ทส.ลุ้นวิป สนช. ถกร่างกม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ 27 ส.ค.นี้
“บิ๊กเต่า”ไม่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเพิ่มก่อนห้ามนำเข้าภายใน 6 เดือน แจงรอตรวจสอบโควตาขยะพลาสติกให้ชัด ก่อนถกอนุกรรมการขยะพิษนัดต่อไป 5 ก.ย. ขอเวลาให้จังหวัดสางปัญหาขยะพิษทะลักชุมชน-ชาวบ้านคัดแยกผิดวิธี ลุ้นวิป สนช. ถกร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ 27 ส.ค.นี้ หลังทส.ผลักดันยาวนานกว่า 10 ปี
เมื่อวันที่ 26 ส.ค.พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ กล่าวว่า กรณีคณะอนุกรรมการฯ เตรียมเสนอห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 432 รายการภายใน 6 เดือนนั้น ทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความสงสัยว่าในช่วง 6 เดือนนี้จะทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไหลทะลักเข้ามาในประเทศจำนวนมากอีกหรือไม่ ซึ่งขอชี้แจงว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะขณะนี้ได้มีประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท แต่เพื่อให้มีการหยุดการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืนจึงต้องมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ให้ชัดเจนใน 432 รายการดังกล่าว กับสินค้าใช้แล้วทั้งหมดที่ต้องห้าม เว้นแต่จะยืนยันถึงความจำเป็นและที่มาของสินค้าได้ ซึ่งเป็นมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ผ่านมา
เมื่อถามว่าจะสามารถนำเสนอต่อ ครม.เพื่อออกประกาศบังคับใช้ได้เมื่อไร พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งหน้า โดยคาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 5 ก.ย. นี้ ซึ่งที่ประชุมยังพิจารณาค้างอยู่ในเรื่องเศษพลาสติกที่ชัดเจนว่าจะหยุดการนำเข้าภายใน 2 ปี แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้โควตาที่แต่ละบริษัทมีอยู่นั้นมีจำนวนเท่าไร และหากทำผิดกฎหมายโควตานี้ก็ต้องหมดไป จึงต้องไปดูตัวเลขให้ชัดเจน ซึ่งกรมโรงงานฯกำลังดำเนินการตรวจสอบและจะนำเสนอเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งหวังว่าวันที่ 5 ก.ย.จะได้ข้อมูลที่ชัดเจนและเปิดเผย เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป ส่วนความคืบหน้าตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ รวมทั้งการแก้ปัญหาการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่ อบต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย และผู้ว่าราชการจังหวัด จ.อุบลราชธานีก็กำลังเข้าไปตรวจสอบพื้นที่อยู่ เรื่องนี้ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ เพราะต้องเห็นใจพี่น้องประชาชน เขาบอกว่าทำมาเป็นเวลา 20 ปี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบชาวบ้านก็บอกว่าไม่ห่วงเรื่องสุขภาพ แต่เราห่วงสุขภาพของชาวบ้าน เราห่วงในเรื่องน้ำที่จะปนเปื้อนลงดิน รวมทั้งเรื่องการเผาขยะ เพื่อเอาทองแดง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดมลพิษปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเวลานี้มีเจ้าหน้าที่ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านแล้ว โดยหน่วยปฏิบัติจริงๆ คือทางจังหวัด ส่วน คพ.เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนทางด้านวิชาการและข้อกฎหมาย
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้คณะกรรมการในส่วนของ คพ.ที่ตนตั้งขึ้นมานั้นจะทำในเรื่องการศึกษา และระดมทุกหน่วยงานมาพูดคุยกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ขณะนี้ผู้ว่าฯก็กำลังลงไปพูดคุยกับประชาชน และกำลังหารือกันถึงความจำเป็นว่าจะต้องมีเตาเผาขยะในพื้นที่หรือไม่ งบประมาณที่จะใช้ดำเนินการนั้นเป็นเรื่องของท้องถิ่น ส่วนกรณีที่ชาวบ้านระบุว่า คพ.รับปากว่าจะให้งบประมาณสร้างเตาเผาขยะให้นั้น คงไม่ใช่การรับปากว่าจะสร้างให้ แต่เป็นการรับปากว่าจะนำเสนอ แต่การจะเอาเตาเผารูปแบบใดนั้นคงไม่ง่ายนัก คงต้องให้ผู้ที่มีความรู้จริงๆ ในเรื่องการกำจัดเศษซากที่เหลือมาร่วมกันออกแบบ โดยตนจะลงพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ปัญหาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.)จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... (Waste from Electrical and Electronic Equipment:WEEE ) โดยหากวิป สนช. เห็นชอบจะได้เสนอต่อ สนช. ต่อไป ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ กระทรวงทรัพยากรฯ พยายามยกร่างและผลักดันตั้งแต่ช่วงปี 2547 ซึ่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2560 โดยได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการประสานการเร่งรัด ติดตาม และพิจารณาร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ (อนุ วิป ปนช.) ได้ขอให้ปรับปรุงตามข้อสังเกต ซึ่ง ทส. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้วเสร็จ และเสนอผ่าน อนุ วิป ปนช. แล้วเมื่อวันที่ 9 ส.ค. โดยร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯใช้หลักการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบในการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าจากบ้านเรือนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป็น 5 หมวด 35 มาตรา มาตรา 1 - 6 กล่าวถึงคำนิยามและซากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะใช้บังคับ 5 ลำดับแรก ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ และตู้เย็น โดยที่ หมวด 1 (มาตรา 7 - 13) กล่าวถึงการจัดการซากฯ หมวด 2 (มาตรา 14 – 17) กล่าวถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ผลิต หมวด 3 (มาตรา18 - 19) กล่าวถึงการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการซากฯ) หมวด 4 (มาตรา 20 - 22) กล่าวถึงการตรวจสอบและควบคุม และหมวด 5 (มาตรา 23 - 34) กล่าวถึงบทกำหนดโทษ และมาตรา 35 กล่าวถึงระยะเวลาการขอจัดตั้งศูนย์รับคืนซากฯ
แหล่งข่าวกระทรวงทรัพยากรฯ เปิดเผยว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศและก่อมลพิษในประเทศ แต่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเองยังไม่มีกฎหมายใดเพื่อจัดการอย่างจริงจัง ทำให้พบการแยกชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและเผากลางแจ้งเพื่อเอาวัสดุมีค่าในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หากร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ มีผลบังคับใช้ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าจากบ้านเรือนจะได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี มีการคัดแยกชิ้นส่วน วัสดุมีค่า เช่น ทองแดง ทองคำ เงิน จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับสารอันตราย เช่น ปรอท แคดเมียม ตะกั่ว จะถูกกำจัดอย่างถูกหลักวิชาการต่อไป
ที่มาข่าว : https://www.dailynews.co.th/politics/662625