การศึกษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน สร้างโอกาสที่เท่าเทียม ในการเรียนรู้ให้กับเด็กชาติพันธุ์
รายงานชิ้นใหม่ขององค์การยูนิเซฟและมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเผยแพร่ในช่วงก่อนวันการรู้หนังสือสากล (International Literacy Day) ประจำปี พ.ศ. 2561 ชี้ว่า เด็กชาติพันธุ์ที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ มีผลการเรียนและทักษะการรู้ภาษาไทยที่ดีขึ้น เมื่อพวกเขาได้เรียนโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน
ประเทศไทยควรบูรณาการแนวทางจัดการศึกษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และขยายผลนวัตกรรมนี้ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กทุกคน
รายงานเรื่อง “สะพานเชื่อมโยงไปสู่อนาคตอันสดใส: โครงการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ซึ่งได้รวบรวมหลักฐานจากโครงการนำร่องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ให้เห็นว่า การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน สามารถพัฒนาการรู้หนังสือและการเรียนของเด็กที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานในช่วงปีแรก ๆ เพื่อเชื่อมโยงไปยังการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในที่สุด
รายงานยังระบุด้วยว่า ในประเทศไทย เด็กที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ มักพบอุปสรรคในการเรียนรู้ เด็กกลุ่มนี้มักมีโอกาสอยู่ในระบบโรงเรียนน้อยกว่าเด็กทั่วไป ทั้งยังมีผลคะแนนสอบในระดับต่ำ และมีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาที่จัดขึ้นที่กระทรวงศึกษาธิการว่า “เด็กที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ถือเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กกลุ่มนี้ต้องการแนวทางเฉพาะที่จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักฐานจากทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ชี้ให้เราเห็นแล้วว่า เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อเรียนด้วยภาษาแม่ในช่วงปีแรก ๆ ของการเข้าเรียน ซึ่งช่วยให้พวกเขามีพื้นฐานที่ดี ในการเรียนรู้ภาษาไทยและวิชาอื่น ๆ ตามมา”
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าด้านการศึกษาอย่างมาก โดยมีอัตราเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีอัตราการรู้หนังสือของเยาวชนที่ร้อยละ 98 แต่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ ระบุว่า เยาวชนอายุ 15-24 ปี ในครอบครัวที่ไม่ได้พูดภาษาไทยประมาณ 1ใน 3 คน ยังคงไม่รู้หนังสือภาษาไทย
ยูนิเซฟ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ริเริ่มดำเนินการและวัดผลโครงการการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ของนักเรียนในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเด็กที่พูดมลายูถิ่นมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำที่สุดของประเทศในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
รายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ ได้นำเสนอความสำคัญของโครงการดังกล่าว ตลอดจนวิธีการจัดการเรียนการสอน ผลสัมฤทธิ์และผลกระทบของโครงการที่มีต่อนโยบายการศึกษาของประเทศไทย โดยผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาสามารถนำไปบูรณาการให้เข้ากับนโยบายการศึกษาแห่งชาติได้
ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าโครงการนี้ผ่านการประเมินผลหลายครั้ง รวมทั้งมีการติดตามสมรรถนะของผู้เรียน โดยแสดงให้เห็นว่าเด็กมีการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยอย่างรวดเร็วและมีผลการเรียนในวิชาอื่น ๆ ที่ดีขึ้น โครงการได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ปกครองและชุมชนท้องถิ่น ทั้งยังได้รับรางวัลต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมทั้งรางวัลนวัตกรรมการรู้หนังสือในพระเจ้าเซจอง โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO King Sejong Literacy Prize) ประจำปี พ.ศ. 2559
“ผมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อขยายผลนวัตกรรมนี้ไปยังโรงเรียนประถมศึกษาอื่น ๆ ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำแนวทางการศึกษาที่ใช้ภาษาแม่เป็นฐานไปใช้กับภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างสะพานเชื่อมโยงไปสู่อนาคตที่สดใสให้แก่เด็ก ๆ อีกเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ” ศ.นพ.บรรจง กล่าว
รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาอยู่นี้ ผู้วางนโยบายควรมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ว่า อะไรคือสิ่งที่ประสบความสำเร็จ และอะไรคือวิธีการที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
“โครงการนี้เป็นโมเดลที่ดีในการชี้แนะการวางแผนการศึกษาสำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0” รศ.นพ.โศภณ กล่าว “นี่คือโมเดลที่จะช่วยจัดการกับปัญหาความไม่เสมอภาคในระบบการศึกษา และลดช่องว่างระหว่างนักเรียนในเมืองใหญ่และชนบท”
งานเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนักวิชาการชั้นนำของประเทศ รวมทั้งศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยทั้งสองท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของทักษะการอ่านออกเขียนได้ว่าเป็นพื้นฐานการเรียนรู้และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะเป็นสิ่งสนับสนุนการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก โพสต์ทูเดย์