ปชช. 51.20% เชื่อว่า พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ส่งผลเสียต่อประชาชน ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นวิชาชีพอื่น
นิด้าโพล เผย ประชาชน 51.20% เชื่อว่า พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ส่งผลเสียต่อประชาชน ชี้เภสัชกรมีความรู้ความชำนาญมากกว่าวิชาชีพอื่น ปัญหาที่ควรแก้คือ การขายยาทางออนไลน์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ประชาชนได้ประโยชน์ ?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 – 4 ก.ย. 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแก้ พ.ร.บ. ยา (ฉบับใหม่ ก.ค. 2561) โดยแก้ไขจาก พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 21 ผู้รับอนุญาตขายส่งยาแผนปัจจุบันต้องมีเภสัชกรชั้นหนึ่งประจำอยู่ ณ สถานที่ขายยาประจำอยู่ตลอดเวลาที่เปิดทำการ (เภสัชกรชั้นหนึ่ง หมายความว่า ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาเภสัชกรรม) เป็น พ.ร.บ. ยา (ฉบับใหม่ ก.ค. 2561) ให้ตัดข้อความ “เภสัชกร” เป็น “ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ” ถ้าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สามารถจัดหา ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการมาทำงานแทนได้ และให้วิชาชีพอื่นในสายสุขภาพ สามารถจ่ายยาได้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูล ตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาคจากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงผลดีหรือผลเสียต่อประชาชนกับการที่ “พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่” เอื้อประโยชน์ให้วิชาชีพอื่นในสายสุขภาพสามารถเปิดร้านขายยาได้เหมือนกับเภสัชกร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.20 ระบุว่า ส่งผลเสีย เพราะ วิชาชีพอื่นในสายสุขภาพไม่มีความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ เท่ากับเภสัชกรที่จบมาเฉพาะด้าน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ส่งผลทำให้มีร้านขายยาเพิ่มมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 46.48 ระบุว่า ส่งผลดี เพราะ จะได้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น วิชาชีพอื่นในสายสุขภาพก็มีความรู้ความสามารถ ไม่น้อยกว่าเภสัชกร และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อยามากขึ้น เนื่องจากในบางครั้งเภสัชกรก็ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องอย่างแพทย์ และร้อยละ 2.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับยาที่ควรปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.08 ระบุว่า การขายยาทางออนไลน์ รองลงมา ร้อยละ 15.92 ระบุว่า การให้วิชาชีพอื่นสามารถเปิดร้านขายยาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ร้อยละ 13.12 ระบุว่า การโฆษณายาอันตราย ร้อยละ 12.80 ระบุว่า การผสมยาถือเป็นการผลิตยาใหม่ต้องมีการควบคุมเข้มงวด ร้อยละ 12.16 ระบุว่า การขายยาชุด ยาแบ่งขาย ร้อยละ 10.80 ระบุว่า การจัดประเภทของยาตามหลักสากล คือ จ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ จ่ายยาโดยเภสัชกร ยาสามัญที่ประชาชนซื้อได้เอง ร้อยละ 0.88 ระบุว่า การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาให้บริการด้านยาแก่ประชาชน และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อบุคลากรวิชาชีพอื่นในสายสุขภาพว่าจะสามารถจ่ายยา/ขายยาได้เทียบเท่ากับเภสัชกร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.00 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น เพราะ เภสัชกรมีความรู้ ความชำนาญมากกว่าบุคลากรวิชาชีพอื่นในสายสุขภาพ เนื่องจากเรียนตรงตามหลักสูตรและตรงกับสายงาน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในการแนะนำหรือจ่ายยา รองลงมา ร้อยละ 29.44 ระบุว่า เชื่อมั่น เพราะ บุคลากรวิชาชีพอื่นในสายสุขภาพมีความรู้ความสามารถเทียบเท่ากับเภสัชกร และร้อยละ 2.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการยอมรับให้วิชาชีพอื่นในสายสุขภาพสามารถจ่ายยา/ขายยาโดยไม่มีเภสัชกรควบคุม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 77.04 ระบุว่า ยอมรับไม่ได้ เพราะ ผู้ที่จะจ่ายยาได้นั้นต้องเป็นเภสัชกร หรือมีเภสัชกรคอยควบคุมการจ่ายยา ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่มีความมั่นใจหากเป็นวิชาชีพอื่นที่ไม่ได้จบเฉพาะทาง ไม่มีความเชี่ยวชาญเทียบเท่าเภสัชกร อาจจะจ่ายยาไม่ตรงกับโรคที่เป็นหรือจ่ายยาผิด รองลงมา ร้อยละ 21.12 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะ เป็นการเปิดกว้างในด้านอาชีพมากขึ้น เนื่องจากวิชาชีพอื่นในสายสุขภาพก็มีความรู้ความสามารถเทียบเท่ากับเภสัชกร และร้อยละ 1.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ