กางระเบียบ ก.พ. บรรจุราชการ ‘แบม’ แฉโกงเงินคนจน ทำได้หรือไม่-ควรทำอย่างไร?
"...มาตรา 55 ในกรณีที่มีเหตุพิเศษ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 อาจคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยไม่ต้องดำเนินการสอบแข่งขันตามมาตรา 53 ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด..."
เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงของคนในสังคมเป็นอย่างมาก สำหรับกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เตรียมบรรจุ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา (แบม) อดีตนิสิตสาขาวิชาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เข้ารับราชการ หลังจากเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น
ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นต่อในกรณีนี้ มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่คัดค้านไม่เห็นด้วย
ขณะที่ผู้บริหารในฝ่ายรัฐบาล ก็ออกมาแสดงความเห็นตามบทบาทหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้นำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมคณะกรรามการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พบว่ามีช่องทางที่สามารถทำได้โดยถูกกฎหมาย คือ กรณีที่บุคคลใดเป็นความต้องการของทางราชการ และเป็นผู้ที่มีคุณงามความดีพิเศษ เช่นเดียวกับที่เราบรรจุนักกีฬาหรือใครก็ตามที่ทำชื่อเสียงให้ประเทศสามารถทำได้ โดยการให้สำนักงาน ป.ป.ท. เสนอเรื่องมาที่ ก.พ. และขอพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งสามารถทำได้ และทำได้กับทุกรายถ้าเป็นกรณีเดียวกับน.ส.ปณิดา อีกทั้งในอดีตก็เคยทำมาแล้ว คือ 1.ต้องมีอัตราว่าง 2.เป็นความต้องการของทางราชการ และ3.บุคคลนั้นต้องเป็นบุคคลที่มีคุณงามความดี มีชื่อเสียงที่สมควรจะได้รับการสนับสนุนเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นการลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติ เพราะนี่เป็นเกณฑ์หนึ่งในการเสาะแสวงหาบุคคลบางประเภทเข้ามาทำงานราชการ (อ้างอิงข่าวจาก : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/811779)
ขณะที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า ตามหลักเกณฑ์การรับบรรจุเป็นข้าราชการของกระทรวง เป็นไปตามระเบียบ ก.พ. ไม่สามารถบรรจุได้ทันที ต้องมีการสอบ หากไม่สอบแต่ใช้วิธีพิเศษต้องตกลงกับ ก.พ. ก่อน เช่น เดียวกับสำนักงาน ป.ป.ท. ก็มีหลักเกณฑ์เดียวกัน ต้องมีการสอบก่อน
“แม้แต่ผมยังไม่มีอำนาจบรรจุใครเลย ต้องให้ ก.พ.ตัดสินว่ากรณีที่ไม่สอบ ก.พ.จะให้บรรจุหรือไม่ หากน้องแบมแสดงเจตนารมย์หรือมาสมัครในตำแหน่งที่ต้องการบรรจุแล้ว ก.พ. เห็นชอบก็ทำได้ ส่วนที่ ป.ป.ท.ระบุว่าจะรับและใช้วิธีพิเศษสำหรับบุคลที่ทำความดีและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ยังต้องตกลงกับ ก.พ.ตามหลักเกณฑ์เหมือนกัน ไม่เช่นนั้นหน่วยราชการก็คิดเองได้ว่าคนนี้พิเศษเข้าได้ ทำไม่ได้หรอก อย่างไรก็ไม่ได้ เพราะทั้งหมดเป็นขั้นตอนต้องปฏิบัติ แต่เขาคาดหวังว่าจะได้บรรจุเลย ซึ่งกติกาไม่มีและการทำดีคือให้รางวัลมีประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ แต่การบรรจุเป็นข้าราชการมีระเบียบ ก.พ. เขียนชัดต้องมีระบบคุณธรรมให้ความเท่าเทียมทุกคน ยกเว้นมีกรณีพิเศษให้ตกลงกับ ก.พ.เป็นกรณีไปและมีอัตราว่างด้วย”พล.อ.อนันตพร กล่าว (อ้างอิงข่าวจาก : https://www.thaipost.net/main/detail/16540)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา น.ส.ปณิดา เข้ายื่นใบสมัครและเอกสารประกอบการสมัครงานกับ นายทองสุข ณ พล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขตพื้นที่ 4 ขอนแก่น แล้ว โดยนายทองสุข ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้เป็นการรับใบสมัครของ น.ส.ปณิดา เท่านั้น โดยหลังจากที่ ป.ป.ท.เขต 4 ขอนแก่น รับใบสมัครและเอกสารประกอบการสมัครเข้าทำงานดังกล่าวแล้ว จะส่งต่อไปยัง ป.ป.ท.ส่วนกลาง เพื่อพิจารณาตำแหน่งสำหรับ น.ส.ปณิดา โดยขั้นตอนในวันนี้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการตามปกติที่ทุกคนทำ (อ้างอิงข่าวจาก : https://www.thairath.co.th/content/1367702)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบวิธีการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการจากสำนักงาน ก.พ. พบว่า นอกเหนือจากวิธีการสอบแข่งขันแล้ว อาจมีกรณีที่มีเหตุพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการสอบแข่งขัน เช่น กรณีคุณวุฒิที่หาผู้สำเร็จการศึกษาได้ยาก หรือผู้ได้รับทุนจากรัฐบาล เป็นต้น
เมื่อตรวจสอบตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หมวด 3 การสรรหา การบรรจุ และการแต่งตั้ง ระบุเกี่ยวกับการรับบุคคลเข้าเป็นราชการไว้ สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
มาตรา 52 การสรรหาเพื่อให้ได้บุคคลมาบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าว ตลอดจนประโยชน์ของทางราชการ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในหมวดนี้
มาตรา 53 การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ให้บรรจุและแต่งตั้งจากผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งนั้น โดยบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
การสอบแข่งขัน การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ และรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบแข่งขันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการตามมาตรา 55 มาตรา 56 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 65
มาตรา 54 สมัครสอบแข่งขันในตำแหน่งใด ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม หรือได้รับการยกเว้นในกรณีที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 และต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งหรือได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ตามมาตรา 62 ด้วย
สำหรับผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 ข. (1) ให้มีสิทธิสมัครสอบแข่งขันได้แต่จะไม่มีสิทธิได้รับบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญที่สอบแข่งขันได้ต่อเมื่อพ้นจากการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว
มาตรา 55 ในกรณีที่มีเหตุพิเศษ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 อาจคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยไม่ต้องดำเนินการสอบแข่งขันตามมาตรา 53 ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด
มาตรา 56 กระทรวงหรือกรมใดมีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่ง จะบรรจุบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญงานสูง เข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ หรือทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งประเภททั่วไประดับทักษะพิเศษ ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด
พิจารณาตาม มาตรา 53, 55 และ 56 จะเห็นว่า ช่องทางการเข้าเป็นข้าราชการพลเรือนนั้น มี 3 ช่องทางหลัก คือ การสอบแข่งขันตามมาตรา 53 กรณีที่มีเหตุพิเศษโดยไม่ต้องสอบแข่งขันตามมาตรา 55 และเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการบุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญสูงตามมาตรา 56
ซึ่งกรณีการบรรจุ น.ส.ปณิดา ใกล้เคียงกับความตามมาตรา 55 คือ กรณีที่มีเหตุพิเศษผู้มีอำนาจสั่งบรรจุสามารถเลือกกบุคคลเข้ารับราชการและแต่งตั้งตำแหน่ง โดยไม่ต่องสอบแข่งขัน แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการยืนยันว่า ใช้วิธีการดังกล่าวนี้หรือไม่
ข้อสังเกต : “กรณีที่มีเหตุพิเศษ” ตามความใน มาตรา 55 มีลักษณะอย่างไรถึงจะเรียกได้ว่าเหตุพิเศษ ซึ่งไม่มีการอธิบายความที่แน่ชัด กระนั้นความเหมาะสมในการตีความทางกฎหมายจะใช้มาตรฐานใดในการพิจารณา
ส่วนกรณีที่ นายวิษณุ ระบุว่า กรณีการบรรจุดังกล่าวใช้รูปแบบเดียวกันกับการบรรจุนักกีฬาหรือใครก็ตามที่ทำชื่อเสียงให้ประเทศ นั้น
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบระเบียบการบรรจุผู้มีความสามารถทางด้านกีฬาเข้ารับราชการตำรวจ ใน ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 4 การบรรจุ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 (ดูที่ : http://www.tsd.police.go.th) ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับการบรรจุผู้มีความสามารถทางด้านกีฬาเป็นข้าราชการตำรวจ ระบุว่า
บทที่ 5 การบรรจุบุคคลภายนอกผู้มีความสามารถทางด้านกีฬา
ข้อ 1 การบรรจุแต่งตั้งบุคคลภายนอกผู้มีความสามารถด้านกีฬาเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ นอกจากจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้สมัครจะต้องมีประวัติ ผลงาน และความสามารถด้านกีฬาข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
1.1 เป็นนักกีฬาทีมชาติ
1.2 เป็นนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ
1.3 เป็นนักกีฬาตัวแทนนักเรียนเข้าแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติที่ดำเนินการโดยกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
1.4 เป็นนักกีฬาเข้าแข่งขันกีฬาแห่งชาติหรือเยาวชนแห่งชาติและได้รับรางวัลที่หนึ่งถึงรางวัลที่สาม เว้นแต่ผู้ที่เข้าศึกษาอบรมในหลักสูตรนักเรียนสิบตำรวจเป็นพียงนักกีฬาเขตที่เข้าแข่งขันในกีฬาแห่งชาติก็ได้
1.5 เป็นนักกีฬาที่เข้าแข่งขันกีฬากรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และได้รับรางวัลที่หนึ่งถึงรางวัลที่สาม
1.6 เป็นนักกีฬาที่เข้าแข่งขันกีฬาชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดโดยสมาคมกีฬาที่การกีฬาแห่งประเทศไทยรับรอง และได้รับรางวัลที่หนึ่งถึงรางวัลที่สาม
1.7 เป็นนักกีฬาที่เข้าแข่งขันกีฬา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการ และได้รับรางวัลที่หนึ่งถึงรางวัลที่สาม
1.8 เป็นนักกีฬาที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม 1.1 ถึง 1.7 แต่เป็นความต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
จะเห็นได้ว่าการบรรจุผู้มีความสามารถทางด้านกีฬาเข้ารับราชการตำรวจตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าว มีการระบุรายละเอียดที่ชัดเจน ว่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ต่างจาก มาตรา 55 ในระเบียบการรับบรรจุราชการพลเรือนของ ก.พ.
จุดพิจารณาที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ หน้าที่ของปวงชนชาวไทย อันระบุไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ใน มาตรา 50 ระบุว่า บุคคลมีหน้าที่ต่อไปนี้ (ดูที่ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF)
(1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(2) ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(3) ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
(4) เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ
(5) รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ
(6) เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
(7) ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ
(8) ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม
(9) เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ
(10) ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ
หากพิจารณาตาม มาตรา 50 (10) ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ดังกล่าวนั้น ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนไทยที่ต้องปฏิบัติเป็นปกติ ตามความในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วหรือไม่ และการกระทำตามความดังกล่าวนี้ ถือเป็นการกระทำที่สามารถตีความได้ว่าเป็น “กรณีที่มีเหตุพิเศษ” ตาม มาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้หรือไม่
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อเท็จจริงทางกฎหมายต่อกรณีนี้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ รวมไปถึงตัว น.ส.ปณิดา ยศปัญญา (แบม) เอง จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เลือกทางที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด
เพื่อไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็น 'รอยด่างพร้อย' มาทำลายภาพลักษณ์-จุดยืนของคนที่ได้ชื่อว่า มีเจตนาดีออกมาปราบปรามต่อต้านคนโกงเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม โดยเด็ดขาด!