กางระเบียบ ป.ป.ช. เอื้อปิดข้อมูลคดีทุจริตตาม ม.36 กม.ใหม่ กระทบงานหรือผูกขาดตรวจสอบ?
“…หากท้ายที่สุดเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ยอมเผยแพร่เรื่องกล่าวหาที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงอีก โดยอ้างตามมาตรา 36 และระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้อ 8 จะทำให้การตรวจสอบคดีทุจริตต่าง ๆ ในชั้น ป.ป.ช. เป็นไปอย่างยากลำบากกว่าเดิม เพราะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ก็ไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้มากนัก และ ป.ป.ช. ก็ไม่ค่อยแถลงข่าวอัพเดตความคืบหน้าของคดีเหมือนที่เคยผ่านมาในอดีต ที่มีการอัพเดตอย่างน้อย 1-2 เดือนครั้ง…”
นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ สร้างความเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบหลายอย่าง โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. ที่พบว่า ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. 2561 เป็นต้นมา เว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ปกปิดข้อมูลเรื่องที่อยู่ระหว่างการกล่าวหาข้อเท็จจริง โดยอ้างว่าเป็นไปตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2560 นอกจากนี้ในส่วนของคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด คดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ตีตกข้อกล่าวหา และบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่สามารถเข้าตรวจดูได้ โดยระบุว่า อยู่ระหว่างปรับปรุง (อ่านประกอบ : อ้างอำนาจม.36กม.ใหม่! ป.ป.ช. รีบถอดข้อมูลบัญชีคดีไต่สวนทุจริตเกลี้ยงเว็บ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยทวงถามไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. อย่างน้อย 2 ครั้ง เบื้องต้นผู้บริหารในสำนักงาน ป.ป.ช. ให้คำตอบมาว่า อยู่ระหว่างการปรับปรุงตามปกติ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เมื่อติดต่อไปอีกครั้งคราวนี้ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยันว่า อยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบ และประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่อยู่ คาดว่าภายในเดือน ก.ย. 2561 จะเปิดข้อมูลให้ประชาชนเข้าไปดูได้ตามเดิม (อ่านประกอบ : เดี๋ยวเปิดให้ดูอีก!ป.ป.ช.ยันถอดข้อมูลคดีทุจริตออกเพื่อปิดผู้แจ้งเบาะแสตาม กม.ใหม่, ทำระเบียบอยู่!ป.ป.ช.ยัน ก.ย.รู้ผล เปิดให้ดูข้อมูลคดีระหว่างไต่สวน-บัญชีทรัพย์สิน)
ต้องเข้าใจก่อนว่า ทำไมการที่เว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. ปกปิดข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ให้ประชาชน หรือสื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลถึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ผ่านมาข้อมูลในเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. โดยเฉพาะการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นช่องทางหนึ่งที่ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนใช้ในการตรวจสอบนักการเมือง
นักการเมืองรายใหญ่ ๆ ที่ผ่านมาในอดีต ที่เคยถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สินเท็จ หรือจงใจซุกบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สิน หรือทรัพย์สินหรือหนี้สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากการตรวจสอบข้อมูลจากสื่อมวลชน หรือภาคประชาชนแทบทั้งสิ้น มีน้อยมากที่ ป.ป.ช. ยกเหตุอันควรไต่สวนเอง เว้นแต่กรณีข้าราชการระดับสูง หรือนักการเมืองท้องถิ่น เพราะบัญชีทรัพย์สินเหล่านั้นไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน
นี่ยังไม่นับเรื่องที่ถูกกล่าวหาอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป ที่หลายปีหลังมานี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มักไม่ค่อยแถลง หรืออัพเดตความคืบหน้าคดีสำคัญ ๆ ให้ประชาชน หรือสื่อมวลชนรับทราบ ทำให้ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ค่อนข้างมีความสำคัญว่า ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการรายใด ถูกไต่สวนเรื่องทุจริตอยู่บ้างง รายใดถูกชี้มูลไปแล้ว หรือรายใดข้อกล่าวหาไม่มีมูลถูกตีตกไปแล้ว
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2561 ไลน์ NACC Zero Tolerance ที่จัดทำโดยสำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ป.ป.ช. เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูลการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีต่าง ๆ และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงให้ทราบ ดังนี้
มาตรา 36 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ บัญญัติว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใด จะเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคลบรรดาที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่มิได้
การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในแต่ละขั้นตอนห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือกระทำการใดอันจะทำให้ ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว การเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ในขั้นตอนการไต่สวน ห้ามเปิดเผยชื่อผู้ถูกร้อง เว้นแต่มีเหตุอันจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว
(2) เมื่อได้ดำเนินการไต่ส่วนหรือไต่สวนเบื้องต้นแล้วมีพยานหลักฐานพอสมควรก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาวินิจฉัย การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(3) เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นหรือวินิจฉัยว่าผู้กล่าวหามีพฤติการณ์การกระทำความผิด ให้เปิดเผยความเห็นหรือคำวินิจฉัยได้ เว้นแต่จะเปิดเผยชื่อผู้กล่าวหาผู้แจ้งเบาะแสและ ผู้ซึ่งเป็นพยานมิได้ และต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ห้ามมิให้มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสำนวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นความลับของทางราชการ
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ.2561 เพื่อบังคับใช้ให้สอดคล้องกับมาตรา 36 ดังกล่าวแล้ว
โดยเฉพาะข้อ 8 แห่ง ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฉบับดังกล่าว ระบุว่า ห้ามมิให้กรรมการ ป.ป.ช. พนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใด เปิดเผยข้อมูลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ข้อมูลเฉพาะของบุคคล
(2) ข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของพยาน หรือกระทำการใดอันจะทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามที่ระเบียบนี้กำหนด
(3) ข้อมูลรายงานและสำนวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้น ให้ผู้ไต่สวนหรือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ และอำนาจเกี่ยวข้องตามระเบียบนี้ ทำความเห็นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาและมีมติ เว้นแต่ระเบียบนี้จะได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
ภายใต้บังคับมาตรา 36 วรรคสอง เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย อาจเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ในชั้นไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นเพื่อให้สาธารณชนทราบ ทั้งนี้ การเปิดเผยดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือความปลอดภัยในชีวิต หรือทรัพย์สินของบุคคล หรือความเที่ยงธรรม (อ่านระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฉบับเต็ม ที่นี่)
หากพิจารณาจากข้อ 8 ในระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องปิดข้อมูลเรื่องกล่าวหาที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง คือ การห้ามเปิดเผยข้อมูลการไต่สวนในคดีอย่างเด็ดขาด เว้นแต่เป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้น แต่หากมีกรณีจำเป็นจริง ๆ จะต้องทำเรื่องถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
และนั่นอาจให้คำตอบว่า ในช่วงหลายเดือนหลังมานี้ หากใครอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสัมภาษณ์กรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. บ่อย ๆ จะพบว่า เมื่อสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์กรรมการ ป.ป.ช. เลขาธิการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ป.ป.ช. จากเดิมเวลาแหล่งข่าวพูดคุยหรือเล่าอะไรสามารถใช้คำว่า ‘กล่าวว่า’ ‘เปิดเผยว่า’ หรือ ‘ระบุว่า’ แต่ปัจจุบันต้องใช้คำว่า ‘ให้สัมภาษณ์ว่า’ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อไม่ให้เข้าตามข้อ 8 ในระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฉบับนี้
ข้อมูลเรื่องกล่าวหาที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงสำคัญอย่างไร ?
ข้อมูลในส่วนนี้จะทำให้เราทราบได้ว่า หลายเรื่องที่มีการร้องเรียนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปถึงไหน อย่างไรบ้าง มีคดีไหนที่นักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐถูกไต่สวน แล้วคดีคืบหน้าไปถึงไหนแล้วบ้าง หรือบางคดีที่ยังค้างคาอยู่สาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งที่ผ่านมาเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. มีการอัพเดตมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มีผลบังคับใช้ดังกล่าว ทำให้ต้องปิดข้อมูลส่วนนี้โดยอ้างมาตรา 36 ดังกล่าว
แต่หากท้ายที่สุดเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ยอมเผยแพร่เรื่องกล่าวหาที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงอีก โดยอ้างตามมาตรา 36 และระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้อ 8 จะทำให้การตรวจสอบคดีทุจริตต่าง ๆ ในชั้น ป.ป.ช. เป็นไปอย่างยากลำบากกว่าเดิม เพราะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ก็ไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้มากนัก และ ป.ป.ช. ก็ไม่ค่อยแถลงข่าวอัพเดตความคืบหน้าของคดีเหมือนที่เคยผ่านมาในอดีต ที่มีการอัพเดตอย่างน้อย 1-2 เดือนครั้ง
ส่วนระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป ปัจจุบันยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลออกมาว่า จะวางหลักเกณฑ์อย่างไรกันบ้าง
คงต้องรอดูในห้วงเดือน ก.ย. 2561 ตามที่เลขาธิการ ป.ป.ช. บอกว่า จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ ท้ายที่สุดจะมีผลออกมาในทิศทางใด ?