ตามไปดูงบ3ล้านล.รบ.บิ๊กตู่ หน่วยไหนได้เท่าไหร่-รู้ยังกองทัพถูกติงเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง?
“…ข้อเน้นย้ำของ กมธ. คือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ควรกำกับให้เหล่าทัพเตรียมความพร้อมในการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โปร่งใส และตามเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์รายการใหญ่ รายการที่ต้องจัดซื้อจากต่างประเทศ และการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้…”
กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์!
กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเศษ ผ่านร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณประจำปี 2562 วงเงินรวม 3 ล้านล้านบาท โดยแทบไม่มีสมาชิก สนช. รายใดลุกขึ้นอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า แต่ละหน่วยงานนำงบประมาณไปใช้อะไรบ้าง ?
เบื้องต้นสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลในร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณประจำปี 2562 พบว่า มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจากปี 2561 รวม 24,222,829,100 บาท หรือราว 2.4 หมื่นล้านบาท โดยงบที่ตั้งเพิ่มขึ้นมากที่สุดคืองบกลาง หรืองบสำรองจ่ายฉุกเฉิน 9 พันล้านบาท รองลงมาเป็นงบรัฐวิสาหกิจ 7,222,852,000 บาท กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 2,537,365,000 บาท และแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 1,875,471,800 บาท
ส่วนหน่วยงานระดับกระทรวง พบว่า กระทรวงยุติธรรม ตั้งงบเพิ่มเติมมากที่สุด 939,954,000 บาท รองลงมาเป็นกระทรวงกลาโหม 307,738,800 บาท และกระทรวงอุตสาหกรรม 300 ล้านบาท
ขณะที่แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่รัฐบาลชุดนี้พูดบ่อยครั้งว่า เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญ และบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พบว่า มีการตั้งงบเพิ่มขึ้น 54,060,000 บาท
เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดหน่วยงานระดับกระทรวงที่สำคัญ ๆ เช่น กระทรวงกลาโหม ได้รับงบประมาณรวม 117,583,067,200 บาท หรือราว 1.1 แสนล้านบาท โดย 3 เหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก ได้ 49,480,319,200 บาท หรือราว 4.9 หมื่นล้านบาท กองทัพเรือ 23,295,212,200 บาท หรือราว 2.3 หมื่นล้านบาท และกองทัพอากาศ ได้ 28,232,821,800 บาท หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปรับกระบวนการทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงจากแนวดิ่งสู่แนวราบ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับงบประมาณรวม 23,370,140,400 บาท หรือราว 2.3 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะกรมการข้าว ที่ต่อไปจะมีบทบาทสำคัญหากร่าง พ.ร.บ.ข้าวแห่งชาติ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ผ่าน สนช. และบังคับใช้เป็นกฎหมาย ได้รับงบประมาณ 280,297,300 บาท
กระทรวงมหาดไทย หนึ่งในกระทรวง ‘เกรดเอ’ และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากเป็น ‘แม่งาน’ หลายโครงการที่เกี่ยวกับการกระตุ้นรายได้ทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการพลังประชารัฐ เป็นต้น ได้ไป 36,526,341,600 บาท หรือราว 3.6 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ และปรับกระบวนการทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงจากแนวดิ่งสู่แนวราบ
ส่วนองค์กรอิสระที่สำคัญ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ไป 1,390,955,200 บาท สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ไป 1,817,116,000 บาท สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ไป 7,264,551,900 บาท และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ไป 1,668,089,900 บาท
ขณะที่งบประมาณรายจ่ายกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ที่กล่าวตอนต้นแล้วว่าตั้งงบเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2561 กว่า 2.3 พันล้านบาทนั้น ในปี 2562 ได้ตั้งงบไว้ที่ 45,340,757,500 บาท โดยกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ได้ไปมากที่สุด 4 หมื่นล้านบาท ส่วนกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ได้ไป 400 ล้านบาท
นอกจากนี้มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 8,757,981,300 บาท และงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จำนวน 14,842,614,600 บาท หรือราว 1.4 หมื่นล้านบาท ยังมีงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 98,808,363,700 บาท หรือราว 9.8 หมื่นล้านบาท ส่วนงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตั้งไว้ที่ 883,983,100 บาท
ที่น่าสนใจคือ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณของหลายกระทรวงไว้ด้วยกัน เช่น กระทรวงกลาโหมมีหลายประเด็น ได้แก่ ควรร่วมหารือรายละเอียดกับสำนักงบประมาณเรื่องการแสดงเป้าหมายตัวชี้วัดของกระทรวง เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณ ถ้าเป็นเป้าหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน และงานพัฒนาประเทศที่ไม่เป็นความลับ ควรแสดงรายละเอียดให้เป็นรูปธรรมว่า ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง ถ้าเป็นกิจกรรมที่เป็นความลับด้านความมั่นคง เช่น งานข่าวกรอง งานพัฒนากองทัพ ไม่ควรแสดงรายละเอียดในเอกสารงบประมาณ
นอกจากนี้งานที่ไม่ใช่งานหลักของกระทรวงกลาโหม เช่น การท่องเที่ยว การแก้ปัญหายาเสพติด ควรเป็นเป้าหมายของหน่วยปฏิบัติ กระทรวงควรเป็นเพียงหน่วยงานที่ไปร่วมสนับสนุนเชิงนโยบายเท่านั้น และควรปรับวิสัยทัศน์ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันควรบูรณาการหน่วยงานภายในกระทรวง เพื่อพัฒนาข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ ทันเวลา เป็นระบบข้อมูลแบบองค์รวม กำหนดให้ชัดเจนว่า หน่วยปฏิบัติใดทำอะไร เพื่อลดความซ้ำซ้อน และสิ้นเปลืองงบประมาณ
ข้อเน้นย้ำของ กมธ. คือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ควรกำกับให้เหล่าทัพเตรียมความพร้อมในการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โปร่งใส และตามเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์รายการใหญ่ รายการที่ต้องจัดซื้อจากต่างประเทศ และการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้
ส่วนกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร ควรเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและกำหนดผังการใช้พื้นที่บริเวณด่านศุลกากรทุกแห่ง รวมทั้งตรวจตราอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือสินค้าอื่น ๆ ส่วนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ควรวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการ หรือให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาล ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินโครงการที่มีภาระงบประมาณจำนวนมาก เช่น โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นต้น และควรปล่อยให้ระดับราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาดทดแทนการอุดหนุนหรือจ่ายเงินชดเชยเกษตรกร
ขณะที่กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ควรพัฒนาโครงการให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถลงทะเบียน เข้าถึง และซื้อสินค้าจากร้านค้าสวัสดิการ หรือใช้บริการสวัสดิการของรัฐอื่น ๆ ได้สะดวกขึ้น ควรติดตั้งเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) เพิ่มขึ้นให้เพียงพอ และครอบคลุมทุกพื้น และกำหนดมาตรการตรวจสอบผู้มีสิทธิถือบัตรเป็นประจำทุกปี
ส่วนกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ควรมีมาตรการดูแลบุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจ หรือล้งจีน ที่เข้ามาซื้อสินค้าไปขายยังต่างประเทศ โดยเข้ามาในลักษณะของนักท่องเที่ยว หรือการดำเนินการในลักษณะตัวแทน (Nominee) นักธุรกิจกลุ่มนี้ทำให้ประเทศเสียรายได้จำนวนมหาศาล รวมถึงรายได้จากภาษีด้วย เป็นต้น
นี่ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ที่ สนช. ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเศษ ผ่านวาระที่ 2-3 เพื่อเตรียมบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ส่วนจะใช้งบประมาณกันคุ้มค่าหรือไม่ ประชาชนคงใช้วิจารณญาณกันเองได้!