พอช.เตรียมปฏิรูปกองทุนที่อยู่อาศัยชาวบ้าน หนุนชุมชนเข้มแข็ง
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เตรียมรื้อกองทุนที่อยู่อาศัย เน้นชาวบ้านเข้าถึง คนแออัดคลองเตยชี้การเคหะไม่เข้าใจปัญหาคนจนทำกองทุนล่ม เมืองชุมแพโชว์ออมวันละบาทมีเงินกว่า 9 ล้านที่ดิน 66 ไร่
เร็วๆนี้ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)ตัวแทนองค์กรชาวบ้านร่วมเสวนาสืบทอดอุดมการณ์อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมครั้งที่ 3 การพัฒนาคนจนเมืองสู่การจัดการตนเองโดยนายสิน สื่อสวน ผู้ช่วยผู้อำนวยการพอช. กล่าวว่า กองทุนเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ พิสูจน์ให้เห็นในหลายพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการตนเองของชาวบ้าน ให้ปัญหาได้รับการแก้ไข ขยายผลไปในเรื่องการพัฒนาอาชีพ เดิมพอช.ให้สินเชื่ออย่างเดียว อาจมีการปรับรูปแบบของกองทุน สามารถทำให้เกิดความยั่งยืนเกื้อกูลภาคประชาชน องค์กรชุมชนให้มากที่สุดโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะที่กองทุนโดยภาคประชาชนที่กระจัดกระจาย จะทำอย่างไรให้เข้มแข็ง เมื่อได้บ้านแล้วจะทำยังไงให้บ้านได้เกาะเกี่ยวเพื่อขยายไปสู่การพัฒนาอาชีพ และจะเชื่อมโยงไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม
“คนจนเมืองเรื่องที่อยู่อาศัย กองทุนเป็นสิ่งสำคัญ ทุกเวทีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการทบทวนเจตนารมณ์อ.ไพบูลย์ รวมทั้งหาแนวทางขับเคลื่อนต่อไปให้เกิดประโยชน์กับชุมชนประเทศชาติซึ่งจะมีการหารือแนวทางปฏิรูปกองทุนพอช.เพื่อความชัดเจนอีกครั้ง”
นายพงษ์อนันต์ ช่วงธรรม ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า การเชื่อมโยงเครือข่ายขบวนคนจนเมือง ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครเป็นที่รองรับคนจากชนบท อพยพเข้ามาทำงานอันเนื่องมากจากชุมชนหลายแห่งล่มสลาย มีอาชีพทำแต่ไม่มีที่อยู่อาศัย ที่คลองเตยและชุมชนแออัดอื่นๆที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนถูกไล่ที่ ต่างคนต่างอยู่ เมื่อเกิดปัญหาใหญ่ ลำพังหนึ่งชุมชนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จึงเกิดการรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์คลองเตย ช่วงแรกร่วมกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาด้านกฎหมาย จึงมีการร่วมกันร่างพ.ร.บ.ชุมชนแออัด เพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้กับนายทุนและอำนาจรัฐ ที่ผ่านมาการบริหารกองทุนทำโดยการเคหะแห่งชาติ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ กองทุนที่ดีจึงควรให้ประชาชนเป็นผู้บริหารเพราะรู้และเข้าใจปัญหาความต้องการมากกว่าภาครัฐหรือหน่วยงานราชการ
“ถ้ามีงบประมาณที่บริหารจัดการโดยองค์กรชุมชนจะสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่า เครือข่ายชุมชนแออัดจุดเริ่มต้นเป็นกลุ่มเล็กๆ ขยายพื้นที่ออกไปในชุมชนแออัดทั่วประเทศ เช่นเชียงใหม่ โคราช มีการพูดคุยกันในเรื่องการจัดหางบประมาณเข้ามาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ขบวนองค์กรชุมชน ถ้าชาวบ้านเข้มแข็งเข้าใจปัญหาก็แก้ได้ นอกจากนี้ยังต้องเชื่อมกับเครือข่ายอื่นๆที่เป็นปัญหาที่ใกล้เคียงกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม”
นางสนอง รอยสูงเนิน ประธานกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ กล่าวถึงรูปธรรมกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพว่ากองทุนที่อยู่อาศัยเริ่มจากพอช.เข้ามาช่วยที่อยู่อาศัยผ่านโครงการบ้านมั่นคงโดยได้รับความช่วยเหลือและจุดประกายความคิดจากอ.ไพบูลย์ เริ่มทำกองทุนออมวันละ 1 บาทในสมาชิก 30 ครัวเรือนปัจจุบันมีเงินในกองทุนจำนวนกว่า 9 ล้านบาท จากที่ไม่เคยมีที่ดินเป็นของตนเองมีที่ดินแล้ว 38 ไร่นำเงินไปช่วยซื้อที่ดินสร้างบ้านใน 3 โครงการจำนวน 16 ไร่ให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัย 139 ครัวเรือน และอีกจำนวน 6 ไร่สำหรับ101 ครัวเรือน ล่าสุด111 ครัวเรือนมี่อยู่อาศัยในผืนดิน 6 ไร่
“เมืองชุมแพทำสวัสดิการ ทำเรื่องบ้านมั่นคง ส่งเสริมอาชีพ กองทุนต้องยั่งยืน ช่วยเหลือตัวเองได้ นอกจากนี้ยังมีการช่วยเรื่องการศึกษา สนับสนุนอาชีพ ปลดหนี้นอกระบบ รักษาบ้านรักษาดิน ทำแล้วได้ผลองค์กรปกครองท้องถิ่นก็เข้าร่วม การบริหารจัดการต้องชัดเจน คนจนต้องสร้างความเชื่อมั่นให้มาก การจัดการเป็นเรื่องสำคัญ ที่เห็นผลชัดคือตอนนี้ที่ชุมแพเกิดความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ในอนาคตข้างหน้าคาดว่าจะขยายออกไปทั่วประเทศ”
รศ.ประภาภัทร นิยม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า การพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม การที่จะให้ราชการเข้าไปแก้ปัญหา เป็นไปล่าช้าเพราะไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นดีพอ แต่ถ้าให้ชาวบ้านทำจะสำเร็จง่าย กระบวนการมีส่วนร่วมทำให้เกิดการพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งระดับชุมชน ระดับเครือข่าย ทำให้คนจนเมืองเข้มแข็ง การพัฒนาต้องสร้างการบริหารจัดการเงิน ความสำเร็จขยายไปยังเรื่องอื่น ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะไม่ได้มีเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงเรื่องการทำเรื่องอาชีพซึ่งต้องมองในอนาคตถึงการเติบโตของชุมชนเมือง มีการวางแผนชุมชน วางแผนตำบล จัดการทรัพยากรพื้นฐานของชุมชนให้ดีจึงเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน.