เปิด 4 พฤติการณ์โกง...โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ชายแดนใต้
ปฏิบัติการตรวจสอบความไม่โปร่งใสครั้งใหญ่ในโครงการก่อสร้างของสำนักงานชลประทานจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสำนักงาน ป.ป.ท. ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการสร้างธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ปลายด้ามขวาน หลังจากถูกละเลยและซุกปัญหาไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน
ที่ผ่านมามีความพยายามขององค์กรตรวจสอบในพื้นที่ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนบางแขนง ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแบบไร้การตรวจสอบถ่วงดุลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขณะที่ในฝั่งของทหาร และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็ถูกตรวจสอบอยู่บ้างในเรื่องเม็ดเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ทุ่มลงไป แต่กลับไม่มีผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนมากพอ
นอกเหนือจากนั้นก็เป็นปัญหาการหักเบี้ยเลี้ยงกำลังพล ซึ่งก็มีทั้งโดยสุจริต และไม่ค่อยจะสุจริต แต่การตรวจสอบก็ไม่เป็นระบบเท่าที่ควร...
สำหรับ ศอ.บต. หน่วยงานพิเศษที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยถูกตรวจสอบโครงการใหญ่ๆ ที่ใช้งบสูงๆ หลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม, โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปีที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส, โครงการติดตั้งเสาไฟและโคมโซลาร์เซลล์พันล้าน และล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้คือ "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" ที่ตกเป็นข่าวเกรียวกราว มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่เอง แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ มากที่สุดก็แค่ยุติการจัดซื้อล็อตใหม่ อย่างกรณีของตู้กรองน้ำเลี่ยมทอง
แต่ปฏิบัติการของ ป.ป.ท.กำลังนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาและสอบสวนทางวินัยกับข้าราชการและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการลุยตรวจสอบทุจริตของ ป.ป.ช.จังหวัด ที่เริ่มชงเรื่องให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ชี้มูลความผิดทั้งคดีอาญาและทางวินัยไปบ้างแล้วเช่นกัน
หลายฝ่ายวาดหวังว่าท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่เริ่มลดระดับลง จะส่งผลให้การขับเคลื่อนในประเด็นการตรวจสอบทุจริตเดินหน้าต่อไป โดยมีภาคประชาสังคมร่วมแรงร่วมใจทำไปพร้อมกัน และรัฐบาลมองเห็นความสำคัญด้วยการประกาศให้เป็น "วาระแห่งชาติ" ควบคู่ไปกับการสร้างสันติภาพผ่านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข
เพราะบ้านเมืองจะสุขสงบ ปราศจากความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำไปไม่ได้เลย หากยังมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมโหฬารปรากฏอยู่ดาษดื่นทั่วไป
สาเหตุของความไม่โปร่งใสในการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ มาจากเหตุปัจจัยที่สำคัญอย่างน้อยๆ 3 ประการ คือ
1.ช่องโหว่ที่เกิดจากภาครัฐเอง เพราะมีการยกเว้นการบังคับใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ไม่ต้องเปิดประกวดราคาในโครงการจัดซื้อจัดจ้างเกือบทุกประเภท ซึ่งเป็นเจตนาดีของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่าคงไม่มีผู้รับเหมาจากที่ไหนกล้าเข้าไปแข่งขันราคา เนื่องจากในพื้นที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ แต่นั่นได้กลายเป็นช่องว่างให้ข้าราชการหัวใส ทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบไม่โปร่งใส ฮั้วกันกับบริษัทเอกชนในเครือข่าย แบ่งผลประโยชน์กันลงตัวแทบทุกโครงการ
2.องค์กรตรวจสอบจากส่วนกลางไม่กล้าลงพื้นที่่ เนื่องจากปัญหาความรุนแรง ทำให้หน่วยราชการทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นย่ามใจ จับมือกับผู้รับเหมาหากำไรจากโครงการก่อสร้างกันอย่างไม่เกรงใจประชาชน ส่งผลให้งานก่อสร้างที่ตรวจรับงานและเบิกงบกันไปหมดแล้ว มีปัญหาผิดสเปค ผิดแบบแทบทุกจุด ทุกโครงการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือโครงการของสำนักงานชลประทานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ ป.ป.ท.กำลังตรวจสอบกันอยู่
ข้อมูลที่เล่าต่อๆ กันมาแต่ทุกฝ่ายยืนยันตรงกันว่าจริง ก็คือตลอดหลายปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากองค์กรตรวจสอบหลายองค์กร นั่งตรวจแบบแปลนก่อสร้าง และเซ็นแบบอยู่ที่โรงแรมหรูใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เท่านั้น ไม่เคยเข้าพื้นที่เลยสักครั้ง อาคารของหน่วยงานบางแห่งสร้างไม่ครบจำนวนชั้นตามที่กำหนดในแบบด้วยซ้ำไป เช่น แบบกำหนดไว้ 3 ชั้น สร้างจริงแค่ 2 ชั้น ฯลฯ
3.การแอบแฝงสร้างสถานการณ์ความไม่สงบของกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อหวังให้งบประมาณลงพื้นที่ของตัวเอง เช่น กรณีที่เคยมีการจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุเผาสถานที่ราชการได้ ปรากฏว่ารับจ้างมาจากนักการเมืองท้องถิ่นที่มีอาชีพเป็นผู้รับเหมาอีกที
จากช่องโหว่ 3 ประการ นำมาสู่บทวิเคราะห์ขององค์กรตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช.จังหวัด ที่สรุปรายงานส่งไปยังหน่วยเหนือ จาระไนพฤติการณ์ความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการของทุกหน่วยงานในพืนที่ จำนวน 4 พฤติการณ์ด้วยกัน ประกอบด้วย
1.บริษัทเอกชนที่ได้เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ จะเสนอราคาต่ำกว่าหรือเท่ากับราคากลาง ขณะที่บริษัทอื่นที่เข้าร่วมเสนอราคาด้วย เรียกว่า "บริษัทคู่เทียบ" จะเสนอราคาสูงกว่าราคากลางเสมอ (พฤติการณ์ฮั้ว)
2.โครงการประเภทงานก่อสร้าง บริษัทผู้รับเหมาในแต่ละพื้นที่จะเสนอราคาแบบสลับกัน เพื่อกระจายการได้เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ ลักษณะคล้าย "แบ่งเค้ก" กัน เช่น โครงการ A บริษัท ก. เสนอราคาต่ำสุด ส่วนบริษัทที่เหลือจะเสนอราคาสูงกว่าเสมอ แต่พอเป็นโครงการ B ในพื้นที่เดียวกัน บริษัท ก.จะเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง เพื่อสลับให้บริษัท ข. หรือบริษัทอื่นในเครือข่ายเดียวกันเสนอราคาต่ำกว่าบ้าง (พฤติการณ์ฮั้ว)
3.โครงการประเภทจัดซื้อในวงเงินงบประมาณสูงๆ บริษัทที่ได้เป็นคู่สัญญามักไม่ใช่ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ แต่จะเป็นบริษัทจากนอกพื้นที่ที่มีความสนิทสนมหรือใกล้ชิดกับข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้าง โดยบริษัทเหล่านี้จะเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อย ส่วนบริษัทอื่นที่ร่วมเสนอราคา เรียกว่า "บริษัทคู่เทียบ" จะเสนอราคาสูงกว่าราคากลางเสมอ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว บริษัทเหล่านี้ไม่มีทางได้งาน แต่เสนอเพื่อให้องค์ประกอบการจัดซื้อจัดจ้างแบบ "สอบราคา" โดยไม่ต้อง "ประกวดราคา" ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (พฤติการณ์แบ่งผลประโยชน์ระหว่างข้าราชการระดับสูงกับบริษัทเอกชนในเครือข่าย)
และ 4.ร้อยทั้งร้อยของโครงการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินงบประมาณเกิน 100,000 บาท จะใช้การ "จัดจ้างวิธีพิเศษ" โดยไม่มีการประกวดราคาเลย (พฤติการณ์ใช้ช่องโหว่ของระเบียบกฎหมายหาประโยชน์)
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่ขยะที่ถูกซุกไว้ใต้พรม ในเงาทะมึนของความรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน แต่มันคืออุตสาหกรรมการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 14 ปี จนกลายเป็นคำถามคาใจของผู้คนในสังคมมานานว่า นี่หรือเปล่าที่ทำให้ไฟใต้ไม่ดับมอดลงเสียที?!?
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ลามหลายอำเภอ! สร้างแนวป้องกันตลิ่งยะลาส่อโกง ส่งมอบงานผิดสเปค แต่เบิกงบฉลุย
สั่งเด้ง! 3 นายช่างชลประทานยะลาเซ่นโครงการป้องกันตลิ่งพัง
เปิดข้อมูลก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งยะลา ผิดสเปคอื้อ!
เคลียร์มั้ย? รมว.เกษตรฯแจงปม "ย้ายไม่ครบ" จนท.เอี่ยวเขื่อนป้องกันตลิ่งฉาว
ย้ายก่อนก็ไม่พ้น! สั่งสอบ ปธ.ตรวจการจ้างโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพังยะลา
เขี่ยลูก ปปง.สอบเส้นทางเงินโกงเขื่อนป้องกันตลิ่งยะลา - ขยายผล 32 โปรเจค!
ส่อง 32 โครงการชลประทานยะลา 489 ล้านถูก ป.ป.ท.สอบทุจริต
เลขาฯป.ป.ท. ชี้ จนท.รัฐหาประโยชน์กับไฟใต้ คือเงื่อนไขความไม่สงบ
สอบโกงชลประทานชายแดนใต้พ่นพิษ สั่งเร่งแก้งานหนีผิด?
ดีเดย์สัปดาห์หน้า! ป.ป.ท.ระดม จนท.ส่วนกลางลุยตรวจชลประทานชายแดนใต้
ป.ป.ท.ลุยตรวจ 29 โครงการยะลา ลือแซด จนท.ชลประทานสงขลาผูกคอดับ
ป.ป.ท.ตรวจเพิ่ม 7 โครงการ "ชลประทานยะลา" พบผิดสเปค-เร่งแก้งานอื้อ