พลิกประวัติ‘บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์’ ไขคำตอบทำไมได้รับความไว้ใจนั่ง ผบ.ทบ.?
“…ชื่อของ ‘บิ๊กแดง’ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เคยเห็นฝีไม้ลายมือมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหารเมื่อปี 2549 แล้ว โดยขณะนั้น ‘บิ๊กแดง’ เป็นนายทหารระดับคุมกำลังระดับกองพันที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ว่ากันว่าคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 ‘บิ๊กแดง’ เป็นคนบอกฝ่ายนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ว่า “ผมอยู่กับพี่บัง (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ขณะนั้น)” ทำให้กลุ่มของนายทักษิณที่ออกมาเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารต้องยอมจำนน…”
ในบรรดารายชื่อนายทหารที่ได้รับการโปรดเกล้าฯล่าสุด 935 รายชื่อ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อของ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ถูกจับตามองมากที่สุด เพราะได้รับการขยับจากผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ให้มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตามความคาดหมาย (อ่านประกอบ : โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทหาร 935 ตำแหน่ง ไม่พลิก พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ.)
การคาดหมายว่า ‘บิ๊กแดง’ จะมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ถูกโหมสะพัดจากสื่อหลายสำนักที่อ้างแหล่งข่าวกระทรวงกลาโหมมาหลายปีแล้วว่า นายทหารสาย ‘วงศ์เทวัญ’ คนนี้ บุตรชายคนโต ‘บิ๊กจ๊อด’ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และอดีตผู้นำคณะรัฐประหารเมื่อปี 2534 ท้ายที่สุดจะก้าวมาเป็นผู้นำกองทัพบกในอนาคตอย่างแน่นอน
ทำไม ‘บิ๊กแดง’ ถึงถูกตั้งความคาดหวังว่า จะต้องมาเป็น ผบ.ทบ. ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกปูมชีวประวัติ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ มานำเสนอ ดังนี้
ข้อมูลทั่วไป ‘บิ๊กแดง’ หรือ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2503 (มีอายุรับราชการถึงปี 2563) เป็นบุตรชายคนโตของ ‘บิ๊กจ๊อด’ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และคุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 (ตท.20) และเรียนโรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่นที่ 31 (จปร.31)
นักเรียนเตรียมทหารรุ่นนี้ต่างได้รับตำแหน่งหน้าที่สำคัญในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นจำนวนไม่น้อย เช่น พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา นายทหารสาย ‘บูรพาพยัคฆ์’ จากแม่ทัพภาค 1 ขยับขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. หรือ พล.ต.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ นายทหารสาย ‘วงศ์เทวัญ’ ที่เป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 ซึ่งทั้ง 2 รายนี้ถูกคาดหมายว่า อาจขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก ‘บิ๊กแดง’
เส้นทางประวัติราชการของ ‘บิ๊กแดง’ ที่สำคัญ ๆ เช่น เคยเป็นฝ่ายเสนาธิการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) และรองเสนาธิการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (รอง เสธ.ร.11 รอ.) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 พัน 2 รอ.) ก่อนติดยศพันเอกในตำแหน่ง เสนาธิการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (เสธ.ร.11 รอ.)
ต่อมาก้าวเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.11 รอ.) ขยับเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนขึ้นเป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 ขยับเรื่อยมาเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ก่อนขยับไล่ตามไทม์ไลน์เตรียมขึ้น ‘5 เสือ ทบ.’ โดยเป็นแม่ทัพน้อยภาค 1 ต่อมาปี 2559 เป็นแม่ทัพภาค 1 ปี 2560 ขยับเข้าไลน์ ‘5 เสือ ทบ.’ เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. กระทั่งปี 2561 ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็น ผบ.ทบ.
ในช่วง 2 เดือนก่อนขยับเป็น ผบ.ทบ. เมื่อเดือน ก.ค. 2561 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อ่านประกอบ : โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นนายทหารพิเศษ)
ก่อนหน้านี้เคยได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนายทหารพิเศษประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์ สังกัดกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และนายทหารพิเศษประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์ สังกัดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
ชื่อของ ‘บิ๊กแดง’ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เคยเห็นฝีไม้ลายมือมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหารเมื่อปี 2549 แล้ว โดยขณะนั้น ‘บิ๊กแดง’ เป็นนายทหารระดับคุมกำลังระดับกองพันที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ว่ากันว่าคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 ‘บิ๊กแดง’ เป็นคนบอกฝ่ายนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ว่า “ผมอยู่กับพี่บัง (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ขณะนั้น)” ทำให้กลุ่มของนายทักษิณที่ออกมาเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารต้องยอมจำนน และปล่อยให้ พล.อ.สนธิ ยึดอำนาจในที่สุด
แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อของ ‘บิ๊กแดง’ เป็นที่รู้จักของสาธารณชนทั่วไปคือ เมื่อปี 2551 ‘บิ๊กแดง’ คือผู้ที่เข้าไปกระซิบนายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น ปัจจุบันหลบหนีคดีหมิ่นสถาบันฯอยู่ต่างประเทศ) ให้หยุดพฤติการณ์จาบจ้วงสถาบันฯ จนทำให้กลายเป็นที่รู้จักขึ้นมาระดับหนึ่ง
แต่เหตุการณ์ที่สร้างชื่อให้กับ ‘บิ๊กแดง’ อย่างมากคือ เมื่อปี 2553 ตอนดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ได้นำกำลังทหารปฏิบัติการยึดคืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคมที่ จ.ปทุมธานี จากการยึดครองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นผู้นำทหารกลุ่มสุดท้ายที่เหลืออยู่ 28 นายบนดาดฟ้าของอาคารที่ทำการสถานี เพื่อปกป้องสถานีเอาไว้ ก่อนเช้าวันถัดมาจะเจรจาเพื่อเปิดขอทางออกจากอาคารสำเร็จ
และอย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าช่วงปี 2553 ‘วอร์รูม’ ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่นำมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พร้อมด้วยนายทหารระดับสูง หารือกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์ม็อบ นปช. คือที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์นั่นเอง
นอกจากนี้ในช่วงเหตุการณ์ม็อบ นปช. เมื่อปี 2553 ‘บิ๊กแดง’ เป็นนายทหารคนสำคัญที่ออกมาปกป้องพี่น้อง ‘สาม ป.’ แห่งบูรพาพยัคฆ์หลายครั้ง โดยเฉพาะการนำทหารระดับผู้บังคับกองพันใน กทม. แสดงจุดยืนตำหนิพฤติกรรมของ ‘เสธ.แดง’ พล.ต.ขัติยะ สวัสดิผล แกนนำฮาร์ดคอร์คนเสื้อแดง ที่ชอบโจมตี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. (ขณะนั้น) บ่อยครั้ง
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของ ‘บิ๊กแดง’ เริ่มปรากฏทางสาธารณะมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับสื่อหลายสำนักที่เริ่มประโคมข่าวคาดหมายว่า ผบ.ทบ. ในอนาคตจะต้องมีชื่อของ ‘บิ๊กแดง’ เข้าไปอยู่ด้วยแน่นอน
อย่างไรก็ดีรัฐบาลต่อมานำโดยพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายเพื่อไทยต่างกังวลถึงสถานการณ์ทางทหารเป็นอย่างมาก ทำให้ ‘บิ๊กตู่’ เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ. แล้ว ต้องโยก ‘บิ๊กแดง’ ไปอยู่มณฑลทหารบกที่ 11 จ.ฉะเชิงเทรา และมณฑลทหารบกที่ 15 จ.เพชรบุรี เพื่อลดความหวาดระแวงจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย
แต่แล้วหลังเกิดเหตุการณ์ม็อบ กปปส. ใกล้สุกงอมเมื่อเดือน เม.ย. 2557 ‘บิ๊กตู่’ ดึง ‘บิ๊กแดง’ มาเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) เพื่อคุมกำลังรบใน กทม. ซึ่งค่ายนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นค่ายหลักที่ถูกเรียกใช้ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารมาตั้งแต่ในอดีต กระทั่ง 1 เดือนถัดมา คสช. ก็ประกาศยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์
การมาถึงของ คสช. ที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เส้นทางชีวิตราชการของ ‘บิ๊กแดง’ เด่นชัดมากยิ่งขึ้น ‘บิ๊กตู่’ เรียกใช้ ‘บิ๊กแดง’ ทันทีให้มาเป็นหนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมด้วยบรรดานายทหารระดับสูงอีกนับร้อยนาย
ต่อมาเดือน พ.ค. 2558 ช่วงนั้นเกิดปัญหาข้อร้องเรียนว่า หวยมีราคาค่อนข้างแพง และมีการร้องเรียนกล่าวหาว่า มีกลุ่มอิทธิพลอยู่เบื้องหลังตัวแทนจำหน่ยสลากกินแบ่งรัฐบาล ขณะเดียวกันสำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้เปิดโปงการโควตาการจำหน่ายหวยว่า เอกชนหรือมูลนิธิใดบ้างเป็นเจ้ามือรายใหญ่รับมือหวยไปขาย ทำให้ประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ร้อนถึง ‘บิ๊กตู่’ ต้องแต่งตั้ง ‘บิ๊กแดง’ เป็น ผอ.กองสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วน
นโยบายแรกของ ‘บิ๊กแดง’ คือให้ราคาหวยทั่วประเทศต้องขายไม่เกิน 80 บาท หากพบว่ามีร้านค้าใดจำหน่ายเกินราคาจะต้องถูกดำเนินคดีอย่างแน่นอน เรียกเสียงเฮให้กับประชาชนจำนวนมาก หลังจากนั้น ‘บิ๊กแดง’ ได้จัดสรรโควตาการจำหน่ายสลากใหม่ รื้อโครงสร้างโควตาเจ้ามือหวยทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
นอกเหนือจากสถานะเป็น ผอ.กองสลากกินแบ่งรัฐบาล แก้ไขสารพัดปัญหาโควตาหวยแล้ว อีกสถานะหนึ่ง ‘บิ๊กแดง’ ก็ได้รับการเลื่อนขั้นเข้าสู่ไทม์ไลน์ ‘5 เสือ ทบ.’ ทุก ๆ ปี โดยปี 2559 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ปี 2560 ขยับเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. กระทั่งปี 2561 จึงได้รับการโปรดเกล้าฯเป็น ผบ.ทบ. ในที่สุด
ทั้งหมดคือชีวประวัติสำคัญ ๆ ก่อนก้าวขึ้นมาสู่การเป็น ผบ.ทบ. และอาจไขคำตอบได้ส่วนหนึ่งว่าทำไม ผบ.ทบ. ตอนนี้ถึงต้องเป็น ‘บิ๊กแดง’ ?