นักวิชาการ ชี้ ป.ป.ช.ไม่ควรใช้ความรู้สึกวินิจฉัยคดี จีที200
นักวิชาการที่ติดตามการตรวจสอบคดีความผิดปกติ กรณีเครื่อง จีที200 ออกมาแสดงความเห็น หลังกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุกจริตแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้วินิจฉัยยากเพราะเจ้าหน้าที่ที่ใช้งานรู้สึกคุ้มค่า เหมือนห้อยพระเครื่อง โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูด ในฐานะที่เป็นผู้ตรวจสอบ
รศ.ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ที่ติดตามการตวจสอบคดี จีที200มาตลอด ระบุว่า กรณีที่ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุกจริตแห่งชาติ ออกมาพูดว่า การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เหมือนเป็นความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานรู้สึกคุ้มค่า
รศ.ดร.เจษฏา มองว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานพูดก็สามารถพูดได้ เพราะเป็นผู้ใช้งาน แต่เมื่อมีข้อมูลว่าเครื่องจีที200 ใช้งานไม่ได้จริงก็จะเริ่มเปลี่ยนความคิด แต่ในกรณีกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบ ไม่ควรใช้ความรู้สึกมาตัดสินคดี
รศ.ดร.เจษฏา ย้ำว่า กรณีการตรวจสอบความผิดปกติ กรณีเครื่อง จีที200 เป็นการตรวจสอบที่ยาวนาน ตั้งแต่ปี 2552 แต่เกือบ 10 ปี คดียังไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่มีหลายเกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายความมั่นคง และพลเรือน ย้ำว่า ป.ป.ช.ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อคลายความสงสัยและต้องชี้แจงความชัดเจนให้สังคมทราบ โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีเบื้องหลังยื้อคดีให้ล่าช้าหรือไม่
โดยเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษ ที่มีบริษัทผู้ผลิตเครื่อง จีที200 ซึ่งถูกรัฐบาลหลายประเทศฟ้องร้อง จนสามารถดำเนินคดีกับผู้ผลิตได้และอีกไม่กี่ปีก็จะพ้นโทษ ในขณะที่การดำเนินคดีของประเทศไทย กลับยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีหน้วยงานใดทำผิดบ้าง