แม่ทัพโวยไฟใต้โชนอย่าโยนความมั่นคง จนท.แฉถล่มไฟฟ้าฯ อาจแค้นทวงหนี้ค่าไฟ
แม่ทัพภาค 4 ยืนยันว่าเหตุรุนแรงหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ไม่ใช่สถานการณ์ด้านความมั่นคง แต่เป็นเรื่องขัดผลประโยชน์กันเองระหว่างบุคคล รวมทั้งพวกแก๊งอิทธิพลและภัยแทรกซ้อน ขณะที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า การก่อเหตุประเภทบุกเผาหรือยิงถล่มสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น หลายๆ เหตุการณ์เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะไม่พอใจที่ถูกทวงหนี้ค่าไฟ
เหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นถี่ยิบในช่วงนี้ โดยเฉพาะเหตุโจมตีสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2 แห่งใน 2 จังหวัด คือ ที่ อ.กาบัง จ.ยะลา และ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี รวมทั้งลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส และเหตุจ่อยิง อส.ปัตตานี กลางตลาดนัดบ้านกรือเซะ จนมีผู้หญิงถูกลูกหลงเสียชีวิตเพิ่มไปอีก 1 คนนั้น ได้รับการยืนยันจากแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า ไม่ควรด่วนสรุปว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ด้านความมั่นคง
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในพื้นที่ ไม่ใช่เหตุความมั่นคง เพราะ 90% เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ขัดผลประโยชน์ การกู้หนี้ ทวงหนี้ และภัยแทรกซ้อน โดยใช้คนกลุ่มเดิมๆ มาก่อเหตุ
"ถ้าเทียบกับภาคอื่นก็เหมือนการจ้างซุ้มมือปืน เพียงแต่ว่าเมื่อเกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มักถูกมองว่าเป็นเหตุความมั่นคง" แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการในช่วงสิ้นเดือน ก.ย.กล่าว
ขณะเดียวกัน มีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่า เหตุการณ์ในลักษณะโจมตีสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือโจมตีเสาไฟฟ้านั้น เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง บางครั้งเป็นเรื่องการตอบโต้ของกลุ่มอิทธิพลเมื่อถูกทวงค่าไฟฟ้าที่ค้างจ่ายเป็นจำนวนมาก
ประเด็นนี้นับว่าน่าสนใจ "ทีมข่าวอิศรา" จึงลงพื้นที่ไปสอบถามข้อมูลจากชาวบ้าน ได้รับคำยืนยันว่า เหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดกับสำนักงานการไฟฟ้าฯ หรือโจมตีเสาไฟฟ้า มาจากความไม่พอใจที่ถูกทวงค่าไฟฟ้าค้างจ่ายจริง โดยกลุ่มที่ก่อเหตุเป็นผู้มีอิทธิพล บางรายก็เป็นผู้นำท้องถิ่น บางรายก็เป็นแก๊งค้ายาเสพติด กลุ่มคนเหล่านี้บางรายค้างจ่ายค่าไฟหลายหมื่นบาท รวมๆ แล้วแต่ละจังหวัดของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีหนึ่งมียอดค้างจ่ายค่าไฟฟ้า และการไฟฟ้าฯไม่สามารถเรียกเก็บค่าไฟได้ สูงถึงหลักล้านบาทในแต่ละจังหวัด
เมื่อถูกทวงหนี้ กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไปก่อเหตุรุนแรงกับสำนักงานการไฟฟ้าฯ เสาไฟฟ้า หรือแม้แต่พนักงานเก็บค่าไฟ ทำให้ระยะหลังๆ หากเป็นบ้านผู้มีอิทธิพล หรือแก๊งค้ายาเสพติด พนักงานเก็บค่าไฟก็จะไม่กล้าเข้าไปเก็บ ทั้งยังไม่กล้าตัดไฟด้วย จนหนี้ค่าไฟฟ้าในภาพรวมของจังหวัดพุ่งสูง ซึ่งหากพิจารณาตามรูปการณ์นี้ จึงมีความเป็นไปได้น้อยที่เหตุการณ์โจมตีสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคล่าสุดทั้ง 2 จุด 2 จังหวัด จะเป็นการกระทำของกลุ่มอิทธิพล เพราะกลุ่มเหล่านี้ไม่ยอมจ่ายค่าไฟอยู่แล้ว
"เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ชาวบ้านวิจารณ์กันว่าน่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบจริงๆ มากกว่า หรือไม่ก็กลุ่มที่เสียประโยชน์จากการที่พนักงานการไฟฟ้าฯ เคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านการแปรรูปการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเมื่อเดือนก่อน" ชาวบ้านรายหนึ่ง กล่าว
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบสถิติเหตุรุนแรงย้อนหลังของทีมข่าวอิศรา พบว่า ช่วงปลายเดือน ส.ค. ต่อเนื่องถึงเดือน ก.ย. และ ต.ค.ของทุกปี มักเป็นช่วงที่สถิติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มสูงขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ทหาร ตำรวจ สับเปลี่ยนกำลังจากวาระการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี ทำให้หลายๆ ครั้งเกิดข่องโหว่ในมาตรการรักษาความปลอดภัย สำหรับในปีนี้จะมีการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วย เนื่องจาก พล.ท.ปิยวัฒน์ ครบเกษียณอายุราชการ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4
ขอบคุณ : อัญชลี อริยกิจเจริญ ผู้สื่อข่าวสายทหาร ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22 เอื้อเฟื้อข่าวสัมภาษณ์แม่ทัพภาคที่ 4
อ่านประกอบ :
ใต้ป่วน! บุกเผา-ยิงถล่มสำนักงานการไฟฟ้าฯกาบัง-โคกโพธิ์
จ่อยิง อส.ดับกลางตลาดขณะขายของเป็นอาชีพเสริม
แฉแก๊งค้ายาสั่งบอมบ์โก-ลก แม่ทัพ 4 ตั้งเงื่อนไขเปิดด่าน
แม่ทัพ4 บอกบึ้มสวนยางฝีมือผู้มีอิทธิพลเจ้าเก่า - กอ.รมน.ไปอีกทางอ้าง ผกร.