7 ปี ผลงาน ‘องค์กรต้านโกง’ กับก้าวต่อไปที่มุ่งมั่น ‘ขจัดคอร์รัปชัน’
องค์กรต้านโกง เผยผลงานรอบ 7 ปี ขจัดคอร์รัปชัน พบอุปสรรคระบบบริหารราชการยังเปิดช่องเอื้อรับสินบน หน่วยงานรัฐยังหวงอำนาจ ไม่ปฏิบัติตามนโยบาย ชมรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ตั้งใจปราบทุจริตสูง เดินหน้าก้าวต่อไป ผลักดันโครงการ ‘คนไทยตื่นรู้สู้โกง’ ให้เกิดขึ้นทุกสังคม
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มภาคธุรกิจ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยต้องไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน ภายใต้พันธกิจ 4 ส. คือ สร้างความน่าเชื่อถือ สร้างเครือข่าย สนับสนุน และส่งเสริม สร้างต้นแบบที่ดีในสังคม ยกย่องผู้ที่มีความคิดต่อต้านการทุจริต
ทั้งนี้ จวบจนปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 7 ปี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดแถลงข่าว “7 ปี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ณ ห้องศาลาแดง โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ Anti-Corruption Organization of Thailand :ACT ระบุว่า การขับเคลื่อนดำเนินงานขององค์กรฯ ใช้ยุทธศาสตร์นำทาง 3 ป. คือ เปิดโปง ป้องกัน และปลูกฝัง แบ่งเป็นช่วงเวลาได้ คือ
ช่วงที่ 1 ปี พ.ศ.2554-2557 การดำเนินงานเป็นไปในลักษณะการปลุกระดมสร้างกระแสต่อต้านคอร์รัปชัน กิจกรรมหลัก ๆ เช่น การเปิดโปงทุจริตโครงการรับจำนำข้าว, การคัดค้านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม, การจัดอบรม ‘หมาเฝ้าบ้าน’ กว่า 6,000 คนทั่วประเทศ มีเรื่องร้องเรียนเข้ามากว่า 1,000 เรื่อง, ผลิตภาพยนตร์โฆษณา ‘อย่าให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม, ผลิตสารคดีสั้น ปลูกจิตสำนึกต่อต้านคอร์รัปชัน, จัดทำดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย และหลักสูตรโตไปไม่โกง ซึ่งรัฐบาลผลักดันให้บรรจุให้อยู่ในหลักสูตรชั้นประถมศึกษาแล้ว ตลอดจนการจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน วันที่ 6 ก.ย. ของทุกปี
โดยในช่วงนี้จะพบว่า ปัญหาอุปสรรคมักเกี่ยวข้องกับความร่วมมือและความจริงใจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของวาทกรรมและการสร้างภาพ ข้อเสนอที่มีไปยังรัฐบาล แม้จะเห็นด้วย แต่สุดท้ายกลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลายเรื่องจึงไม่ประสบความสำเร็จ เช่น การสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ หรือกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า หลายคดีใช้เวลานาน 10-20 ปี ยังตัดสินไม่เสร็จ ทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเกรงขาม ทั้งหมดมีการเสนอหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการแก้ไข
ช่วงที่ 2 ปี พ.ศ. 2557-2560 การดำเนินงานเป็นไปในลักษณะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อวางรากฐานป้องกันการคอร์รัปชัน ซึ่งช่วงนี้มีผู้แทนขององค์กรฯ เข้าไปทำงานในสภาปฏิรูปประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสทำงานร่วมกับภาครัฐ
โดยกิจกรรมหลัก เช่น ร่วมผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในอดีต ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ครม.เปลี่ยนแปลงเมื่อใดก็ได้ ตลอดจนกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐผ่านโครงการข้อตกลงคุณธรรม
“นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึงปัจจุบัน พบว่าในโครงการข้อตกลงคุณธรรม มีหน่วยงานเข้าร่วม 73 โครงการ มูลค่ารวม 875,428 ล้านบาท มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จำนวน 45 โครงการ มูลค่ารวม 103,839 ล้านบาท ช่วยประหยัดงบประมาณให้รัฐได้สูงถึง 25,128 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 24.20 นับเป็นความสำเร็จ ที่เกิดจากทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันทำให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างเกิดความโปร่งใสยุติธรรม และมีการแข่งขันมากขึ้น”
ไม่เฉพาะการทำงานร่วมกับภาครัฐเท่านั้น นายประมนต์ กล่าวว่า องค์กรฯ ยังทำกิจกรรมร่วมกับภาคเอกชน จัดตั้งโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption:CAC) ให้บริษัทต่าง ๆ ลงนามในข้อตกลงร่วมกันจะไม่ติดสินบน ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเข้าร่วมทั้งหมดกว่า 900 แห่ง และ 1 ใน 3 ได้รับการยอมรับว่ามีกระบวนการครบถ้วน ถูกต้อง และจริงจัง
อีกทั้ง จัดตั้งกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย เป็นหนึ่งในกระบวนการระดมทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี จะทำให้เกิดการยอมรับ ราคาหุ้นดีขึ้น และรายได้จากการจัดจำหน่าย ส่วนหนึ่งจะจัดแบ่งสนับสนุนให้แก่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันต่าง ๆ นอกเหนือจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ทั้งนี้ ไม่ได้นิ่งนอนใจในคดีสำคัญ เช่น คดีพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ยืมเงิน 300 ล้านบาท หรือคดีนาฬิกา ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพราะได้ทำจดหมายเปิดผนึกติดตามทวงถาม แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
นายประมนต์ กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคที่พบในช่วงนี้เกี่ยวข้องกับระบบบริหารราชการแผ่นดินและการใช้อำนาจของรัฐยังเป็นช่องทางเอื้อให้เกิดการเรียกรับสินบน แม้รัฐบาลชุดนี้จะมีความตั้งใจสูง แต่เมื่อนโยบายลงไปสู่การขับเคลื่อนในระบบราชการกลับมีปัญหาในด้านการปฏิบัติงาน หลายหน่วยงานรัฐยังหวงอำนาจและไม่ตอบสนองนโยบาย เช่นกรณีเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาขออนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เป็นต้น
รวมไปถึงปัญหาการตรวจสอบภายในของภาครัฐที่ด้อยประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการทุจริตในวงราชการ ไม่ว่าจะเป็น การทุจริตเงินคนจน การทุจริตงบประมาณอาหารกลางวัน การทุจริตเงินทอนวัด ทั้งหมดเกิดจากภาครัฐขาดการตรวจสอบติดตามดูแล ในขณะที่ประชาชนยังมีทัศนคติเคยชินกับการให้สินบนว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่ และสุดท้ายความไม่เสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะเห็นว่า บุคคลใกล้ตัวรัฐบาลยังปฏิบัติตัวในสิ่งที่มีข้อกังขา แต่กลับไม่มีการติดตามอย่างถึงที่สุด
ด้านนายวิเชียร พงศธร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุเพิ่มเติมถึงก้าวต่อไปขององค์กรฯ ยังคงมีเป้าหมายเดิมหยุดยั้งการคอร์รัปชัน หนึ่งในการดำเนินงาน คือ การสร้างภาคีเครือข่ายสนับสนุนการต้านคอร์รัปชัน ‘คนไทย ตื่นรู้สู้โกง’ ให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วนของสังคม เช่น ภาคธุรกิจ มีโครงการ CAC จะขยายไปไปสู่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprise :SME) ด้วย และยังมีภาคตลาดทุน ภาคตลาดการเงินการธนาคาร ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอยากเชิญชวนมาเป็นผู้ตื่นรู้และสู้โกง
“เด็กตั้งแต่ในระดับปฐมวัยต้องได้รับการเรียนรู้ถึงเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อโตขึ้นจะมีส่วนร่วมในการสร้างกลไกตื่นรู้สู้โกงได้ และยังมีภาคราชการ ภาคประชาสังคม ที่มีส่วนร่วมในการต่อต้านการคอร์รัปชันได้เช่นกันฉะนั้นการบริหารจัดการเครือข่ายอย่างเป็นระบบจึงมีเพื่อให้เกิดระบบนิเวศ” รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว
ท้ายที่สุด องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จะจัดกิจกรรมรณรงค์วันต่อต้านคอร์รัปชัน ปี พ.ศ. 2561 ในวันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายนนี้ ณ ภิรัช ฮอลล์ อาคารไบเทคเฟส 2 ไบเทค บางนา ภายใต้ธีม งาน “คนไทย ตื่นรู้สู้โกง” เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมเกิดความตื่นตัวและลุกขึ้นมาร่วมใจกันต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม .