กสม.ลงนามเอ็มโอยูกับสถาบันการศึกษา-กระบวนการยุติธรรม ตระหนักสิทธิสิทธิมนุษยชน
สำนักงาน กสม. ขับเคลื่อนงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ ลงนามเอ็มโอยูกับสถาบันการศึกษา-หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม สร้างความร่วมมือทางวิชาการและพัฒนาบุคลากรให้ตระหนักถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน
วันที่ 10 ก.ย. 2561 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ประกาศ “วาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ต้องขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วนใน 2 ปี (พ.ศ.2561 – 2562) โดยเร่งให้หน่วยงานพัฒนาหลักสูตรและโครงสร้างทางการศึกษาที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและบริบทของแต่ละท้องถิ่น เพื่อเอื้อต่อสิทธิทางการศึกษาของคนกลุ่มเฉพาะ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างการยอมรับในอัตลักษณ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนและตระหนักในสิทธิของผู้อื่น อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ด้านในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ตามกรอบขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)
นายวัส กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เล็งเห็นความสำคัญของการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนเพื่อเร่งสร้างเสริมความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย จึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “สิทธิมนุษยชนศึกษากับวาระแห่งความร่วมมือระดับชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้นในวันนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาจากบุคลากรหลากหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น กสม. ผู้แทนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ผู้บริหารระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม และสถาบันการศึกษา รวมทั้งสื่อมวลชน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา มาปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สิทธิมนุษยชนศึกษากับวาระแห่งความร่วมมือระดับชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ประธาน กสม. กล่าวว่า งานในวันนี้ยังเป็นพื้นที่ในการประสานความร่วมมือผ่านการลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างสำนักงาน กสม. กับ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมราชทัณฑ์ โดย กสม. มุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ร่วมมือกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้เติบโตงอกงามเป็นรากฐานในวิถีคิดและวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน นำมาซึ่งความผาสุกของสังคมและประเทศชาติ ตลอดทั้งนำพาประเทศมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติต่อไป
“แผนงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ ทหาร อัยการ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งสอดรับกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายของไทยที่มุ่งส่งเสริมการปฏิบัติงานโดยยึดหลักนิติธรรม การใช้หลักธรรมาภิบาลในทุกหน่วยงานและทุกระดับ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ การส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายและจริยธรรมที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม นิติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จนนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก” นายวัส ระบุ
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กสม. และประธานคณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการประสานเพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ การจัดการเรียนการสอนหรือหลักสูตรหรือกิจกรรมด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล สามารถส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืนแล้ว กสม. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมพัฒนาทักษะของบุคลากรในการนำหลักการสิทธิมนุษยชนไปใช้ในการปฏิบัติงานด้านกระบวนการยุติธรรมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสถาบันการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในหลักการและวิธีการปฏิบัติงานด้านกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากล
“งานในวันนี้เป็นสัญญาณที่ดีที่ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและใช้ความพยายามในการถ่ายทอดความรู้หลักการสิทธิมนุษยชนเพื่อมุ่งสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนให้เกิดแก่ครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยบูรณาการหลักสิทธิมนุษยชนให้เข้าไปอยู่ในวิถีปฏิบัติประจำวันทั้งในการใช้ชีวิตและการทำงาน และที่สำคัญ ผู้บริหารและฝ่ายนโยบายจะต้องมีทัศนคติที่ดีและมีสำนึกในเรื่องสิทธิมนุษยชน ปลูกฝังค่านิยมให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่เคารพสิทธิมนุษยชนแก่บุคคลในองค์กร และ กสม. มีความยินดีที่จะเปิดรับพันธมิตรสิทธิมนุษยชนจากทุกภาคส่วน เพราะความร่วมมือจากทุกฝ่าย เปรียบเสมือนการเรียงร้อยภาพเล็ก ๆ ที่หลากหลายให้เกิดเป็นภาพใหญ่ที่สมบูรณ์” กสม.ประกายรัตน์ กล่าวในท้ายที่สุด
ก่อนหน้านี้สำนักงาน กสม. ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนกับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อประสานความร่วมมือทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในแต่ละภาค ทั้งนี้ กสม. ยังมีแผนงานที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย