กสม.เผยทุนไทยที่สร้างผลกระทบให้ปชช.เพื่อนบ้านต้องนำมาตรฐานสากลไปปรับใช้
กสม. ไทยถกปัญหาธุรกิจละเมิดสิทธิฯ ข้ามพรมแดนร่วมประเทศอาเซียน เผยทุนไทยที่สร้างผลกระทบให้ประชาชนเพื่อนบ้านต้องนำมาตรฐานสากลไปปรับใช้ เตรียมเสนอ ครม. – หน่วยงานระดับสากล หาทางแก้ปัญหาร่วมกัน
วันที่ 10 กันยายน 2561 นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 8 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและชุมชน (The 8th Regional Conference on Human Rights and Business in South East Asia) จัดโดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ Forest Peoples Programme และองค์กรภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 7 - 9 กันยายน 2561 ณ โรงแรมเชียงของ ทีค การ์เด้นท์ ริเวอร์ฟร้อนท์ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ว่า การประชุมระดับภูมิภาคปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยได้เชิญชวนผู้แทนสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ภาคประชาสังคม องค์กรภาคีเครือข่ายในกลุ่มประเทศอาเซียนกว่า 100 คน ร่วมหารือกันในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีโครงการพัฒนาที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบข้ามพรมแดนในหลายประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรโดยท้องถิ่น
ในโอกาสนี้ กสม. ไทย ได้นำผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติ ลงพื้นที่กรณีศึกษา 2 พื้นที่ ได้แก่
1) บ้านบุญเรือง ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นตัวอย่างชุมชนเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน การทำข้อมูลชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำ เป็นเหตุให้จังหวัดเชียงรายยอมรับและเสนอรัฐบาลที่จะไม่ใช้พื้นที่ชุ่มน้ำบ้านบุญเรืองเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ
และ 2) บ้านห้วยลึก ตำบลเวียงแก่น อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ตัวอย่างชุมชนริมโขงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนหลายแห่งในแม่น้ำโขงตอนบน โดยในช่วงระยะเวลากว่า 20 ปีมานี้ การที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ทำให้ชาวบ้านต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้
นอกจากนี้การสร้างเขื่อนยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ ทำให้พันธุ์ปลาสูญหาย กระทบต่อวิถีการทำประมงและเกษตรชายฝั่ง ทั้งยังมีผลกระทบเชิงสังคมเมื่อหนุ่มสาวต้องเปลี่ยนอาชีพไปค้าแรงงาน จนเกิดปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง ซึ่งเป็นปัญหาที่ชุมชนริมแม่น้ำโขงมากมายต้องเผชิญ
ขณะเดียวกันสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ยังมีแผนการสร้างเขื่อนปากแบง ซึ่งห่างจากอำเภอเวียงแก่นเพียง 60 กิโลเมตร อันจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิมและทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่อำเภอเวียงแก่น และอำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงรายด้วย จึงขอให้รัฐบาลไทยคุ้มครองสิทธิชุมชน โดยเสนอ สปป. ลาว ให้ศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบข้ามพรมแดน
นางเตือนใจ กล่าวต่อว่า ในเวทีการประชุมยังมีการแลกเปลี่ยนประเด็นผลกระทบจากโครงการพัฒนาในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่นักลงทุนสัญชาติไทยที่เข้าไปดำเนินการ จนเกิดการละเมิด หรือ มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิชุมชน และทำให้ชุมชนประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบ เช่น กรณีโรงน้ำตาลในกัมพูชา โรงไฟฟ้าทวายในพม่า เขื่อนไซยะบุรีในลาว หรือล่าสุดกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาวแตกเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต สูญหาย สูญเสียที่อาศัยและที่ทำกินจำนวนมาก
“แม้ไทยจะเป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียนในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 มีการลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายภาคธุรกิจ คือ เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งรัฐบาลยังประกาศวาระแห่งชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน นั้น แต่ในเชิงปฏิบัติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจไทยก็ยังมีอยู่
อย่างไรก็ตามประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนต่างชื่นชมชุมชนไทยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ที่มีความเข้มแข็งในการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น โดยอยากให้มองเห็นว่า ชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่โครงการพัฒนาต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรท้องถิ่น การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เสมอภาค การประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการเยียวยาที่เป็นธรรม โดยปฏิบัติตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้” นางเตือนใจ กล่าว
นางเตือนใจ กล่าวถึงข้อมูลจากการประชุมว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและชุมชน โดยเฉพาะกรณีโครงการที่ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนในครั้งนี้ กสม. จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งจะรายงานต่อที่ประชุมกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum - SEANF) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 13 - 14 กันยายน นี้ ที่กรุงเทพมหานคร โดยหวังว่าหน่วยงานระดับสากล อาทิ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) และสหประชาชาติ จะได้รับรู้ประเด็นปัญหาดังกล่าวและนำสู่การแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศร่วมกันต่อไป
อนึ่ง ในวันสุดท้ายของการประชุมดังกล่าว ผู้แทนสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ภาคประชาสังคม องค์กรภาคีเครือข่ายในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยมีประเด็นสำคัญ เช่น การสนับสนุนให้สถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติขยายหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยมีกลไกที่เป็นทางการในการตรวจสอบคำร้องเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนร่วมกัน การเรียกร้องให้ภาคธุรกิจที่ไปลงทุนในต่างแดนปฏิบัติตามมาตรฐานสากล คือ การเคารพสิทธิมนุษยชนและมีการเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมโดยที่การดำเนินโครงการต่าง ๆ ต้องผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเสนอให้ภาควิชาการให้การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการจัดการข้อมูลและใช้ประโยชน์จากการวิจัยชุมชนในการปกป้องทรัพยากร ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยอมรับในสิทธิของชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยและใช้ทรัพยากรที่ดินและป่า