เปิดคำชี้แจงผู้แทน สตช. เปลี่ยนวิธีจ้างโรงพัก 396 แห่ง ยุคปทีป - สุเทพ เห็นชอบ
ข้อมูลสำคัญ!เปิดเอกสาร คำชี้แจงผู้แทนสำนักงานตำรวจฯ ในที่ประชุม อก.พอ. กรมบัญชีกลาง ปมจ้างเหมาโรงพัก 396 แห่ง เปลี่ยนวิธีจากแยกเสนอราคารายภาค เป็นก่อสร้างทุกแห่งรวมครั้งเดียว ยุค พล.ต.อ.ปทีป รักษาการฯ ‘สุเทพ’เห็นชอบ
กรณีจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นคู่สัญญา วงเงิน 5,848 ล้านบาท ทำสัญญาวันที่ 25 มี.ค. 54 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 17 มิ.ย. 55 (สัญญาเลขที่ ยธ.13/2554) ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเอกชน ถูกกล่าวหากว่าสิบราย
วันที่ 2 ก.ย.2561 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อสังเกต 4 ข้อ ของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองปัญหาการพัสดุและการพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องเรียนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ตามที่ปรากฎในเอกสารรายงานการ ประชุม อก.พอ. ครั้งที่ 11 /2554 วันที่ 30 มิ.ย.2554 มารายงานไปแล้วว่า ประเด็นหลัก 2 ประเด็นที่คณะอนุกรรมการได้ตั้งข้อสังเกต คือ 1. วิธีการคำนวณราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี และ 2. รูปแบบการทำสัญญาเป็นสัญญาฉบับเดียว เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของระเบียบ เนื่องจากการก่อสร้างสถานีฯ ทั้ง 396 แห่ง ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารสัญญา หากผู้ว่าจ้างไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างได้ พร้อมกันทั้ง 396 แห่ง จึงเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานภายในกำหนดสัญญาทำให้ต้องมีการขยายระยะเวลาทั้งสัญญา หรือ กรณีที่ผู้รับจ้างส่งมอบไม่ทันเพียง 1 หลัง การปรับจะต้องปรับตามจำนวนเงินตามสัญญาทั้งหมด ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ (อ่านประกอบ:เปิด 4 ข้อสังเกต กรมบัญชีกลางปมจ้างเหมาโรงพัก 396 หลัง ชัด‘ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.’)
คราวนี้มาดูความเป็นมาของโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 หลัง ตามที่ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานในที่ประชุม อก.พอ. ครั้งที่ 10/2554 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2554 (ตามที่ปรากฎในเอกสารรายงานการ ประชุม อก.พอ. ครั้งที่ 11 /2554 วันที่ 30 มิ.ย.2554) กันบ้าง
ผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าร่วมประชุมชี้แจง โดยชี้แจงสรุปว่า
ที่มาของ โครงการประกวดราคาโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) พร้อมสิ่งก่อสร้าง ประกอบ จํานวน 396 หลัง ได้มีการกําหนดแนวทางการประกวดราคาไว้ 4 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1 ให้จัดจ้างที่ส่วนกลางโดยสํานักงานตํารวจแห่งชาติแบบรวมการครั้งเดียวโดยทําสัญญาเดียว 396 หลัง
แนวทางที่ 2 จัดจ้างที่ส่วนกลางโดยสํานักงานตํารวจแห่งชาติแบบรวมการครั้งเดียว แยกเสนอราคาเป็นรายภาค ภาค 1-9 โดยทําสัญญา 9 สัญญา
แนวทางที่ 3จัดจ้างโดยตํารวจภูธรภาค
แนวทางที่ 4 จัดจ้างโดยตำรวจภูธรจังหวัด
ผลสรุปรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เห็นชอบให้ดําเนินการประกวดราคาตามแนวทางที่ 1 ในการเสนอราคามีราคากลางเป็นราคารวม โดยมีแบบมาตรฐาน รวม 3 ชุด ตามแบบขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ให้ผู้เสนอราคาเสนอราคาแบบฐานรากราคาเดียวเป็นเสาเข็มขนาด 21 เมตร และในการยื่นเอกสารผู้เสนอราคาจะต้องกรอก ใบปริมาณ 3 ชุด ซึ่งแต่ละชุดจะมีรายละเอียดการก่อสร้างในจังหวัดใด การคํานวณราคากลางเป็นการ คํานวณราคารวม จากการคํานวณได้กําหนดฐานรากเป็นแบบฐานแผ่ เนื่องจากว่าเป็นแบบมาตรฐาน ได้กําหนดปริมาณเท่ากันทุกหลัง แต่ให้คํานวณ หิน ดิน ทราย โดยอิงราคาตามสํานักงานพาณิชย์จังหวัด การเสนอราคาให้เสนอราคารวม แต่เมื่อชนะราคาแล้วให้กรอกราคาวัสดุของแต่ละหลังรวม 396 หลัง โดยให้มีการสํารวจดิน ภายหลังว่าจะใช้เสาเข็มขนาด 21 เมตร หรือไม่ ให้พิจารณาภายหลังจากที่ชนะราคาแล้ว การทําสัญญาเป็นสัญญาฉบับเดียว และได้กําหนดงวดงานประมาณ 1,000 งวด โดยแบ่งเป็น ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก การส่งมอบงานให้เป็นอิสระ หากผู้รับจ้างผิดสัญญาก็จะปรับรวมตามเงื่อนไขสัญญา สํานักงานฯ ได้ปฏิบัติตามร่างขอบเขตของงานและตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ที่ประชุมฟังคําชี้แจงแล้ว เห็นว่า คําชี้แจงของผู้แทนของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ยังไม่ชัดเจนใน ประเด็นการบริหารสัญญา และการกําหนดราคากลางเป็นราคาเดียว เนื่องจากการทําสัญญาจ้าง ก่อสร้างสถานีตํารวจทั้ง 396 หลัง เป็นฉบับเดียวอาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางบริหารสัญญา ตามมาภายหลังซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีกับส่วนราชการ จึงมีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ เชิญผู้แทนสํานักงานตํารวจแห่งชาติที่ทําหน้าที่เป็นคณะกรรมการกําหนดราคากลาง คณะกรรมการ กําหนดร่างขอบเขตของงานและร่างเอกสารการประกวดราคา คณะกรรมการประกวดราคาและ เจ้าหน้าที่พัสดุที่เกี่ยวข้องในการบริหารสัญญามา เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พร้อมจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเสนอต่อที่ประชุม ในการประชุมครั้งต่อไป
@ ครม.อนุมัติหลักการ 17 ก.พ.52 - กองพลาธิการฯชงให้เลือก 4 แบบ
ในการประชุมครั้งนี้ผู้แทนสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ได้เข้าร่วมประชุม ชี้แจงเพิ่มเติม โดยสรุปว่าสืบเนื่องจากสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือ ที่ นร 0506/3456 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2552 แจ้งว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 อนุมัติ เป็นหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) โดยให้ดําเนินการตาม ความเห็นของสํานักงบประมาณ ซึ่งตามหนังสือสํานักงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ นร 0707/085 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 สรุปสาระสําคัญให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติดําเนินการโครงการ ก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ ในส่วนที่จําเป็นเร่งด่วนเพื่อทดแทนอาคารสถานีตํารวจ ที่มีสภาพชํารุดทรุดโทรม มากกว่า 30 ปีขึ้นไป จํานวน 396 หลัง ภายในวงเงิน 6,672 ล้านบาท ทั้งนี้ ขอให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ จัดลําดับความสําคัญของรายการก่อสร้างเพื่อให้สามารถ ก่อสร้างให้แล้วเสร็จกระจายไปยังพื้นที่จะได้รวดเร็วใช้การได้ ซึ่งกองพลาธิการและสรรพาวุธ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ 0009.24/1995 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2552 เสนอข้อพิจารณา เกี่ยวกับแนวการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) ดังนี้
1. จัดจ้างโดยส่วนกลาง สํานักงานตำรวจแห่งชาติ แบบรวมการใน ครั้งเดียว สัญญาเดียว 396 หลัง
2. จัดจ้างโดยส่วนกลาง สํานักงานตำรวจแห่งชาติ-แบบรวมการใน ครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1- 9) และทําสัญญา 9 สัญญา
3. จัดจ้างโดยตํารวจภูธรภาค
4. จัดจ้างโดยตํารวจภูธรจังหวัด
@ ตั้ง ‘พงศพัศ’ ปธ.พิจารณา-สรุปจัดจ้างโดยส่วนกลาง แยกเสนอราคารายภาค
และมีความเห็นว่าควรแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณา และเลือกแนวทางในการจัดจ้างโครงการดังกล่าว ซึ่งผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (พลตํารวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ) สั่งการเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการในระดับสํานักงานตํารวจแห่งชาติขึ้นมาเพื่อพิจารณาและเลือกแนวทางในการดําเนินการจัดจ้างโครงการดังกล่าว โดยมอบหมายให้ พลตํารวจโท พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (ฝ่ายบริหาร 11) เป็นประธานกรรมการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1, 2 และภาค 7 ผู้บัญชาการสํานักงาน กฎหมายและสอบสวน ผู้บังคับการกองงบประมาณ ผู้บังคับการกองการเงินผู้บังคับการกอง สวัสดิการ และผู้บังคับการกองพลาธิการและสรรพาวุธ ร่วมเป็นคณะกรรมการ ทั้งนี้ ให้พิจารณา คำสั่งสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ที่ 203/2552 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดําเนินการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการ สถานีตํารวจ (ทดแทน) ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดําเนินการจัดจ้างโครงการ ก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) ได้ร่วมประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 โดยมี พลตํารวจโท พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (ฝ่ายบริหาร 11) เป็นประธาน ผลการประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการดําเนินการจัดจ้างและการก่อสร้าง โดยพิจารณาข้อดี-ข้อเสียในการดําเนินการตามที่กองพลาธิการและสรรพาวุธได้จัดทํารายละเอียดเสนอ และมีมติเห็นควรดําเนินการจัดจ้าง โดยส่วนกลางและแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค ซึ่งสามารถดําเนินการได้ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 มีความรวดเร็วในการดําเนินการจัดจ้าง และน่าจะเป็น ผลดีต่อการดําเนินโครงการ โดยสํานักงานตํารวจแห่งชาติจะได้รับอาคารที่ทําการสําหรับไว้ใช้ในราชการในระยะเวลาใกล้เคียงกันทุกจังหวัดในการประกวดราคาเพียงครั้งเดียว
@ ครั้งแรก‘สุเทพ’ เห็นชอบ แต่ไม่ได้ดำเนินการ คาดกลัวครหา ‘แบ่งซื้อแบ่งจ้าง’
ทั้งนี้ จะให้แต่ละภาคช่วยในการประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างในพื้นที่ทราบเพื่อให้การดําเนินการประกวดราคาเปิด กว้างอีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสผู้รับจ้างในทุกส่วนภูมิภาคเข้าร่วมการเสนอราคา สํานักงานตํารวจ แห่งชาติ พิจารณาแล้ว เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความอนุเคราะห์เป็นกรณีพิเศษ โดยผูกพัน งบประมาณปี 2552-2554 และโครงการนี้ยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย ดังนั้น เพื่อให้การดําเนินการประกวดราคาเปิดกว้าง และเปิดโอกาสผู้รับจ้างในส่วนกลางและส่วน ภูมิภาคเข้าร่วมแข่งขันการเสนอราคาด้วยความเป็นธรรม เห็นควรดําเนินการจัดจ้างโดย ส่วนกลาง แบบรวมการครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1-9) ซึ่งผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (พลตํารวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ) ได้ขอความเห็นชอบต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติการแทน นายกรัฐมนตรี ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความ เห็นชอบตามที่เสนอเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 แต่ก็ไม่ได้ดําเนินการ ซึ่งผู้แทนสํานักงานตํารวจแห่งชาติอ้างว่าไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ได้ดําเนินการทั้งที่โครงการได้รับความเห็นชอบแล้ว จากรองนายกรัฐมนตรีฯ เนื่องจากผู้แทนสํานักงานตํารวจไม่ได้เป็นคณะกรรมการในช่วงเวลา ดังกล่าว แต่พอจะคาดได้ว่าจากการนําหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0408.4/4752 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เนื่องจากได้รับงบประมาณมาคราวเดียวเกรงว่าจะเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง แต่ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่ได้ดําเนินการ
@เปลี่ยน ผบ.ตร. ‘ปทีป’เปลี่ยนวิธีจัดจ้างครั้งเดียว-สุเทพ เห็นชอบ
ต่อมาสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ได้เปลี่ยนผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติใหม่โดยพลตํารวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ได้ขออนุมัติหลักการในการดําเนินการประกวด 1 ราคาจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) จํานวน 396 หลัง ซึ่งจากเดิมดำเนินการจัดจ้างโดยส่วนกลาง แบบรวมการครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาด (ภาค 1-9) มาดำเนินการใหม่ วงเงิน 6,298 ล้านบาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดย ยธ. เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว ข้อดี -ข้อเสียที่รวมศูนย์ ครั้งเดียว คือ ประหยัดงบประมาน ได้ 450 ล้านบาทได้แบบมาตรฐานในการก่อสร้างเป็นแบบ เดียวกันหมด ข้อเสียมีผู้รับจ้างรายเดียวอาจจะล่าช้า ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 การคํานวณราคากลางตามแบบมาตรฐานทั้ง 3 แบบ คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ จะมี ปริมาณวัสดุเท่ากัน ต่างกันที่ เหล็ก หิน ดิน ทรายไม่เท่ากันให้ใช้ราคาตามราคาวัสดุของแต่ละ จังหวัดโดยใช้ราคาปัจจุบัน ตามราคาของพาณิชย์จังหวัด ซึ่งแต่ละแบบจะกําหนดฐานรากไว้ 3 แบบ คือ แบบเข็มตอก แบบเข็มเจาะ และแบบฐานแผ่ และเบื้องต้นได้กําหนดให้ผู้เสนอราคา เสนอราคาเป็นเสาเข็มตอกความยาว 21 เมตร ทั้งหมด 396 หลัง เมื่อชนะการประกวดราคา แล้ว สํานักงานฯ จะได้สํารวจดินของแต่ละแห่งเพื่อจะได้พิจารณาว่าควรจะใช้ฐานรากแบบใด
ส่วนการคำนวณราคากลาง ได้คำนวณจากต้นทุนของแต่ละแห่งแล้วนำมารวมกันทั้งหมดเพื่อไปหาค่า F เมื่อได้ค่า F แล้ว จึงนำค่า F ที่หาได้คูณทั้ง 396 หลัง
ทั้งหมดเป็นความเห็นของผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามที่ปรากฎในรายงานประชุม อก.พก. ครั้งที่ 11 /2554 วันที่ 30 มิ.ย.2554 จะเห็นว่า การจ้างเหมาก่อสร้างโรงพัก ทดแทน396 หลัง มีการเปลี่ยนจากวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง จากเดิมดำเนินการจัดจ้างโดยส่วนกลาง แบบรวมการครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาด (ภาค 1-9) มาเป็น จัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว นำไปสู่ปัญหาผู้รับเหมาสร้างไม่เสร็จตามสัญญา
เป็นประเด็นของการตรวจสอบอยู่ในขณะนี้
อ่านประกอบ:
เปิด 4 ข้อสังเกต กรมบัญชีกลางปมจ้างเหมาโรงพัก 396 หลัง ชัด‘ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.’