เอ็กซ์คลูซีฟ: ‘ทวารัฐ สูตะบุตร’ ยัน สนพ.ไม่เคย 'หวง-แทรกแซง-บอนไซ' กองทุนอนุรักษ์พลังงาน
"...เกี่ยวกับข่าวที่ออกมาในขณะนี้ ในลักษณะที่ว่า ผมหวงกองทุน เข้าไปวุ่นวายหรือแทรกแซงการทำงานของกองทุน ผมอยากเรียนให้ทุกคนทราบความจริงว่า ผมไม่มีความคิดแบบนั้น เพราะการแยกภารกิจงานกองทุนออกจากสนพ. เป็นสิ่งที่มันต้องเกิดอยู่แล้ว และผมก็เห็นด้วยกับหลักการนี้ ส่วนเหตุที่ผมต้องเข้าช่วยทำงาน เป็นเพราะผมถูกสั่ง ได้รับมอบหมายภารกิจให้เข้าไปช่วย ไม่ใช่ผมต้องการเข้าไปเอง..."
นับตั้งแต่ปรากฏข่าวว่า การดำเนินงานของสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ มีหน้าที่สำคัญในการดูแลบริหารจัดการเงินกองทุนกว่า 5,000 ล้านบาท กำลังประสบปัญการดำเนินงานอย่างมาก เพราะนับตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินงานเมื่อเดือน ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา กลับมามีผู้จัดการกองทุนดูแลงานอยู่คนเดียว และเพิ่งจะมีลูกจ้างเพิ่มมา 3 คน เพื่อช่วยงานในช่วงเดือน ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา แถมการทำงานที่ผ่านมายังจะต้องไปใช้ห้องสมุดกระทรวงพลังงานด้วย ทั้งที่ เป็นการดำเนินงานในช่วงเวลาสำคัญแห่งการตั้งตนขององค์กร ที่จะต้องได้รับการสนับสนุนการทำงานจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คอยเป็นพี่เลี้ยงให้การดูแลช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ให้ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2561 สนพ. เพิ่งออกคำสั่งมอบหมายให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 16 ราย ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้จัดการกองทุน ส.กทอ. (อ่านประกอบ : โอด 'ส.กทอ.' ตั้งมาเกือบปี มีผจก.-ลูกจ้าง ทำงาน4คน ใช้ห้องสมุดก.พลังงานดูแลเงิน5พันล., แห่ขอเพียบ3.1หมื่นล.! ข้อมูลกองทุนอนุรักษ์พลังงานปี62 หน่วยงานไหนเสนอมากสุด?)
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ส.กทอ. ต้องประสบปัญหาการทำงานดังกล่าว เป็นเพราะถูกดึงเรื่องดึงเกม เพื่อไม่ให้ ส.กทอ. สามารถทำงานได้เอง และหน่วยงานที่ถูกจับตามอง ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ก็หนีไม่พ้น 'สนพ.'
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายทวารัฐ สูตะบุตร ผอ.สนพ. เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานของ ส.กทอ. ที่เกิดขึ้น นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือ คำถามตรงๆ จากอิศรา กับคำตอบที่ได้รับจาก ผอ.สนพ. รายนี้
@ กองทุนอนุรักษ์พลังงานมีปัญหาตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้จริงหรือไม่?
นายทวารัฐ - ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนอนุรักษ์พลังงานให้สาธารณชนได้รับทราบก่อน กองทุนฯ นี้ ดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นไปตามระเบียบกฎหมายถูกต้องทุกอย่าง โครงสร้างการทำงานมีคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สนพ. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ และมีคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด ทำหน้าที่ในส่วนต่างๆ ทั้งการกลั่นกรอง ประเมินผล และบริหารจัดการ
แต่ในช่วงปี 2560 มีการปรับปรุงกฎหมายใหม่ เพื่อทำให้การดำเนินงานของกองทุนฯ มีโครงสร้างถาวร จากเดิมที่ สนพ. ต้องทำหน้าที่สวมหมวก 2 ใบ คือเป็นผู้ดูแลกองทุน และเป็นผู้ขอโครงการด้วย ซึ่งในช่วงที่ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ มาดำรงตำแหน่งเป็น รมว.พลังงาน จึงต้องการจะแยกบทบาทของ สนพ. ในเรื่องนี้ให้ออกจากกันชัดเจน เป็นผู้ขอโครงการอย่างเดียว รวมไปถึงกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับ สนพ. ด้วย ส่วนงานดูแลกองทุน ก็ให้แยกสำนักงานใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะนั้นก็คือ ส.กอท. ในปัจจุบัน มีผู้จัดการดูแลงานโดยตรง ว่าจ้างโดยปลัดกระทรวงพลังงาน มีสถานะเป็นนิติบุคคลภายในสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (ดูแผนผังการบริหารงานกองทุนฯ แบบเก่ากับแบบใหม่)
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีจัดตั้ง ส.กอท. ในช่วงเดือน ก.ค. 2560 แล้ว มีการเซ็นสัญญาว่าจ้างผู้จัดการกองทุนในเดือน ต.ค. 2560 ขั้นตอนต่อมาก็คือการหาบุคลากรเข้ามาช่วยการทำงานของผู้จัดการกองทุน ซึ่งตามแนวทางที่วางไว้ บุคลากรที่จะเข้ามาช่วยงาน จะเป็นข้าราชการเจ้าหน้าที่ ของ สนพ. และ พพ. ที่เคยทำงานเกี่ยวกับกองทุนอยู่แล้ว ตามขั้นตอนจะมีการเปิดให้คนกลุ่มนี้เข้ามาแสดงความประสงค์ ไปทำงานกับ ส.กอท. มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคัดเลือก เมื่อผ่านการพิจารณา ก็จะมีการลาออกจากตำแหน่งเดิม ไปทำสัญญาว่าจ้างเป็นพนักงานลูกจ้างกับ ส.กอท. ต่อไป เบื้องต้นมีการสรุปผลการคัดเลือกได้จำนวน 28 คน ตามขั้นตอนในช่วงเดือน ก.ย. นี้ น่าจะดำเนินการย้ายคนเข้าไปช่วยทำงานได้แล้วเสร็จทั้งหมด
@ แต่มีข้อมูลปรากฏว่า นับตั้งแต่ตั้ง ส.กอท. มีผู้จัดการทำงานกับลูกจ้างแค่ 4 คน และยังต้องมานั่งทำงานในห้องสมุดกระทรวงพลังงาน ทั้งที่ดูแลบริหารจัดการเงินกว่า 5,000 ล้านบาท
นายทวารัฐ - ในช่วงเริ่มต้นจัดตั้งของ ส.กอท. นั้น สนพ. เปิดพื้นที่ตึกของเราให้ใช้ทำงานได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ผู้จัดการกองทุนก็มานั่งทำงานอยู่ และอย่างที่บอกไปเมื่อก่อน สนพ. ดูแลงานกองทุนฯ อยู่แล้ว คนที่ทำงานกองทุนก็เป็นข้าราชการเจ้าหน้าที่ สนพ. อยู่แล้ว ซึ่งผมก็ให้คน สนพ. สนับสนุนการทำงานของ ส.กอท. เต็มที่เหมือนเดิม โดยไม่ต้องออกคำสั่งอะไร เพราะเป็นงานเดิมที่ทำอยู่ในตึก สนพ. อยู่แล้ว แต่ในช่วงเวลาต่อมามีดำริของ รมว.พลังงาน ที่ต้องการให้ ส.กอท. ย้ายมาทำงานที่ตึกกระทรวงพลังงาน ผู้จัดการกองทุนก็เลยย้ายมาทำงานที่นี่ ซึ่งในช่วงแรก ทราบว่ามีการไปเลือกสถานที่ทำงานกันเลย และก็เห็นตรงกันว่าพื้นที่บริเวณชั้น 3 ของกระทรวงพลังงานมีความเหมาะสม เมื่อ ส.กอท. ย้ายมาทำงานที่นี่ ผมก็เลยเซ็นคำสั่งมอบหมายข้าราชการ เจ้าหน้าที่มาช่วยทำงานที่นี่ด้วย ซึ่งกลุ่มข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง 16 คนนี้ ก็อยู่ในกลุ่มคนที่เคยทำงานกองทุนของ สนพ. อยู่แล้ว ตามที่สำนักข่าวอิศราเสนอไป
@ ส.กอท. ตั้งมาเดือน กค.2560 เพิ่งจะมีคำสั่งมอบหมายให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยงานในเดือน ส.ค. 2561 ระยะเวลามันนานไปหรือไม่
นายทวารัฐ - ยืนยันว่าการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานกับ ส.กอท. มีกระบวนการวางไว้หมดแล้ว ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ส่วนตัวไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงใช้ระยะเวลานานขนาดนี้ อาจจะมีรายละเอียดในเรื่องการจัดทำสัญญาว่าจ้างงานที่ต้องร่างขึ้นมาใหม่ก็ได้
"แต่ยืนยันว่า สนพ. ให้การสนับสนุนการทำงานของ ส.กอท. อย่างเต็มที่ ซึ่งในปัจจุบันตึก สนพ. ที่เคยใช้เป็นที่ทำงานเกี่ยวกับกองทุนฯ สามารถใช้งานได้ตลอดเวลาเหมือนเดิม และในส่วนของผมก็มีการจัดทำคู่มือกระบวนการทำงานต่างๆ ให้ ส.กอท. เอาไปใช้ประโยชน์ด้วย"
@ มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีความพยายาม ดึงเรื่องดึงเกมบอนไซเพื่อไม่ให้ ส.กทอ. สามารถทำงานได้เอง
นายทวารัฐ - "ไม่จริง เพราะมีกระบวนการทำงานที่วางไว้อยู่แล้ว คนที่คัดเลือกเข้ามาทำงาน ก็มาจากคน สนพ. ที่เคยทำงานกองทุนอยู่แล้ว กระบวนการขั้นตอนการคัดเลือกสมัครคนก็ว่างไว้ชัดเจนแล้ว แต่ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าทำไมกระบวนการ ถึงใช้เวลานานขนาดนี้ ขณะที่ในส่วนของคนทำงานก็มีการจัดอบรมงานใหม่ต่างๆ ตลอดช่วงปี 60-61 ตามแผนที่วางไว้จำนวน 15 ครั้งด้วย"
@ การทำงานของผู้จัดการกองทุนฯ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
นายทวารัฐ - ยอมรับว่างานบางอย่างอาจไม่ราบรื่น เพราะผู้จัดการกองทุน ก็มีรูปแบบวิธีการทำงานของเขา ส่วนผมก็มีรูปแบบวิธีการทำงานของผม แต่งานทั่วไปไม่มีปัญหาเลยทุกอย่างราบรื่นเป็นปกติ เช่น การดำเนินงานโครงการเดิมที่ยังค้างอยู่ อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องงานกองทุนในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านนี้ ผมเคยเรียนให้ผู้บริหารกระทรวงพลังงานทุกระดับรับทราบแล้วว่า เป็นภารกิจซ้ำซ้อน เหนื่อยแน่นอน
ส่วนงานโครงการในส่วนที่ สนพ. ได้รับจากงบประมาณจากกองทุน ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการวิจัย ซึ่งก็ต้องยอมรับกันว่า งานวิจัยบางเรื่อง ในท้ายสุดของการวิจัยผลที่ได้รับอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนที่เสนอขอโครงการมาในครั้งแรก เช่น งานช่วงที่ 1,2,3 ทำได้ แต่ช่วงที่ 4 ผลอาจจะออกมาไม่ได้ แต่เราก็จ่ายเงินให้เป็นงวดๆ ตามผลสำเร็จของงาน แต่งานส่วนที่ไม่สำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปเรียกเงินคืน อาจจะมีแค่การบันทึกไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเรื่องการให้งบประมาณสนับสนุนในอนาคต ส่วนงานโครงการที่กองทุนเคยอนุมัติไป ก็มีหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินงานตามปกติอยู่แล้ว
@ จริงหรือไม่ ที่การดำเนินงานกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ถูกระบุว่า มีเอกชนบางรายเข้ามามีอำนาจ แทรกแซงอนุมัติโครงการของกองทุน
นายทวารัฐ - "ผมไม่เคยพบเห็นเรื่องแบบนี้ แต่ถ้ามีหลักฐานต้องเอามาให้ดู ถ้าจัดการได้ผมจะจัดการ ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกพาดพิงถึง เท่าที่ผมรู้จักมาเป็น 10 ปี ยืนยันได้ว่า เป็นคนที่ทำงานหนัก ตั้งใจทำงาน มุ่งหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในงาน ส่วนข่าวที่ออกมาในขณะนี้ เป็นข่าวเก่าดั่งเดิม ที่เคยมีการหยิบยกขึ้นมาโจมตีกันไปแล้วในอดีต ผมไม่ได้ติดใจอะไร เพราะเท่าทีทราบเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็เคยมีการสาดโคลนในลักษณะนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง"
"ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท เอ็นเนอร์จี้ลิงค์ จำกัด ที่เข้ามาช่วยงานของ สนพ. อยู่ในขณะนี้นั้น ขอชี้แจงว่า เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ สนพ. ว่าจ้างให้เข้ามาช่วยทำงานด้านธุรการ มีสัญญาว่าจ้างถูกต้อง และนอกจากบริษัทเอกชนรายนี้แล้ว ก็ยังมีอีก 3 บริษัท ที่เราว่าจ้างเข้ามาช่วยทำงานส่วนอื่นๆ ด้วย ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับเราด้วย ต้องเข้าใจว่า สนพ. เป็นหน่วยงานเล็ก กำลังคนไม่เพียงพอ กับภารกิจงานที่มีมาก ต้องมีการว่าจ้างเอกชนเข้ามาช่วยงานตามปกติทั่วไป ไม่ได้มีปัญหาอะไร"
"อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับข่าวที่ออกมาในขณะนี้ ในลักษณะที่ว่า ผมหวงกองทุน เข้าไปวุ่นวายหรือแทรกแซงการทำงานของกองทุน ผมอยากเรียนให้ทุกคนทราบความจริงว่า ผมไม่มีความคิดแบบนั้น เพราะการแยกภารกิจงานกองทุนออกจาก สนพ. เป็นสิ่งที่มันต้องเกิดอยู่แล้ว และผมก็เห็นด้วยกับหลักการนี้ ส่วนเหตุที่ผมต้องเข้าช่วยทำงาน เป็นเพราะผมถูกสั่งได้รับมอบหมายภารกิจให้เข้าไปช่วย ไม่ใช่ผมต้องการเข้าไปเอง"
ทั้งหมดนี่ คือ คำชี้แจงของ นายทวารัฐ สูตะบุตร ผอ.สนพ. เกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานของ ส.กทอ. ที่ดูแลรับผิดชอบเงินกองทุนกว่า 5 พันล้านบาท ที่กำลังถูกจับตามองอยู้ในขณะนี้