“MUPA Recital” 10 ปีพลิกโจทย์ “รับน้อง” มองจากมุมของปัญหาสู่กิจกรรมที่สร้างสรรค์
นิสิตยังเชื่อว่า การที่รุ่นน้องเดินผ่านแล้วไม่ไหว้ คือการไม่เคารพกัน นิสิตบางกลุ่มยังเชื่อเรื่องอำนาจ มองเรื่องของการที่รุ่นน้องรวมกัน รักกันในระยะเวลาสั้นๆ เป็นความสำเร็จ แต่เราเชื่อเรื่องการรับฟัง เชื่อในการเปลี่ยนแปลง
มิติของการรับน้องปี 2561 ที่ดำเนินอยู่ในหลายมหาวิทยาลัย ณ ขณะนี้ อาจถูกมองว่าไม่แตกต่างจากปีก่อนๆ มากนัก เพราะยังคงปรากฏข่าวรับน้องไม่เหมาะสมผ่านทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องอาทิ ภาพหลุดจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ให้รุ่นน้องสาวทำท่าไม่เหมาะสมกับนักศึกษาชาย การอมลูกอมส่งต่อกันโดยใช้ปากต่อปาก การฝึกวินัยทหารให้นักศึกษาใหม่ รวมถึงการที่รุ่นน้องถูกรุ่นพี่ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ
ทั้งหมดตอกย้ำให้เห็นภาพของการรับน้อง เป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์
แต่ภายใต้ปรากฏการณ์เชิงลบของกิจกรรมรับน้องที่ดูเหมือนจะยังตกอยู่ในหลุมของการสืบทอดธรรมเนียมปฏิบัติที่รุ่นพี่ใช้แรงกดดันเป็นข้ออ้างขับเคลื่อนความมีระเบียบวินัยและความสามัคคีให้กับนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หรือ “เฟรชชี่”นั้น สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้พยายามก้าวข้ามรูปแบบการรับน้องดั้งเดิมและเบนเข็มสู่ “การรับน้องสร้างสรรค์” ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คณะดนตรีและการแสดง (MUPA) มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ใช้ระยะเวลาถึง 10 ปีพลิกโจทย์ “รับน้อง” จากมุมมองของปัญหาเป็นกิจกรรมที่สร้างโอกาสให้รุ่นน้องได้รู้จักตนเอง ให้รุ่นพี่ได้ทบทวนวิชาการ และใช้เวลาถักทอความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันผ่านการทำงานแบบ Project Based- Learning ภายใต้ชื่อกิจกรรม “MUPA Recital” ลบภาพการเข้าระเบียบ การทำกิจกรรมไร้แก่นสารมาสู่การทำงานในศาสตร์ของศิลปะการละคร นาฏศิลป์ และดนตรีที่ต้องดึงศักยภาพของนิสิตและอาจารย์ทุกสาขาวิชาในคณะ จำลองโลกการทำงานของวิชาชีพดนตรีและการแสดงที่นิสิตจะต้องใช้เวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยเมื่อตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้
“ตอนอยู่ ม.6 คิดว่ามีการรับน้องหลายแบบ มีโหดๆ มีเต้น มีอะไร เห็นข่าวที่อื่นรับน้องแล้วมีเรื่องเดือดร้อน ผู้ปกครองไม่พอใจ ก็เลยลองถามรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ในคณะดนตรีและการแสดงว่า ที่นี่รับน้องแบบไหน พี่ก็บอกว่า รับน้องด้วยการสร้างการแสดงร่วมกันทั้งคณะ โดยให้ตัวแสดงหลักเป็นปี 1 ซึ่งหลังจากเปิดเทอม เราเพิ่งซ้อมกันมาได้สัปดาห์เดียวและจะเปิดการแสดงในวันที่ 15 กันยายนนี้ แต่เราอยากให้ทุกคนได้เห็นการแสดงของพวกเรา อยากให้มาเห็นสิ่งที่เราเรียน สิ่งที่เราทำงานร่วมกันทั้งคณะด้วยความสมัครใจ” นายพุทธิพันธ์ ฟูประเสริฐ หรือ “เอิทโทน” หนึ่งในตัวแทนเฟรชชี่จากเอกศิลปะการละครคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา ค่อยๆ บอกเล่า
ในช่วงเวลาแห่งการปรับตัวปรับใจในสังคมที่ไม่คุ้นเคยโดยไม่มีการบังคับหรือกดดันจากรุ่นพี่ ดูเหมือนจะทำให้นิสิตใหม่ของคณะนี้พัฒนาตัวเองได้เต็มศักยภาพ เห็นได้จาก “คิม” หรือ นายศุภเดช สุริทธิ์ ซึ่งใช้คะแนนแอดมิชชั่นเข้ามาศึกษาต่อในเอกดนตรีไทยโดยไม่มีพื้นฐานมาก่อน
เขาบอกว่า ไม่เคยเล่นดนตรีไทยมาก่อน เคยเล่นแต่ดนตรีสากล คือ กีต้าร์ "แต่เมื่อมาเรียนที่นี่ รุ่นพี่เข้ามาช่วยเยอะมาก ให้กำลังใจและช่วยให้คำแนะนำต่างๆ ตอนนี้ผมเล่นฆ้องวงใหญ่ และได้ตีกลองยาวใน MUPA Recital ซึ่งในปีนี้เป็นการแสดงละครเวทีเรื่อง ตำนานรักแสนมุก”
ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของนิสิตชั้นปีที่ 1 ในกิจกรรมนี้ไม่เพียงสะท้อนจากประสบการณ์ของ “คิม” เท่านั้น แต่มีเสียงสนับสนุนจาก นางสาวกิ่งกนก แก้วเกตุ หรือ “เตยเต้ย” เฟรชชี่จากเอกนาฏศิลป์และการกำกับลีลา ที่เล่าถึงบรรยากาศการทำงานว่า MUPA Recital ว่า เป็นกิจกรรมที่รุ่นพี่เปิดโอกาสให้รุ่นน้องเลือกทำงานในตำแหน่งต่างๆ โดยสมัครใจ ไม่สมัครใจก็ไม่ว่า แต่ทุกคนก็พร้อมใจกันมาช่วยงาน ใครไม่ได้อยู่เบื้องหน้าก็ทำงานเบื้องหลัง โดยแต่ละฝ่ายจะเปิดให้นิสิตแต่ละเอกคัดเลือกนักร้องนักแสดง (Audition) ในสาขาที่เรียนก่อน เช่น เรียนนาฏศิลป์ก็ไปคัดตัวเป็นนางรำก่อน แล้วถ้าสนใจอยากไปคัดตัวเป็นนักเต้น นักแสดง นักดนตรี หรือทำงานเบื้องหลังข้ามฝ่ายข้ามสาขาที่เรียนก็สามารถทำได้
เธอมองว่า MUPA Recital ไม่ใช่การรับน้อง แต่เป็นการทำงานที่ทุกคนได้ใช้ความสามารถร่วมกันเพื่อพัฒนาตัวเอง
“เพื่อนบางคนติดงาน รับเล่นดนตรีตามร้านอาหารช่วงเย็นหรือค่ำ รุ่นพี่ก็บอกให้เราไปรับผิดชอบงานที่รับมาแล้วก่อน ไม่ได้บังคับว่าจะต้องมาร่วมกิจกรรมที่คณะเป็นหลัก รุ่นพี่ไม่ได้บังคับ ไม่มีว้าก หรือถือตัวกับรุ่นน้องเลย ที่นี่ไม่มีรับน้องโหดๆ แต่เป็นการทำงานอย่างแท้จริง” นายสดายุ อ่องรุ่งเรือง หรือ “น๊อต” เฟรชชี่เอกดนตรีสากล ยืนยันถึงการจัดกิจกรรมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันในฐานะผู้ร่วมงาน
อย่างไรก็ตาม การปรับกิจกรรมรับน้องจากการสันทนาการที่ไร้เป้าหมายและการเข้าระเบียบอย่างไร้เหตุผลคงเกิดขึ้นได้ยาก หาก “ผู้ใหญ่” ไม่ลงมาเล่นด้วย
“การรับน้องรูปแบบเดิมมีแต่ความอึดอัด เหตุผลที่รุ่นพี่ทำคือต้องการเอาน้องมารวมกัน ให้รู้จักกัน แต่กิจกรรมที่ทำมีแต่ความกดดันซึ่งอาจช่วยให้เกิดความสามัคคีได้อย่างรวดเร็ว นิสิตยังเชื่อว่า การที่รุ่นน้องเดินผ่านแล้วไม่ไหว้ คือการไม่เคารพกัน นิสิตบางกลุ่มยังเชื่อเรื่องอำนาจ เขามองเรื่องของการที่รุ่นน้องรวมกันรักกันในระยะเวลาสั้นๆ เป็นความสำเร็จ แต่เราเชื่อเรื่องการรับฟัง เราเชื่อในการเปลี่ยนแปลง”อาจารย์สัณห์ไชญ์ เอื้อศิลป์ คณบดีคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา เล่าถึงแนวคิดที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น เมื่อคณะดนตรีและการแสดงตัดสินใจเปลี่ยนกิจกรรมรับน้องเป็นรูปแบบที่แตกต่าง จึงต้องก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคพอสมควร โดยอาจารย์สัณห์ไชญ์สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเปลี่ยนผ่านว่า ปัญหาแรกคือนิสิตรุ่นพี่ซึ่งเคยเจ็บปวดจากการรับน้องตอนที่เป็นน้องใหม่ แต่พอผ่านมาได้ก็รู้สึกว่าดีและคิดว่าน้องต้องผ่านไปได้เช่นกันจึงไม่มองหาวิธีอื่น แต่อันที่จริงแล้ว ถ้ากล้าลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนก็จะพบว่า มีทางที่ทำได้ และปัญหาที่สอง คือ กิจกรรมรับน้องไม่ใช่เรื่องของอาจารย์โดยตรง เป็นกิจกรรมระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง อาจารย์เป็นกำลังสำคัญในการให้การสนับสนุนคณะดนตรีและการแสดงใช้เวลาพอสมควรกว่าที่อาจารย์จะถอดกิจกรรมเข้าระเบียบหรือการใช้อำนาจของรุ่นพี่ต่อรุ่นน้องออกได้
ขณะที่อาจารย์คอลิด มิดำ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคมและ อาจารย์คณพศ วิรัตนชัยอาจารย์ประจำสาขาศิลปะการแสดงคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา ช่วยกันขยายภาพการรับน้องสร้างสรรค์ในโครงการ “สานสายใยน้องพี่คณะดนตรีและการแสดง” ผ่านกิจกรรม MUPA Recital ว่า กิจกรรมดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายแค่เป็นการรับน้องเพื่อแสดงอำนาจของพี่ แต่เป็นการเชื่อมโยงสายใยแห่งความผูกพันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องอย่างแท้จริงด้วยกระบวนการทำงานที่ส่งเสริมให้นิสิตนำความรู้ความสามารถในศาสตร์ของตนเองมาใช้ในการรับน้อง เป็นการทบทวนวิชาการและเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของนิสิตและคณาจารย์ทั้งคณะ ทุกวิชาเอกคือ ศิลปะการละคร ดนตรีไทย ดนตรีสากล นาฏศิลป์และการกำกับลีลา
ทั้งนี้ นิสิตจะมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามหน้าที่การทำงานการผลิตการแสดง คือ
1.ขั้นเตรียมการแสดง: นิสิตรุ่นพี่ทุกคนเตรียมการผลิตการแสดง ประชุมเตรียมงาน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ วางแผนการดำเนินงาน เสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษาในแต่ละฝ่าย รวมทั้งเขียนบทการแสดง ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนเปิดเทอม
2. ขั้นผลิตการแสดง:เริ่มต้นในช่วงเปิดเทอม มีการปรับใจน้องผ่านกิจกรรมการฝึกซ้อมการแสดง ผลิตฉาก/อุปกรณ์หาสปอนเซอร์ รุ่นพี่ส่งความคืบหน้าในการทำงานให้อาจารย์ปรับแก้ รุ่นพี่หนุนเสริมและดูแลรุ่นน้อง แก้ปัญหาร่วมกัน
3.ขั้นจัดแสดง: นำเสนอผลงานการแสดงสู่สาธารณชน สร้างความเข้าใจต่อผู้ปกครองนิสิต
และ 4.ขั้นสรุปผล:คณะทำงานทั้งหมดร่วมกันสะท้อนปัญหาและข้อเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนางานในปีต่อไป
“ก่อนเปิดเทอมรุ่นพี่และอาจารย์จะออกแบบกิจกรรมร่วมกันว่านิสิตชั้นปีที่ 1 ต้องรู้อะไร มีกิจกรรมอะไรที่จะนำไปสู่เป้าหมาย รุ่นพี่ต้องทดลองเป็นผู้ร่วมกิจกรรมในฐานะรุ่นน้อง มีกิจกรรม training the trainer และทดสอบระบบทั้งหมดเสมือนจริงเพื่อดูว่ากิจกรรมใดใช้ได้ กิจกรรมใดใช้ไม่ได้
เมื่อถึงช่วงเปิดเทอมเฟรชชี่ก็จะเข้าร่วมกระบวนการผลิตในฐานะนักเต้น นักแสดง หรืองานเบื้องหลังฝ่ายต่างๆ ตามความสามารถ ซึ่งไม่ได้บังคับว่าทุกคนต้องเข้าร่วมหรืออยู่ร่วมตลอดงานเพราะเราเข้าใจความแตกต่างและความจำเป็นในชีวิตของแต่ละคน เด็กบางคนต้องเดินทางไปกลับ บางคนต้องทำงานพาร์ทไทม์ ก็ร่วมกิจกรรมเท่าที่สามารถทำได้ แต่ถ้าเข้าร่วมก็จะได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานในสายอาชีพนี้อย่างแท้จริง เป็นกลไกให้นิสิตได้ทบทวนตนเองว่าการเลือกเข้ามาศึกษาต่อในสาขานี้เป็นสิ่งที่ต้องการจริงหรือไม่ และอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีรูปแบบการเรียนรู้และการใช้ชีวิตอย่างไร ขณะที่รุ่นพี่ก็ได้ทบทวนวิชา และอาจได้พบความสนใจของตนเองในด้านอื่น เช่น บางคนเรียนละคร แต่อาจพบว่าชอบเรื่องการออกแบบก็เป็นได้” อาจารย์คอลิด และ อาจารย์คณพศ ร่วมกันบอกเล่าเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น
ส่วนนายณวุฒน์ ตันอนุชิตติกุล หรือ “อ๊อฟ” นักแสดงอิสระ อายุ 21 ปี อดีตนายกสโมสรนิสิตคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา ปีการศึกษา 2560 บอกว่า เส้นทางกิจกรรมรับน้อง ช่วงที่เขาก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัยในฐานะเฟรชชี่นั้นกระแสรับน้องแรงมาก มีระบบว้าก มีการเข้าระเบียบ ก็เตรียมตัวว่าจะต้องเจอและยอมรับได้ แต่ถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่ได้เข้มข้นมาก เพราะมีกฎหมายเข้ามากำกับพอดี มหาวิทยาลัยออกระเบียบควบคุม แต่ก็ยังรู้สึกว่า การรับน้องเป็นกิจกรรมที่ไร้เหตุผล เมื่อขึ้นสู่ชั้นปีที่ 2 สิ่งที่ได้รับคือรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ดี รุ่นพี่แกล้งเพราะมีเหตุผล จึงนำกิจกรรมที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาใช้กับรุ่นน้อง แต่อาจารย์ก็เข้ามาชวนคุยว่าน่าจะออกแบบกิจกรรมให้ใช้เหตุผลมากขึ้น
"MUPA Recital ได้เปรียบการรับน้องของที่อื่น ตรงที่นิสิตได้นำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์และบูรณาการจนออกมาเป็นละครเวทีได้ ซึ่งตอนที่มีส่วนร่วมในฐานะนิสิตชั้นปีที่ 1 รู้สึกภูมิใจมาก พอขึ้นชั้นปีที่ 2 ก็ทำหน้าที่เป็นพี่ดูแลน้อง และเมื่อถึงชั้นปีที่ 3 ทำหน้าที่ควบคุมการผลิต เป็นผู้กำกับ และมีตำแหน่งเป็นรองนายกสโมสรนิสิตฯ จนกระทั่งชั้นปีที่ 4 มีตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตฯ ดูแลงานบริหาร การเงินในภาพรวมซึ่งตลอด 4 ปีมองเห็นกิจกรรมใหม่ๆ ในการรับน้องที่สร้างสรรค์มากขึ้น"
และจากประสบการณ์การรับน้องสร้างสรรค์ “อ๊อฟ” มองว่า MUPA Recital มีแง่ดีคือทำให้คนในองค์กรมีความสามัคคีกันด้วยการทำงาน สัมพันธ์กันด้วยหน้าที่ ได้ฝึกใช้ชีวิตร่วมกัน นับเป็นงานแรกของเฟรชชี่ที่จำลองเหตุการณ์จริงในการทำงาน ทั้งยังเป็นโอกาสที่นิสิตรุ่นพี่ได้นำความรู้จากการเรียนในวิชาต่างๆ มาใช้จริงด้วย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็พบว่า อาจมีบ้างที่ความสนุกสนานแบบเด็กๆ จากกิจกรรมรับน้องแบบเดิมนั้นหายไป รุ่นพี่และรุ่นน้องแยกจากกันได้ง่ายเมื่อจบงานหากความสัมพันธ์ในหน้าที่ไม่แน่นแฟ้นมากพอ
“กิจกรรมรับน้องของไทยเป็นอะไรที่ตายตัว เหมือนเป็นธรรมเนียมที่ทำต่อๆ กันมา จึงอยากฝากถึงรุ่นพี่ว่า ต้องจับแก่นหลักของกิจกรรมให้ดีว่าทำไปเพื่ออะไร และต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ส่วนรุ่นน้องนั้น แม้ว่ากระแสสังคมเรื่องการรับน้องในปัจจุบันจะดูแย่ แต่อยากให้ลองเปิดใจ ในขณะเดียวกันก็อย่าเชื่อฟังรุ่นพี่จนขาดเหตุผล ขอให้กล้าที่จะพูด และให้รู้ว่ามีสิทธิที่จะถอนตัวจากกิจกรรมได้ทุกเมื่อถ้าเห็นว่าสิ่งที่รุ่นพี่ทำนั้นเกินกว่าเหตุ” อ๊อฟฝากทิ้งท้ายไปถึงหลายๆ มหาวิทยาลัยที่กำลังจัดกิจกรรมรับน้อง
เอิทโทน เตยเต้ย คิม น๊อต