เปิดปม! ข้อพิพาท 'อบจ.สมุทรปราการ' เรียกเงิน กกท. คืน 188 ล. สร้างสนามกีฬาไม่เสร็จ
".. กกท. ได้สอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว พบว่า การดําเนินโครงการดังกล่าวมิใช่เป็นงบประมาณหรือโครงการตามนโยบายแผนงานของ กกท. แต่เป็นงบประมาณที่อยู่ในการดูแลของอบจ.สมุทรปราการ ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่อบจ.สมุทรปราการเรียกร้อง เป็นกรณีที่คณะกรรมการกีฬาจังหวัดสมุทรปราการที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 กับ อบจ. สมุทรปราการ ได้ร่วมกันจัดทําบริการสาธารณะภายในจังหวัดตามมาตรา 17 (18) แห่งพระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทําโดยทุจริตของเจ้าหน้าที่กกท. ในฐานะกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ ..."
องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ และ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กำลังมีปัญหาข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้น เกี่ยวกับเงินอุดหนุนงบประมาณประจําปี 2558 - 2559 วงเงิน 188,820,000 บาท ที่ อบจ.สมุทรปราการจ่ายให้กับ คณะกรรมการกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ ในการก่อสร้างงานโครงการด้านกีฬาจำนวน 3 โครงการ แต่เกิดความเสียหายจากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ อบจ.สมุทรปราการ จึงทำเรื่องเรียกร้องให้ กกท.คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้ แต่สํานักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการ เพิกเฉย ไม่นําส่งคืนเงินดังกล่าวแต่อย่างใด
อบจ.สมุทรปราการ จึงส่งข้อข้อพิพาททางแพ่งพร้อมด้วยหลักฐานไปยังสํานักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อเรียกร้องให้กกท. โดย สํานักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการ คืนเงินจำนวน 188,820,000 บาท ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐซึ่งจะต้องนําเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เบื้องต้น สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นทางกฎหมายว่า เรื่องนี้เป็นกรณีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับเงินอุดหนุนที่สามารถเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตามแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่เคยวินิจฉัยไปแล้ว
ดังนั้น เมื่อ อบจ.สมุทรปราการได้เสนอข้อพิพาทให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 เป็นผู้พิจารณาตัดสินชี้ขาดแล้ว การดําเนินการต่อไปจึงต้องเป็นไปตามที่กําหนดไว้ในระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดําเนินคดี พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปลายเดือนก.พ.2561 ที่ผ่านมา กกท.) ได้ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ถึงสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
สรุปความได้ว่า สํานักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือแจ้ง กกท. ว่า อบจ.สมุทรปราการ ได้ส่งข้อพิพาททางแพ่งพร้อมด้วยหลักฐานไปยังสํานักงานอัยการสูงสุดเพื่อเรียกร้องให้ กกท. โดย สํานักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการ) คืนเงินอุดหนุนงบประมาณประจําปี 2558 - 2559 จํานวน 3 โครงการ รวมเป็นเงินจํานวน 188,820,000 บาท เนื่องจากอบจ.สมุทรปราการเห็นว่าเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะต้องนําเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ตามมติคณะรัฐมนตรี
ขณะที่ กกท. ได้สอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว พบว่า การดําเนินโครงการดังกล่าวมิใช่เป็นงบประมาณหรือโครงการตามนโยบายแผนงานของ กกท. แต่เป็นงบประมาณที่อยู่ในการดูแลของอบจ.สมุทรปราการ ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่อบจ.สมุทรปราการเรียกร้อง เป็นกรณีที่คณะกรรมการกีฬาจังหวัดสมุทรปราการที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 กับ อบจ. สมุทรปราการ ได้ร่วมกันจัดทําบริการสาธารณะภายในจังหวัดตามมาตรา 17 (18) แห่งพระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทําโดยทุจริตของเจ้าหน้าที่กกท. ในฐานะกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ
ในการนี้ กกท. พิจารณาแล้วเห็นว่า เงินอุดหนุนงบประมาณประจําปี 2558 - 2559 จํานวน 3 โครงการ รวมเป็นเงิน 188,820,000 บาท ที่ อบจ.สมุทรปราการมอบให้แก่คณะกรรมการกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ เป็นการให้โดยมีเงื่อนไข มิใช่การให้โดยเสร็จเด็ดขาด กรณีจึงมีหน่วยงานของรัฐมากกว่าหนึ่งแห่ง ได้รับความเสียหาย
ขณะที่ ตามแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องเสร็จที่ 1039/2557 อบจ. สมุทรปราการจึงควรร่วมแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิด ทางละเมิดในกรณีนี้ด้วยตามข้อ 11 แห่งระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติ เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กกท. จึงขอความเห็นจากสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
1. อบจ.สมุทรปราการ จะต้องปฏิบัติตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ หรือไม่อย่างไร หรือหน่วยงานของรัฐสามารถเลือกจัดส่งเรื่องให้สํานักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ตัดสินชี้ขาดได้
2. หากการ กกท. ไม่เห็นด้วยที่จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณา ชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ตัดสินชี้ขาดเนื่องจากยังติดใจโต้แย้งเรื่องจํานวนความเสียหายตามที่อบจ.สมุทรปราการเรียกร้อง สํานักงานอัยการสูงสุดและคณะกรรมการดังกล่าวจะมีอํานาจตัดสินชี้ขาดได้หรือไม่อย่างไรหรือจะต้องรอจนกว่าจะมีการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้วเสร็จ
อนึ่ง เมื่อเกิดความเสียหายจากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เอกชนตามสัญญาจ้างได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกร้องให้ กกท. ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีผิดสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ (เคหะเมืองใหม่บางพลี) และโครงการก่อสร้างโรงยิมเนเซี่ยม สนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ (เคหะเมืองใหม่บางพลี) ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของการเคหะแห่งชาติ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ
นอกจากนี้ เอกชนผู้รับจ้างโครงการปรับปรุงสนามฟุตบอลหญ้าเทียมสนามกีฬาสมุทรปราการ (ตําบลบางปลา) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุโดยมี อบจ.สมุทรปราการเป็นผู้ได้รับอนุญาตยังได้ฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการดําเนินการของพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือของกกท. โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) ผู้แทนสํานักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกกท. และผู้แทนอบจ.สมุทรปราการ เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง อบจ.สมุทรปราการจะต้องปฏิบัติตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือไม่ อย่างไร หรือหน่วยงานของรัฐสามารถเลือกจัดส่งเรื่องให้สํานักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ตัดสินชี้ขาดได้ นั้น
เห็นว่า การสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นการดําเนินการเพื่อให้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ได้กระทําละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่ เป็นการกระทําในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากเป็นการกระทําในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้กระทําโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจํานวนเท่าใดรวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดจากการละเมิดที่มีความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดําเนินงานส่วนรวมอยู่ด้วย จะต้องมีการหักส่วนความรับผิดออกด้วยหรือไม่ เพียงใด
ส่วนการดําเนินการของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 ในกรณีที่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจเกิดข้อพิพาทระหว่างกัน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้กำหนดแนวทางการดําเนินการในเรื่องดังกล่าวไว้ปรากฏตามหนังสือสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร 0505/ว 184 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2549 โดยให้ส่งเรื่องที่มีข้อพิพาทเรียกร้องไปยังสํานักงานอัยการสูงสุดภายในอายุความเพื่อที่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้พิจารณาตัดสินชี้ขาดแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป ซึ่งต่อมาการพิจารณาตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทของคณะกรรมการดังกล่าวได้มีระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดําเนินคดี พ.ศ. 2561กําหนดให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดําเนินคดี (กยพ.) ซึ่งข้อหารือของกกท.
ในประเด็นนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้เคยให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 807/2550 โดยสรุปว่า การพิจารณาข้อพิพาทของสํานักงานอัยการสูงสุดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 เป็นการดําเนินการที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างจากการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และมิใช่เหตุที่จะทําให้ไม่ต้องดําเนินการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามระเบียบดังกล่าว
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อบจ.สมุทรปราการได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สป 51001/183 ลงวันที่ 22 มกราคม 2561 ถึงสํานักงานอัยการสูงสุด ส่งข้อพิพาทพร้อมด้วยหลักฐานเพื่อเรียกร้องให้สํานักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการ คืนเงินที่ได้รับอุดหนุน ในงบประมาณประจําปี 2558 - 2559 จํานวน 3 โครงการ รวมเป็นเงินจํานวน 188,820,000 บาท เนื่องจากการดําเนินโครงการไม่แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ทั้ง 3 โครงการ โดยอบจ. สมุทรปราการได้มีหนังสือเรียกให้สํานักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการ ส่งคืนเงินอุดหนุนไว้แล้ว รวม 2 ครั้ง แต่สํานักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการ ยังคงเพิกเฉย ไม่นําส่งคืนเงินดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับเงินอุดหนุนที่สามารถเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตามแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ข้างต้น
อนึ่ง ในกรณีที่อบจ.สมุทรปราการเห็นว่า อบจ.สมุทรปราการได้รับความเสียหายจากการดําเนินโครงการของคณะกรรมการกีฬาจังหวัดสมุทรปราการและมีเหตุอันควรเชื่อว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ในสังกัดหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นอบจ.สมุทรปราการก็ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง2 หรือร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายสังกัดอยู่ แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ตามข้อ 103 และข้อ 114 เพื่อให้ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่กระทําละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่ เป็นการกระทําในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากเป็นการกระทําในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้กระทําโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจํานวนเท่าใด และถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดําเนินงานส่วนรวมต้องหักส่วนความรับผิดออก
ประเด็นที่สอง หากการกีฬาแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยที่จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ตัดสินชี้ขาดเนื่องจากยังติดใจโต้แย้งเรื่องจํานวนค่าเสียหายตามที่อบจ.สมุทรปราการ เรียกร้อง สํานักงานอัยการสูงสุดและคณะกรรมการดังกล่าวจะมีอํานาจตัดสินชี้ขาดได้หรือไม่ อย่างไร หรือจะต้องรอจนกว่าจะมีการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้วเสร็จ นั้น
เห็นว่า เมื่อได้ให้ความเห็น ในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า การพิจารณาข้อพิพาทของสํานักงานอัยการสูงสุดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 เป็นการดําเนินการที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างจากการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิดตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และโดยที่ข้อ 275 แห่งระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดําเนินคดี พ.ศ. 2561 กําหนดให้การพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ และการพิจารณาชี้ขาดการดําเนินคดีทั้งปวง ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 ในวันก่อนวันที่ระเบียบดังกล่าว ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดําเนินคดีเป็นผู้มีอํานาจพิจารณาชี้ขาดต่อไป
ดังนั้น เมื่ออบจ.สมุทรปราการได้เสนอข้อพิพาทให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 เป็นผู้พิจารณาตัดสินชี้ขาดแล้ว การดําเนินการต่อไปจึงต้องเป็นไปตามที่กําหนดไว้ในระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดําเนินคดี พ.ศ. 2561 โดยไม่จําเป็นต้องรอให้มีการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้วเสร็จแต่อย่างใด
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อเท็จจริงเบื้องต้น ต่อกรณี ปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินอุดหนุนงบประมาณประจําปี 2558 - 2559 วงเงิน 188,820,000 บาท ระหว่าง อบจ. สมุทรปราการ และ กกท. ที่ถูกเปิดเผยออกมาล่าสุดในขณะนี้