พลิกปูมโครงการขยะมูลฝอย มท.แม่งาน ‘บิ๊กตู่’สั่งการ5ครั้ง-งบก้อนแรก2.7พันล.
พลิกปูมที่มาโครงการขยะมูลฝอย ก่อนกระทรวงมหาดไทยหัวเรือใหญ่ ‘บิ๊กตู่’ มีข้อสั่งการ 5 ครั้ง ปี’58 มท. ชง ครม.อนุมัติ แบ่งไซส์พื้นที่กำจัดขยะ เอาเฉพาะจังหวัดใหญ่ร่วมทุนเอกชนจัดตั้งโรงงานแปรรูปขยะเป็นไฟฟ้า สภาพัฒน์ฯค้านเหตุไม่ตรงแนวทาง ก.ทรัพยฯ-ขาดความชัดเจน ก่อน ครม.ไฟเขียว ประเดิมงบก้อนแรก 2.7 พันล้าน
โครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานหลัก กำลังถูกสังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย 324 แห่ง เพื่อนำไปสู่การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้ากำจัดขยะ แต่ละแห่งมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีประเด็น ‘บุตรชาย’ ของ ‘บิ๊กรัฐบาล’ ตามสื่อมวลชนหลายสำนักคือ มีกำหนดนัดพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เนื้อหาการพูดคุย ประเด็นการกำจัดขยะมูลฝอย ต่อมาเว็บไซต์จังหวัดภูเก็ตได้ลบนัดหมายดังกล่าวทิ้งไปแล้ว
ต่อมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ออกมาปฏิเสธผ่านสื่อมวลชนหลายครั้งว่า ไม่มีคนในครอบครัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวแน่นอน หากมีข้อมูลหรือพยานหลักฐานให้ไปร้องเรียนกับหน่วยงานตรวจสอบเอาเอง
ประเด็นเหล่านี้ทำให้มีคนไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบโครงการดังกล่าวโดยด่วน (อ่านประกอบ : ร้อง ป.ป.ช.สอบ‘บิ๊กป๊อก’ปมสร้าง รง.กำจัดขยะ 3 แสนล.-‘ลูก’เข้าพบ ผวจ.ภูเก็ต)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะมีบทสรุปอย่างไร ?
แต่เชื่อว่าอาจมีหลายคนไม่ทราบที่มาที่ไปของโครงการนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี และเอกสารจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรดังกล่าว สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
@พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อสั่งการถึง 5 ครั้ง ให้ มท. เป็นแม่งานจัดทำโครงการนี้
จากการสืบค้นมติคณะรัฐมนตรี นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ภายหลังกระทรวงมหาดไทยเสนอแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอยภายในประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย เป็นแม่งานหลัก ร่วมกับหน่วยงานอื่นให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยดังกล่าวอย่างน้อย 5 ครั้ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ)
ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2559 หรือประมาณ 2 ปีเศษที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการสั้น ๆ ว่า ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดมาตรการในการกำจัดขยะมูลฝอยให้สอดคล้องกับแนวทางประชารัฐ เช่น การให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยกับภาครัฐ การจัดเก็บค่าจัดการขยะมูลฝอยให้สอดคล้องกับปริมาณขยะ
หลังจากนั้นอีก 4 ครั้งถัดมา คือ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2560 เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2561 และเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 ได้สั่งการลักษณะคล้าย ๆ กัน แต่ช่วงปี 2560 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นแม่งานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยอยู่ แต่นับตั้งแต่เข้าปี 2561 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานหลักเพียงหน่วยงานเดียว โดยให้บูรณาการกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่นแทน
@ปี’58 มท.ชงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย
เบื้องต้นแนวคิดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ดีต่อมาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 หรือครบรอบ 1 ปีภายหลังการรัฐประหารโดย คสช. กระทรวงมหาดไทย ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย มีสาระสำคัญคือ ให้เกิดการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย หรือ Clusters โดยชูหลักการ ‘ขยะเกิดในพื้นที่ใด ควรเป็นความรับผิดชอบในการกำจัดของพื้นที่นั้น’
กระทรวงมหาดไทย อ้างรายงาน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ การบริหารจัดการขยะมูลฝอย ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาแบ่งกลุ่มพื้นที่ ดังนี้
1.ใช้เขตพื้นที่การปกครองเป็นหลัก เนื่องจากมีความชัดเจนและมีความสะดวกในการบริหารจัดการ
2.การแบ่งกลุ่มแต่ละกลุ่ม ใช้เขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดต่อกัน หรือมีเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียงกัน ประกอบกับใช้ข้อมูลจำนวนปริมาณขยะมาเป็นเกณฑ์ในการจัดกลุ่ม
3.จากเกณฑ์ในข้อ 2 สามารถกำหนดกลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละกลุ่มพื้นที่ได้ 3 ขนาด ได้แก่
3.1 กลุ่มพื้นที่ขนาดใหญ่ (L) หมายถึง กลุ่มพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขยะมูลฝอยรวมกันแล้วมากกว่า 500 ตัน/วันขึ้นไป
3.2 กลุ่มพื้นที่ขนาดกลาง (M) หมายถึง กลุ่มพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขยะมูลฝอยรวมกัน ตั้งแต่ 300-500 ตัน/วัน
3.3 กลุ่มพื้นที่ขนาดเล็ก (S) หมายถึง กลุ่มพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขยะมูลฝอยรวมกันแล้วน้อยกว่า 300 ตัน/วัน
@ต้องคำนึงผลกระทบประชาชน-สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังควรพิจารณาประเด็นการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากในการกำจัดขยะมูลฝอยส่งผลกระทบต่อประชาชนและสภาพแวดล้อม ดังนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าว ประกอบการพิจารณาคัดเลือกสถานที่กำจัดขยะเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน และชุมชน หรือจัดให้มีกระบวนการในการควบคุมผลกระทบในทุกด้านให้อยู่ในขอบเขตการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในการจัดให้มีกระบวนการคัดแยกขยะที่ไม่ย่อยสลายก่อนนำไปฝังกลบ
ขณะเดียวกันหลักการทั่วไป การกำจัดขยะในพื้นที่ควรเป็นความรับผิดชอบในเบื้องต้นของพื้นที่ที่ก่อขยะนั้น ยกเว้นกรณีมีความคุ้มทุนในการนำขยะไปกำจัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ หากจำเป็นต้องขนถ่ายขยะไปพื้นที่อื่นควรดำเนินการเฉพาะเท่าที่จำเป็นที่ต้องดำเนินการ เช่น การใช้เทคโนโลยีในการกำจัดขยะร่วมกันระหว่างหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรณีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
@ดึงเอกชนร่วมลงทุนสร้างโรงงานกำจัดขยะแปรรูปพลังงานไฟฟ้า
สาระสำคัญของการกำจัดขยะนั้น คือการร่วมกับเอกชนสร้างโรงงานกำจัดขยะเพื่อแปลรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยตามการศึกษาของกระทรวงมหาดไทย จะทำได้เฉพาะกลุ่มพื้นที่ขนาดใหญ่ (L) เท่านั้น โดยมีทั้งหมด 44 กลุ่ม ใน 27 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 1,347 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสอดคล้องกับพื้นที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ศึกษามาก่อนหน้านี้ จำนวน 16 จังหวัด เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี นครปฐม นครศรีธรรมราช นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต ระยอง ลพบุรี ลำปาง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสุราษฎร์ธานี
อย่างไรก็ดีจากการวิเคราะห์โดยสำรวจข้อมูลประกอบกับข้อเท็จจริงในพื้นที่จริง พบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในระยะแรก โดยไม่มีปัญหาด้านมวลชน 19 กลุ่มพื้นที่ จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี นนทบุรี นครปฐม นครสวรรค์ พิษณุโลก สงขลา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ส่วนที่เหลืออีก 25 กลุ่มพื้นที่จำนวน 14 จังหวัด จะต้องมีการศึกษาตรวจสอบข้อมูลในรายละเอียดต่อไป
สำหรับการดำเนินการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้านั้น ตามข้อมูลเมื่อปี 2558 ระบุว่า มีการก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 2 แหง คือ เทศบาลนครภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต และเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทั้ง 2 แห่ง
อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 3 แห่ง คือ กทม. เทศบาลตำบลโนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น และเทศบาลตำบลแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทั้ง 3 แห่ง ตกลงร่วมมือก่อสร้างแล้ว 4 แห่ง คือ เทศบาลตำบลเวียงฝาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อบต.บ้านป่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก อบจ.ระยอง จ.ระยอง โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทั้ง 3 แห่ง ส่วนเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา มีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง
ศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้าง จำนวน 2 แห่ง คือ เทศบาลนครนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครรราชสีมา และ อบจ.นนทบุรี จ.นนทบุรี อยู่ระหว่างดำเนินการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้าง จำนวน 1 แห่ง คือ อบจ.ลำพูน จ.ลำพูน อยู่ระหว่างจ้างสถาบันการศึกษาดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
@งบก้อนแรก 2.7 พันล้านไว้อุดหนุน อปท.
สำหรับงบประมาณเบื้องต้นที่สำนักงบประมาณระบุเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการขยะนั้น สำนักงบประมาณได้เสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยไว้ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว จำนวน 2,774 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอย
@สภาพัฒน์ฯค้านแนวทาง มท. เหตุไม่สอดคล้องแนวทาง ก.ทรัพยากรธรรมชาติฯ-ขาดความชัดเจน
เบื้องต้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ได้คัดค้านแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากไม่สอดคล้องกับ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อปี 2557
รวมทั้งยังขาดความชัดเจนในการกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย อาจจะส่งผลกระทบต่อแนวทางการเตรียมความพร้อมทั้งด้านข้อมูล บุคลากร และงบประมาณ จึงเห็นควรให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือในเรื่องดังกล่าวให้ได้ข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจน และนำไปบรรจุในแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศต่อไป
@ก.ทรัพยฯหารือ มท. ก่อนชง ครม. อนุมัติแนวทาง
ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ได้มีหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อรายงานข้อหารือระหว่างกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ในมติคณะรัฐมนตรีไม่มีรายละเอียดให้ตรวจสอบแต่อย่างใด
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2558 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติรับทราบแนวทางดังกล่าวตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้กระทรวงมหาดไทยประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแนวทาง/วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยให้ประชาชนทราบ และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่มีการสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการปัญหาขยะในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการขยะของประเทศในภาพรวมทั้งระบบ รวมถึงกำหนดให้มีกลไกเพื่อบูรณาการแก้ปัญหาขยะในภาพรวมให้เป็นเอกภาพ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยให้รับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข สภาพัฒน์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งหมดคือที่มาที่ไปเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยทั่วประเทศ ที่กำลังถูกสารพัดปัญหารุมเร้าอยู่ขณะนี้ ร้อนถึงนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ต้องออกมาชี้แจงประเด็นข้อสงสัยโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรอาจมีการทุจริตในหลายประเด็นด้วยกัน (อ่านประกอบ : กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นชี้แจงข้อสงสัยศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร)
ในคราวหน้า สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จะนำเสนอรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการดังกล่าวภายหลังกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานไปแล้ว โปรดติดตาม
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.อนุพงษ์ จาก nation