ป.ป.ช.ลงดาบ "อดีตผอ.ทรัพยากรฯยะลา" เรียกสินบน 86 ครั้ง โทษสูงสุดถึงประหาร!
การตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ป.ป.ช.ยะลา แถลงมติชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา กรณีเรียกรับสินบนจากผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปไม้มากถึง 86 กรณี ในทางกฎหมายเรียกกระทำผิด "86 กรรม" โทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
กรณีนี้สืบเนื่องจากสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดยะลา ได้รับบัตรสนเท่ห์กล่าวหา นายสมาน สะแต อดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ช่วงที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2555-2559 เรียกรับเงินจากการออกใบอนุญาตและต่อใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ เพื่อตอบแทนการออกใบอนุญาต
ต่อมา ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง พบว่า อดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯรายนี้ อาศัยอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการออกและต่อใบอนุญาตโรงงานแปรรูปไม้ เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ เพื่อตอบแทนในการออกหรือต่อใบอนุญาต รวมถึง 86 ครั้ง
คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติว่า การกระทำของอดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา มีมูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง นอกจากนั้นยังมีมูลเป็นความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ส่วนมาตรา 157 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หลังจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดยะลา จะส่งรายงานการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาของอดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป
อนึ่ง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นหน่วยงานในระดับภูมิภาคของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
มาตรา 157 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ลงโทษ ผอ.โรงเรียนออกใบสุทธิปลอม-โกงงบอาหารเด็ก
ช่วงนี้คดีทุจริตที่ชายแดนใต้ทยอยถูกองค์กรตรวจสอบชี้มูล และมีบางคดีที่ศาลตัดสินแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายไม่มากนัก อย่างเมื่อวันก่อน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาคดีทุจริตตามที่ ป.ป.ช.นราธิวาส ชี้มูล 3 คดี สรุปว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามฟ้องทั้งหมด
ได้แก่ คดีผู้อำนวยการโรงเรียนนิคมพัฒนา 2 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ออกใบสุทธิปลอมว่าจบการศึกษาชั้น ป.6 ให้กับนักเรียนคนหนึ่ง ทั้งที่ไม่ได้เรียนจบจริง, คดีนายก อบต.กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส กับพวกรวม 3 ราย จัดทำเอกสารเบิกโบนัสของพนักงาน 24 ราย แล้วโอนเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง และคดีปลัด อบต.ลำภู อ.เมืองนราธิวาส โกงเงินโครงการทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์งานวันลอยกระทง
นอกจากนั้นยังมีคดีที่ ป.ป.ช.นราธิวาส ชี้มูลอีกหลายคดี อยู่ระหว่างส่งฟ้องศาล ที่สำคัญคือคดีอดีต ผอ.โรงเรียนบ้านโคกสุมุ ต.บางปอ อ.เมืองนราธิวาส โกงงบของโรงเรียน โดยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากโรงเรียน เข้าบัญชีตัวเองแบบดื้อๆ เป็นเงิน 2 แสนกว่าบาท และ ผอ.คนเดียวกันนี้่ ยังโกงเงินอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนอีก 2 แสนบาท ทั้งๆ ที่เป็นเงินที่ได้รับมอบจากบริษัทเอกชน
-----------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพตราสัญลักษณ์สำนักงาน ป.ป.ช. จากอินเทอร์เน็ต
อ่านประกอบ : อบต.ยะรม ส่อร้าง หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลไล่ออกแทบยกสำนักงาน