วัดมาตรฐาน ก.ล.ต.-CEOซื้อ-ขายหุ้นแทน”เมียนอกสมรส” ผิด กม.หลักทรัพย์หรือไม่?
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ใช้มาตรการทางแพ่งในการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หลายรายโดยรายล่าสุด
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2561 ก.ล.ต. ได้ลงโทษกับนางชไมพร ยงวงศ์ไพบูลย์ ผู้บริหารบริษัท เพิ่มสินสตีลเวิคส์ จำกัด (มหาชน) (PERM) กับพวก ให้ชำระค่าปรับทางแพ่งและส่งคืนผลประโยชน์รวมกว่า 25.15 ล้านบาท เนื่องจากใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น PERM ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุตร เข้าข่ายความผิดเรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน หรือ Insider Trading ตามมาตรา 241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ซึ่งบังคับใช้ในขณะกระทำความผิด (ที่มา: ข่าวก.ล.ต. ฉบับที่ 100/2561, ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิด 4 ราย กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น PERM) ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2559 บัญญัติเพิ่มเติมรายละเอียดว่าบุคคลใดบ้างที่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่น่าจะได้รู้ข้อมูลภายในเป็นอย่างดี (Primary Insider) เช่น กรรมการ, ผู้บริหาร หรือผู้ที่มีความใกล้ชิดกับพวกแรก (Secondary Insider) เช่น คู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาของบุคคลจำพวกแรก
ทั้งนี้ แม้ในทางวิชาการได้มีข้อถกเถียงแบ่งเป็นหลายฝ่าย เหตุผลที่กฎหมายกำหนดให้การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในเป็นความผิดนั้น เนื่องจากการปล่อยให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำกำไรโดยอาศัยข้อมูลภายในที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะก็ย่อมจะกระทบกับความน่าเชื่อถือของตลาด และเป็นการบิดเบือนราคาตลาดที่แท้จริง
สำหรับการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย ก.ล.ต. ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมีอำนาจพิจารณาในเบื้องต้นว่ามีมูลหรือไม่ หากพบว่ามีมูลก็จะต้องตรวจสอบและ/หรือหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หรือไม่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ในขณะเดียวกันสำนักข่าวอิศราก็ได้รับแจ้งเรื่องราวจากอดีตลูกจ้างของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ว่า ในช่วงปี 2557 ได้มีการกระทำอันอาจเป็นความผิดฐาน Insider Trading เช่นเดียวกัน โดยจากการตรวจสอบพบว่าได้มีการเปิดบัญชีและซื้อขายหุ้นของบริษัทดังกล่าวซึ่งปรากฏชื่อภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของประธานกรรมการบริหารของบริษัทเป็นเจ้าของบัญชี แต่ในการซื้อขายหลักทรัพย์แต่ละครั้งมักจะเป็นการติดต่อโดยตรงระหว่างนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และผู้บริหารคนดังกล่าวเอง
ปรากฏข้อเท็จจริงว่าช่วงเดือน ต.ค. พ.ศ.2556 ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของผู้บริหารคนดังกล่าว ได้ดำเนินการขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบลจ.แห่งหนึ่งในนามของตน โดยนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้ส่งอีเมล์ยืนยันถึงการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวไปยังผู้บริหารระดับสูงคนดังกล่าวโดยตรง พร้อมทั้งแจ้งให้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อการซื้อขายต่อไป
ภาพที่ 1: อีเมลยืนยันการเปิดบัญชี
ปรากฏข้อมูลว่าก่อนหน้านี้ภรรยาของผู้บริหารคนดังกล่าวได้ลงชื่อยินยอมรับโอนหุ้นของบริษัทที่แปลงสถานะหลักทรัพย์จากกระดานต่างประเทศไปยังกระดานในประเทศ จำนวน 6,091,800 หุ้น ตามรายการแบบคำขอเบิก/โอน/แปลงสถานะหลักทรัพย์
ภาพที่ 2: คำขอเปลี่ยนแปลงสถานะหลักทรัพย์
ต่อมาในการส่งคำสั่งซื้อขายแต่ละครั้ง ผู้บริหารคนดังกล่าวจะส่งอีเมล์ไปยังนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยตนเองในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของบัญชีหรือผ่านผู้ช่วยของตน โดยปรากฏว่ามีการทำคำสั่งดังนี้
1. เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2557 ผู้บริหารคนดังกล่าวได้อ้างตนในฐานะผู้รับมอบอำนาจของภรรยา ส่งอีเมล์ผ่านผู้ช่วยของตนไปยังนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อส่งคำสั่งขายหุ้นของบริษัทเป็นจำนวน 1 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 4.50 บาท
ภาพที่ 3-4 : การส่งคำสั่งขายหุ้นวันที่ 9 ก.ย. 2557
2. เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2557 ผู้บริหารคนดังกล่าวได้ส่งอีเมล์ไปยังนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรง เพื่อส่งคำสั่งขายหุ้นของบริษัทเป็นจำนวน 2 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 4.80 บาท
ภาพที่ 5: การส่งคำสั่งขายวันที่ 22 ก.ย. 2557
3. เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2557 ผู้บริหารคนดังกล่าวได้ส่งอีเมล์ไปยังนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรง แจ้งว่าผู้เป็นเจ้าของบัญชีต้องการทำคำสั่งขายหุ้นของบริษัทที่เหลือจำนวน 2,091,000 หุ้นในราคาหุ้นละ 5.10 บาท ซึ่งได้รับการแจ้งกลับจากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ว่าภรรยาของผู้บริหารนั้นมีหุ้นอยู่จำนวน 2,091,800 หุ้น และจะดำเนินการให้ทันที
ภาพที่ 6 : การส่งคำสั่งขายวันที่ 29 ต.ค. 2557
ข้อมูลการขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเท่าที่ปรากฏเป็นไปตามใบยืนยันการซื้อขายหลักทรัพย์
ภาพที่ 7-9 : ใบยืนยันการซื้อขายหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวผู้ร้องก็ได้ดำเนินการส่งรายละเอียดอย่างเป็นทางการพร้อมเอกสารไปยังก.ล.ต. ซึ่ง ก.ล.ต. ก็ได้พิจารณาและแจ้งผลการดำเนินการว่า “ได้ทำการตรวจสอบในเชิงลึกแล้ว ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่สรุปได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ” อีกทั้งยังมีการระบุว่าได้กำชับให้ผู้บริหารคนดังกล่าวใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ก.ล.ต.จะได้พิจารณาว่ายังไม่เข้าข่ายเป็นความผิด แต่ก็ยังคงเกิดคำถามในเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาของก.ล.ต. ว่าจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงหรือหลักฐานเท่าไหร่เพียงใดจึงจะรับฟังได้ว่ามีมูลหรือไม่ หรือหากก.ล.ต. พิจารณาว่าการกระทำนั้นยังไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แล้ว ก.ล.ต. จะได้มีคำอธิบายเพิ่มเติมอื่นใดหรือไม่ทั้งในส่วนของข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสอบสวนว่าได้ดำเนินการอย่างไรเพียงใด ทั้งนี้เพื่อการสร้างความมั่นใจว่าก.ล.ต. ได้ปฏิบัติงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและผู้ลงทุนอย่างแท้จริงตามหลักการที่แสดงไว้โดยชัดแจ้งในกฎหมายนั่นเอง
ภาพที่ 10: หนังสือตอบรับจากก.ล.ต.