ปชช. 67.47%ไม่เห็นด้วย เพิ่มโทษไม่พกใบขับขี่ ชี้ค่าปรับสูงไม่สมฐานความผิด
ปชช. 67.47%ไม่เห็นด้วย เพิ่มโทษไม่พกใบขับขี่ ชี้ค่าปรับสูงไม่สมฐานความผิด แนะควรไปเพิ่มโทษเมาแล้วขับ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การแก้กฎหมาย – เพิ่มโทษใบขับขี่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27 – 28 ส.ค. 2561
จากการสำรวจเมื่อถามถึงสถานะของท่านในการใช้รถใช้ถนน การขับขี่และการโดยสาร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.09 ระบุว่า เป็นผู้ขับขี่อย่างเดียว รองลงมา ร้อยละ 36.85 ระบุว่า เป็นทั้งผู้ขับขี่และบางครั้งก็เป็นผู้โดยสาร และร้อยละ 22.06 ระบุว่า เป็นผู้โดยสารอย่างเดียว
ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่กรมการขนส่งทางบกจะแก้กฎหมาย “การเพิ่มโทษกรณีไม่มีใบขับขี่/ใบขับขี่หมดอายุ” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.54 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 28.30 ระบุว่า เห็นด้วย และร้อยละ 0.16 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การเพิ่มโทษกรณีไม่พกใบขับขี่” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.47 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 32.05 ระบุว่า เห็นด้วย และร้อยละ 0.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
โดยผู้ที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วย กับการที่กรมการขนส่งทางบกจะแก้กฎหมาย “การเพิ่มโทษไม่มี/ไม่พกใบขับขี่ - หมดอายุ” ได้ให้เหตุผลว่า บทลงโทษมีความรุนแรงเกินไป โทษค่าปรับสูงเกินไปไม่เหมาะสมกับฐานความผิด ควรพิจารณาเป็นรายกรณีไป ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและไม่สามารถช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ส่วนผู้ที่ระบุว่า เห็นด้วย กับการที่กรมการขนส่งทางบกจะแก้กฎหมาย “การเพิ่มโทษไม่มี/ไม่พกใบขับขี่ - หมดอายุ” ได้ให้เหตุผลว่า จะได้มีระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนน เกิดความเกรงกลัวและเคารพกฎจราจรมากขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า สามารถช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ การเพิ่มโทษ กรณีไม่มีใบขับขี่/ ใบขับขี่หมดอายุ ” จะช่วยให้ผู้ขับขี่เกรงกลัวต่อกฎหมายและปฏิบัติตามกฎจราจรมากขึ้นหรือไม่ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 16.47 ระบุว่า ช่วยได้มาก ร้อยละ 50.76 ระบุว่า ช่วยได้บ้างระดับหนึ่ง ร้อยละ 31.89 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยได้เลย และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การเพิ่มโทษกรณีไม่พกใบขับขี่” พบว่า ร้อยละ 15.59 ระบุว่า ช่วยได้มาก ร้อยละ 51.56 ระบุว่า ช่วยได้บ้างระดับหนึ่ง ร้อยละ 31.25 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยได้เลย และร้อยละ 1.60 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
โดยผู้ที่ระบุว่า ช่วยได้มาก ได้ให้เหตุผลว่า ทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อบทลงโทษที่สูงขึ้น และจะได้ใส่ใจเรื่องใบขับขี่มากขึ้น ผู้ที่ระบุว่า ช่วยได้บ้างระดับหนึ่ง ได้ให้เหตุผลว่า จะเป็นการสร้างวินัยในการใช้รถใช้ถนนให้อยู่ในความไม่ประมาทและปฏิบัติตามกฎจราจร ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่สามารถช่วยได้เลย ได้ให้เหตุผลว่า ขึ้นอยู่ที่จิตสำนึกของผู้ใช้รถใช้ถนน และการบังคับใช้กฎหมายยังไม่จริงจังและไม่เข้มงวดมากพอ
เมื่อถามถึง “การเพิ่มโทษกรณีไม่มี/ไม่พกใบขับขี่ - หมดอายุ” จะทำให้การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงหรือไม่ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 5.28 ระบุว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 69.70 ระบุว่า เท่าเดิม ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ลดลง และร้อยละ 1.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจสำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การเพิ่มโทษกรณีไม่มี/ไม่พกใบขับขี่ - หมดอายุ” จะทำให้เกิดช่องทางทุจริต/รับสินบน มากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชน ร้อยละ 39.41 ระบุว่า เกิดช่องทางทุจริต/รับสินบนมากที่สุด ร้อยละ 38.69 ระบุว่า เกิดช่องทางทุจริต/รับสินบนมาก ร้อยละ 8.79 ระบุว่า เกิดช่องทางทุจริต/รับสินบนน้อย ร้อยละ 2.16 ระบุว่า เกิดช่องทางทุจริต/รับสินบนน้อยที่สุด ร้อยละ 3.60 ระบุว่า ไม่เกิดช่องทางทุจริต/รับสินบนเลย และร้อยละ 7.35 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความผิดวินัยจราจรข้อหาใดที่ควรไปเพิ่มโทษให้มากขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.43 ระบุว่า ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น รองลงมา ร้อยละ 11.11 ระบุว่า ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ร้อยละ 10.23 ระบุว่า ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด ร้อยละ 3.12 ระบุว่า เลี้ยวรถหรือเปลี่ยนช่องเดินรถโดยไม่ให้สัญญาณ ร้อยละ 2.16 ระบุว่า ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ร้อยละ 1.28 ระบุว่า ขับรถบนทางเท้า และขับรถแซงขึ้นหน้ารถอื่นทางด้านซ้ายมือโดยไม่มีเหตุอันสมควร ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 0.64 ระบุว่า ใช้สัญญาณไฟวับวาบผิดเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ร้อยละ 0.56 ระบุว่า กลับรถในทางเดินรถกีดขวางการจราจร ร้อยละ 0.32 ระบุว่า จอดรถบนทางเท้า ร้อยละ 0.56 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่มี/ไม่พกใบขับขี่ ไม่แสดง พ.ร.บ./พ.ร.บ. หมดอายุ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีขับขี่รถยนต์/รถจักยานยนต์ และร้อยละ 2.31 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ