ตามรอยปฎิบัติการสางปัญหาทุจริตสหกรณ์รถไฟ2.2 พันล.-บิ๊กขรก.เอี่ยวจริงหรือ?
"...อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้มอบหมายให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวนี้ ซึ่งมีผู้กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์บางรายเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องของการแนะนำให้สหกรณ์ต่างๆ นำเงินมาฝากยังสหกรณ์สโมสรรถไฟฯ จะต้องตรวจสอบว่าเป็นจริงตามข้อกล่าวหรือไม่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 2 คน มาสอบข้อเท็จจริงไม่เกินวันที่ 31 ส.ค. 2561 หรือวันที่ 4 ก.ย. 2561 ที่จะถึงนี้ ด้วยตนเอง และนำเรื่องเสนออธิบดีฯ ต่อไปว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลหรือไม่ ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวด้วย และจะตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกด้วยว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกหรือไม่..."
อดีตผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ และพวก กระทำความผิดในการยักย้ายถ่ายเทเงินออกจากสหกรณ์ รวมวงเงินกว่า 2.2 พันล้าน จริงหรือ? การดำเนินการดังกล่าว มีข้าราชการระดับสูง อยู่เบื้องหลัง คอยสมรู้รวมคิดกระทำความผิด ดึงเรื่องกระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้ ให้ล่าช้าด้วยจริงหรือ?
คือเงื่อนปมสำคัญ 2 ประเด็น ที่เกิดขึ้น ภายหลังจากที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดทำเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด (สอ.สรฟ.) ที่มีการปล่อยเงินกู้จำนวน 199 สัญญา วงเงิน 2,200 ล้านบาท ต่อสื่อมวลชน
โดยระบุว่า ภายหลังจากที่อดีตผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด กับพวกรวม 6 ราย ได้ปล่อยเงินกู้ 199 สัญญา วงเงิน 2,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบสหกรณ์ที่กำหนดให้กู้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้แต่งตั้งข้าราชการเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2561 และจะมีวาระการดำตำแหน่งไม่เกินวันที่ 28 กันยายน2561 โดยตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการชั่วคราวได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องและการส่งชำระหนี้ของสอ.สรฟ.เสนอให้สหกรณ์เจ้าหนี้พิจารณาและเจรจาขอผ่อนปรน การชำระหนี้เงินกู้และการถอนเงินฝากจาก สอ.สรฟ. และการดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหารสหกรณ์ ได้มีการเข้าร้องทุกข์แทนสหกรณ์ไว้ที่ สน.บางรัก เมื่อวันที่ 16 มกราคม2561 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการชั่วคราวได้รับดำเนินการต่อโดยที่ประชุมคณะกรรมการชั่วคราวครั้งที่ 4 มีมติให้ดำเนินคดีอดีตผู้บริหารสหกรณ์ กับพวกและลูกหนี้ ที่ผิดนัดชำระทุกราย พร้อมทั้งได้มี หนังสือบอกกล่าวการชำระหนี้ (โนติส) เพื่อเตรียมฟ้องคดีเมื่อครบกำหนด 60 วัน โดยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการชั่วคราว ได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายสมนึก ทองคำดี กรรมการชั่วคราวที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ และนายกมลชนก มุกดา ผู้จัดการของสหกรณ์ เป็นผู้แทนสหกรณ์ในการดำเนินคดี (อ่านประกอบ : กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงคดีทุจริตสหกรณ์รถไฟฯ2.2พันล.-ตร.ออกหมายเรียกอดีตผู้บริหาร-พวกแล้ว)
ขณะที่ในเวลาต่อมา นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชัน เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้ามาตรวจสอบปัญหาการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด เป็นทางการอีกครั้ง หลังตรวจสอบพบข้อมูลใหม่ว่า การกระทำความผิดของอดีตผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟฯ และพวก แท้จริงแล้วมีมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท จากการยักย้ายถ่ายเทเงินออกจากสหกรณ์ในช่วงเวลานับตั้งแต่ปี 2552 -2560 รวมจำนวน 343 ครั้ง ขณะที่ขั้นตอนการทำงานของอดีตผู้บริหารสหกรณ์ มีข้าราชการระดับสูง เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง คอยสมรู้รวมคิดกระทำความผิด ดึงเรื่องกระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้ ให้ล่าช้าด้วย (อ่านประกอบ : บิ๊กขรก.เอี่ยว! กลุ่มธรรมา ชงเส้นทางเงินหมื่นล.บิ๊กตู่สอบทุจริตสหกรณ์รถไฟ 3 พันล้าน)
เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561 สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายสิทธิพร ปานใจ ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และประธานกรรมการชั่วคราวสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด เผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด (สอ.สรฟ.) เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ทั้งหมด
เบื้องต้น นายสิทธิพร กล่าวยืนยันว่า ได้จัดทำรายงานสรุปข้อมูลเป็นเอกสารเสนอให้ผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์รับทราบเป็นทางการแล้ว โดยจะมีการชี้แจงใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. มูลค่าความเสียหายในคดีนี้ว่ามีวงเงินเท่าไรกันแน่ 2. ในส่วนการดำเนินคดีกับอดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด กับพวกรวม 6 คน คือ นายบุญส่ง หงส์ทอง, นายนรินทร์ โพธิ์ศรี, นายวีระชัย ศรีสวัสดิ์, นายบัญชา ช่วยประสิทธิ์, นายประพันธ์ อำพันสาย และนายปรีชา ธนะไพรินทร์ ซึ่งเจ้าพนักงานสอบสวนได้มีการออกหมายเรียกมาสอบปากคำไปแล้ว ขณะที่ตัวแทนจากสหกรณ์สโมสรรถไฟฯ ได้เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนไปแล้ว 2 ครั้ง ส่วนประเด็นเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่นั้น เป็นเรื่องในส่วนของกรมฯ ซึ่งคิดว่าทางกรมฯ มีกระบวนการในการดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว
“ผมอยู่ใน 2 สถานะ คือเจ้าหน้าที่ของกรมฯ และสหกรณ์ฯ ซึ่งในส่วนของกรมฯ นั้น ผมกำลังทำสรุปรายงานเป็นเอกสารให้เป็นแหล่งเดียว ส่งทาง อธิบดีกรมฯ อยู่ คงจะใช้ข้อมูลตรงนี้เป็นหลักในการออกข่าว ซึ่งทางกรมฯ ก็เร่งรัดมาเหมือนกัน ต้องขอเวลาทำงานและตรวจสอบข้อมูลให้นิ่งก่อน เมื่อส่งรายงานแล้ว คาดว่าทางกรมฯ ทางกรมก็คงเร่งให้มีการเปิดเผยข่าว แต่ในส่วนของสหกรณ์ฯ เอง ยังไม่มีแนวคิดที่จะเปิดเผยข่าว ต้องหารือกับคณะกรรมการก่อนว่าเปิดเผยได้แค่ไหนจะเหมาะสม” นายสิทธิพร กล่าว
ต่อมาสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้เช่นกัน นายพิเชษฐ์ ระบุว่า ได้มอบมหายให้ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้ดูแลในเรื่องของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ให้สอบถามกับนายวิศิษฐ์ จะได้ข้อมูลที่ระเอียดกว่า
ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้คณะกรรมการสหกรณ์ชั่วคราวได้จัดทำเอกสารสำนวนต่างๆ ส่งได้ให้กับเจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน (สน.ปทุมวัน) เรียบร้อย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2561 ที่ผ่าน ซึ่งทางเจ้าพนักงานสอบสวนจะตรวจสอบอีกครั้งก่อนเสนอไปยังพนักงานอัยการต่อไปในเรื่องของคดีอาญา
เมื่อถามว่า ในสัญญากู้ของสหกรณ์ฯ นอกเหนือจากสมาชิกของสหกรณ์สโมสรณ์รถไฟฯ มีบริษัทหรือนิติบุคคลปรากฏในรายชื่อผู้กู้หรือไม่ นายวิศิษฐ์ ตอบว่า เท่าที่ตรวจสอบจากรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี ไม่มีผู้กู้ที่เป็นเอกชนภายนอก การกู้ทั้งหมดของสหกรณ์เป็นบุคคลทั้งหมด ไม่มีนิติบุคคล
“นายบุญส่ง อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ฯ กับพวกรวม 6 คน ได้นำเงินจากสหกรณ์ฯ ที่ทำเป็นสัญญากู้ 199 สัญญา ตามที่คณะกรรมการชั่วคราวสรุป ได้นำไปซื้อที่ดินต่อ ความเกี่ยวเนื่องกับเอกชนโดยตรงที่ไปปล่อยกู้หรือบุคคลภายนอกนั้นเท่าที่ตรวจสอบรายงานการสอบบัญชีนั้นไม่มี นอกเหนือจากนี้ก็เป็นในส่วนของสมาชิกบางรายที่กู้แล้วไม่ยอมชำระหนี้สหกรณ์ ซึ่งในส่วนนี้ก็ให้ไปดำเนินคดีแพ่ง” นายวิศิษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ส่วนของเจ้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสหกรณ์สโมสรรถไฟฯ มีการดำเนินอย่างไร นายวิศิษฐ์ ตอบว่า อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้มอบหมายให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวนี้ ซึ่งมีผู้กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์บางรายเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องของการแนะนำให้สหกรณ์ต่างๆ นำเงินมาฝากยังสหกรณ์สโมสรรถไฟฯ จะต้องตรวจสอบว่าเป็นจริงตามข้อกล่าวหรือไม่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 2 คน มาสอบข้อเท็จจริงไม่เกินวันที่ 31 ส.ค. 2561 หรือวันที่ 4 ก.ย. 2561 ที่จะถึงนี้ ด้วยตนเอง และนำเรื่องเสนออธิบดีฯ ต่อไปว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลหรือไม่ ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวด้วย และจะตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกด้วยว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกหรือไม่
เมื่อสำนักข่าวอิศราถามว่า เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์สามารถไปรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหรือตำแหน่งใดๆ ในสหกรณ์ได้หรือไม่ นายวิศิษฐ์ ตอบว่า “ระเบียบกรมส่งเสริมสหกรณ์ พ.ศ. 2544 เรื่องของการเข้าไปเป็นตัวกระทำการในสหกรณ์ก็มีเขียนไว้ เป็นเหมือนเป็นจรรยาบรรณของข้าราชการ กรณีตั้งเป็นผู้ประสานงาน ในจรรยาบรรณก็ไม่ได้มีบอกไว้ว่า ห้ามไม่ให้ทำ หากถามว่าเมื่อทางสหกรณ์ตั้งแล้วเขาทำได้ไหม เขาก็สามารถทำได้ แต่จะต้องดูด้วยว่า การทำดังกล่าวนั้น ก่อให้เกิดเสียต่อสหกรณ์แห่งนั้นๆ หรือไม่ ถ้าเป็นผลเสีย เขาก็ต้องโทษในสิ่งที่เขาทำขึ้นมาด้วย”
“เท่าที่สอบถามเบื้องต้นจากผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับสหกรณ์สโมสรรถไฟฯ โดยได้รับแต่งตั้งตำแหน่งประสานงานในสหกรณ์นั้น เขาบอกว่าไม่เคยเห็นคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวนี้เลยเลย และโดยขั้นตอนที่ถูกต้อง คำสั่งนี้จะต้องขอความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาของผู้จะจะแต่งตั้งเสียก่อน เมื่อสอบถามไปก็ปรากฏว่า สหกรณ์ฯ โดยนายบุญส่ง ที่เป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง ก็ไม่เคยขอความเห็นชอบ ไม่เคยแจ้งคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้ากรมฯ ทั้ง 2 คน ที่ได้รับแต่งตั้งนี้เลย แต่ว่าก็จะต้องสอบข้อเท็จจริงต่อไปว่า เจ้าหน้าที่ 2 คนดังกล่าว รู้เรื่องหรือเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร ไปมีส่วนชักนำให้สหกรณ์อื่นๆ นำเงินมาฝากหรือไม่ เป็นประเด็นที่จะต้องสอบข้อเท็จจริงต่อไป” นายวิศิษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ในเรื่องคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวได้มีการสอบถามข้อเท็จจริงกับ นายบุญส่ง หงส์ทอง อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด หรือไม่ นายวิศิษฐ์ ตอบว่า "ไม่เคยเจอกันเลย ไม่ได้สอบถาม ข้อเท็จจริงใช้วิธีสอบถามในเบื้องต้นกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้บังคับบัญชาของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าได้รับแต่งตั้ง มีการค้นหาในทะเบียนรับหนังสือย้อนหลังว่ามีเรื่องดังกล่าวเข้ามาหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี โดยตัวคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว ฉบับจริงไม่เคยเห็น ได้เห็นจากที่สำนักนายกรัฐมนตรีส่งมา จากการที่มีผู้นำไปยื่นร้องเรียน ซึ่งได้เห็นเป็นเอกสารสำเนา ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นลายมือชื่อของนายบุญส่งจริงหรือไม่อย่างไร"
นายวิศิษฐ์ ยังระบุด้วยว่า คณะกรรมการชั่วคราวที่นายทะเบียนแต่งตั้ง มีอายุ 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวาระในวันที่ 28 ก.ย. 2561 ก่อนครบกำหนดต้องดำเนินการเลือกคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาบริหารสหกรณ์ โดยที่ประชุมมีมติว่า วันที่ 31 ส.ค. 2561 จะประชุมใหญ่สหกรณ์สโมสรรถไฟฯ เพื่อทำการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่หรือชุดปกติ ซึ่งเป็นชุดที่ 13 มาบริหารงานต่อ โดยคณะกรรมการชั่วคราวก็จะส่งมอบการดำเนินการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปในระหว่างที่เป็นคณะกรรมการอยู่ให้กับคณะกรรมการชุดปกติดำเนินการต่อรวมในส่วนของการดำเนินคดีความด้วย
“วันที่ 31 ส.ค. 2561 พอได้คณะกรรมการชุดใหม่ คณะกรรมการชั่วคราวก็จะหมดวาระไป จะส่งมอบตำแหน่งภายในวันดังกล่าวหรือวันรุ่งขึ้น เว้นแต่วันนั้นองค์ประชุมไม่ครบทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งคณะกรรมการได้”
ทั้งหมด คือ ข้อเท็จจริงล่าสุดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด วงเงินนับพันล้านบาท ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบจากกรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่ในขณะนี้
อ่านประกอบ :
กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงคดีทุจริตสหกรณ์รถไฟฯ2.2พันล.-ตร.ออกหมายเรียกอดีตผู้บริหาร-พวกแล้ว
ร้อง ‘บิ๊กตู่’ สอบสหกรณ์สโมสรรถไฟ ปล่อยกู้ คกก. 199 สัญญา 2.2 พันล.หวั่นเอื้อ ปย.ซื้อที่ดิน
ปมกู้ 2.2 พันล!สหกรณ์สโมสรรถไฟ อดีต ปธ.รับเอาเงินเข้าบัญชีฯ-ซื้อที่ดินตัวเอง ยันบริสุทธิ์ใจ