กรมส่งเสริม อุตส.หนุนโอท็อปไทยรองรับอาเซียน ปล่อยกู้ 1 แสน-1 ล้าน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หนุนโอท็อป-เอสเอ็มอีไทย รองรับเปิดอาเซียน มีกองทุนหมุนเวียน 1 แสน-1 ล้าน แนะสร้างเครือข่ายภูมิภาคนำสินค้าโกอินเตอร์ตลาดโลก ผู้ประกอบการครวญพิษค่าแรง 300
เร็วๆนี้ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ จัดงาน “OTOP & SMEs Fair สัปดาห์ผลิตภัณฑ์ชุมชน” เพื่อโชว์ศักยภาพสินค้าไทยและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการแข่งขันในตลาดส่งออกประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ปี 58
น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่า การก้าวเข้าสู่เออีซีเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันมากขึ้นรอบด้านขึ้น ทั้งการพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าบริการ การผลิต การตลาดและการส่งออก เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มศิลปวัฒนธรรมที่นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทย รวมถึงต้องศึกษาและเลือกสีสันรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ตรงกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย
ทั้งนี้การชักนำสินค้าระดับชุมชน หรือโอท็อปไทยเข้าสู่เออีซี ยังเป็นการสร้างเครือข่ายในระดับกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งไทยมีข้อแข็งคือความชำนาญด้านการออกแบบ แต่ผลิตภัณฑ์บางชนิดจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน เราควรใช้โอกาสนี้สร้างเครือข่ายในภูมิภาคให้เข้มแข็ง เพื่อจะเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญส่งออกตลาดโลกได้ในอนาคต
“การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการทดสอบตลาด จึงหวังว่าผู้ประกอบการจะรับรู้รสนิยมของผู้บริโภค จนสามารถนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพื่ออนาคตจะสามารถต่อยอดการตลาดได้”
ผอ.สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ยังกล่าวว่า ปัจจุบันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้บริการกองทุนเงินหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการรายย่อยไม่เกินรายละ 1 แสนบาท โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือมากกว่า 1 แสนบาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาทโดยต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และช่วยหาตลาดสำหรับกระจายสินค้าแก่ผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ยังมุ่งเน้น 1.การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ 2.การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค และ 3.การควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สินค้าของไทยได้มาตรฐานสากล
ด้าน น.ส.สุธี อินทร์จ่อ ผู้ประกอบการผลิตชุดสังฆทาน กลุ่มแม่บ้านประภาศรี อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า สาเหตุที่หันมาทำชุดสังฆทานกระเป๋าบรรจุจีวร ผ้าห่มพระภิกษุกว่า 2 ปี เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นถัง จึงอาศัยความแปลกใหม่แย่งพื้นที่ตลาด โดยชุดเล็กราคา 299 บาท ชุดใหญ่ 999 บาท แม้จะมีอุปสรรคด้านการลงทุน เนื่องจากผ้าขึ้นราคาตามค่าแรง 300 บาทของรัฐบาล แต่กลับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้เพราะจะกระทบยอดขาย
นางเลอลักษณ์ ชวาลาวร ผู้ประกอบการผลิตขนมเปี๊ยะโบราณ กลุ่มแม่บ้านบางกะปิ กรุงเทพฯ กล่าวว่า จุดเด่นของขนมเปี๊ยะที่มีอายุกว่า 70 ปีคือแป้งนุ่มบาง ไส้เยอะ ที่สำคัญไม่ใส่สารกันบูด โดยสามารถเก็บได้นานถึง 1 เดือน มี 5 รส ได้แก่ รสพริกไทย ไข่เค็ม ใบเตย งาดำ และถั่วแดง ซึ่งขนมเปี๊ยะที่ขายดีที่สุด คือ รสไข่เค็มและถั่วแดง เพราะทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ราคาเพียงกล่องละ 30 บาท ทั้งนี้กว่าจะเป็นที่รู้จักของตลาดอย่างทุกวันนี้ ในระยะแรกกลุ่มแม่บ้านก็ประสบปัญหาเงินลงทุน จนได้รับความช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งด้านทุนและการตลาด และคาดหวังว่าในอนาคตจะต่อยอดสู่ตลาดระดับภูมิภาค โดยพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และรสชาติให้เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงศึกษาคู่แข่งทางการตลาด
ทั้งนี้ภายในงานยังมีผลิตภัณฑ์หลากหลายให้เลือกชมกว่า 50 ร้าน อาทิ เครื่องปั้นดินเผา ผลิตภัณฑ์จากกะลา บ้านทรงไทยจิ๋ว เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เสื้อผ้า โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ – 3 มิ.ย. 55 เวลา 10.00-20.00 น. ณ แกรนด์ฮอลล์ ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้