของอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล และถือว่าเป็นความลับไม่ถ่ายทอดให้กับผู้ใดรวมทั้งตัวแทน
จำเลยที่ 1 เป็นเพียงคนกลางซื้อสินค้ามาขายให้กับผู้ซื้อตามความประสงค์ของผู้ซื้อ และติดต่อประสานงานให้ผู้ซื้อ และเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้มีโอกาสติดต่อกันเกี่ยวกับบริการหลังการขาย โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทางธุรการเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีช่างเทคนิค หรือบุคลากรที่มีความรู้ การแนะนำสินค้าเครื่อง GT200 ก่อนซื้อ การซ่อมบำรุง การรับประกันสินค้าหลังการขาย การฝึกอบรม การสาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์เป็นหน้าที่ของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล จะส่งบุคลากรมาดำเนินการ วิทยากรผู้บรรยาย และบุคคลผู้ทำการฝึกอบรมเป็นทีมงานของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล นอกจากนี้เอกสารผู้ผลิตที่กำหนดวิธีการในการดำเนินงานสาธิต และทดสอบ โดยใช้หัวเอกสารของ Global Technical (บริษัท โกลบอล เทคนิคอล)
ทั้งได้ความจาก พล.อ.ต.กัณฐ์ธวัตน์ หรือกัณฐัศว์ ตอบทนายจำเลยทั้ง 5 ถามค้านว่า เครื่อง GT200 บริษัทผู้ผลิตไม่เปิดเผยกระบวนการหรือกรรมวิธีผลิต จำเลยที่ 1 ไม่ทราบกระบวนการหรือขั้นตอนในการผลิต ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ในการจำหน่ายเครื่อง GT200 ในประเทศไทยเท่านั้น
@ศาลชี้ บ.เอวิเอฯไม่มีส่วนรู้เห็นหลอกขาย GT200
แม้ได้ความว่า ขณะทำสัญญาซื้อขายทั้ง 3 ครั้ง จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าและบริการซ่อมเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด รวมถึงอุปกรณ์ และอะไหล่ของสินค้า GT200 และสัญญาซื้อขายทั้ง 3 ครั้ง ระบุว่า ผู้ขายยอมรับประกันความชำรุดบกพร่อง และมีหน้าที่จัดการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี และเมื่อโจทก์พบว่า เครื่อง GT200 ไม่สามารถใช้งานได้จึงส่งเครื่อง GT200 จำนวน 6 เครื่องที่ยังอยู่ในประกัน ไปให้จำเลยที่ 1 ตรวจซ่อม จำเลยที่ 1 ได้ทำการตรวจเช็คเครื่อง พร้อมอุปกรณ์ แจ้งว่า ตัวเครื่องใช้งานได้ปกติ และทำการเปลี่ยนเสาอากาศ และอุปกรณ์ประกอบเสาอากาศเป็นแบบสปริงเพื่อความสะดวกในการเก็บรักษา และซ่อมบำรุง เป็นเพียงการตรวจซ่อมบำรุงภายนอกเครื่องเท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 5 จะทราบว่าเครื่อง GT200 เป็นเพียงกล่องพลาสติกเปล่าติดเสาอากาศ
ฉะนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้ง 5 รู้เห็นกับบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ลำพังเพียงการยื่นใบเสนอราคาพร้อมแผ่นพับโฆษณาเครื่อง GT200 โดยที่เอกสารดังกล่าวก็ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล และจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้แปลเอกสารเท่านั้น จำเลยทั้ง 5 ไม่ได้เป็นผู้จัดทำ หรือเกี่ยวข้องในการจัดทำเอกสารดังกล่าว จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง 5 หลอกลวงโจทก์ให้หลงเชื่อในคุณภาพ และคุณสมบัติของสินค้าพิพาท
ทั้งหมดคือคำวินิจฉัยของศาลแพ่งในประเด็นว่า บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด มีเจตนาหลอกลวงขายเครื่อง GT200 ดังกล่าวให้กับกรมราชองครักษ์หรือไม่ ซึ่งศาลชี้ให้เห็นแล้วว่า บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ไม่ได้มีเจตนาดังกล่าว เป็นเพียงแค่ตัวแทนจำหน่าย และแปลแผ่นพับโฆษณาเท่านั้น
อย่างไรก็ดีสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด แพ้คดีนี้ และต้องชดใช้เงินค่าเสียหายคืนแก่กรมราชองครักษ์ 9 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5%ต่อปี คือประเด็นเรื่องการทำสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จะนำมาเสนอในเชิงลึกอีกครั้ง
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่อง GT200 ที่ผ่านมา พบว่า บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐในการขายเครื่อง GT200 อย่างน้อย 17 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ได้แก่ กองทัพบก 11 สัญญา 659,800,000 บาท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2 สัญญา 4,180,000 บาท กรมราชองครักษ์ 3 สัญญา 9 ล้านบาท และกองทัพเรือ 1 สัญญา 8,523,364 บาท
อ่านประกอบ : 19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ไทยพับลิก้า