กสม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวที “นักสิทธิมนุษยชนภาคประชาสังคม”
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UN High Commissioner for Human Rights Regional Office for Southeast Asia: OHCHR) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “บทบาทของภาคประชาสังคมต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ โดยมีนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม ทั้งนี้มีผู้แทนภาคประชาสังคมจากภูมิภาคต่าง ๆ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมกว่า 270 คน
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและได้แสดงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ให้เกิดผลในประเทศไทย โดยการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) อันเป็นยุทธศาสตร์และกรอบนโยบายการดำเนินการที่รัฐจะใช้เป็นแผนที่ในการขับเคลื่อนหลักการ UNGPs ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย
นายวัส กล่าวว่า ไม่เพียงเฉพาะสาระของแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ เท่านั้นที่มีความสำคัญ แต่การทำกระบวนการให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการยกร่าง (development) การติดตาม (monitoring) และการปรับปรุง (update) จะต้องเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและมีความโปร่งใส การเสนอความคิดเห็นต้องสะท้อนความต้องการของบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากธุรกิจ รวมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
“องค์กรประชาสังคม (Civil Society Organizations: CSO) และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ต่างมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเคารพสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจ ทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจของประเทศไทยควรถือว่าองค์กรประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิฯ เป็นหุ้นส่วนสำคัญและทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อป้องกัน บรรเทา และเยียวยา ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคม รวมทั้งกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ย่อมส่งเสริมให้แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ที่คาดหมายกันว่าจะเป็นฉบับแรกของทวีปเอเชียฉบับนี้ มีความชอบธรรม มีประสิทธิภาพ และสะท้อนบริบทของสถานการณ์ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ประธาน กสม. ระบุ
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ กสม. ได้ให้ความสำคัญมากโดยได้เชิญ Professor Surya Deva รองประธานคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ของสหประชาชาติ มาบรรยายพิเศษ เพื่อให้ภาคประชาสังคมได้รับรู้ถึงความสำคัญของหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้หลักการนี้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมคือ การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
จากนั้นเป็นการนำเสนอสาระสำคัญของ “ร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” โดยอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และการนำเสนอสาระสำคัญของ “ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ” โดยเลขาธิการ กสม.
นางประกายรัตน์ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญในวันนี้ได้จัดให้มีการอภิปรายและระดมความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ โดยผู้แทนภาคประชาสังคม ซึ่งแบ่งประเด็นเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสิทธิแรงงาน 2.กลุ่มสิทธิในที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3.กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ 4.กลุ่มการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2559 กสม. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดทำปฏิญญาเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ระหว่างรัฐบาลและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “บทบาทภาคประชาสังคมต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ อย่างแท้จริง