กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นชี้แจงข้อสงสัยศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นชี้แจง กรณีข้อสงสัยโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร อาจมีการทุจริต
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงประเด็นข้อสงสัยโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรอาจมีการทุจริต
1. ประเด็นคณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ขอชี้แจงว่า การจัดการขยะเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย ในอดีตมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ซึ่งอาจขาดการบูรณาการอย่างจริงจัง ทำให้ปัญหาขยะสะสมเป็นภูเขาขยะมาอย่างต่อเนื่อง สร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องของกลิ่น น้ำเสีย เชื้อโรค แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหาร ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาขยะ จึงได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และหาแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง
จุดเริ่มต้นเกิดจากปัญหากองขยะภูเขา ต.มหาพราหมณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา โดย คสช. มีมติวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ให้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล อปท. เข้าไปแก้ไขปัญหา เมื่อประสบผลในการแก้ภูเขาขยะ ครม. จึงมีมติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาขยะ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่กำกับ อปท. ผู้ปฏิบัติอยู่แล้ว โดยให้บูรณาการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยอื่นสนับสนุน กระทรวงมหาดไทยจึงได้ดำเนินการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้ข้อสรุปว่า ปัจจุบันไม่มีกฎหมายในเรื่องการคัดแยก เก็บ ขน ขยะมูลฝอยที่ชัดเจน การตั้งงบประมาณไม่เพียงพอ ขาดการบูรณาการ และการเข้าสู่กระบวนการกำจัดใช้ระยะเวลานาน เพราะติดปัญหาทางด้านกฎหมาย เช่น การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน กฎหมายผังเมือง และกฎหมายร่วมลงทุน กระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการขยะต่อ ครม. และ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 รับทราบแนวทางการจัดการขยะของกระทรวงมหาดไทย โดยปัจจุบันการดำเนินอยู่ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการจยะมูลฝอยของประเทศ (2559-2564) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอต่อ ครม. และมีมติเห็นชอบเมื่อ 3 พฤษภาคม 2559
2. ประเด็นการจัดตั้งองค์กรเป็นการภายในที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อพิจารณาโครงการ นั้น
ขอชี้แจงว่าไม่มีองค์กรเฉพาะ เพียงแต่การบริหารจัดการขยะปัจจุบัน ได้สร้างกลไกการบรูณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง คือ คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด และคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ฉบับที่ 2 ปี 2560 ซึ่งคณะกรรมการจะประกอบไปด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นฝ่ายเลขาฯ เท่านั้น เพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และต่างคนต่างทำ อย่างเช่นในอดีต
3. ประเด็น การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 งดเว้นการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และยกเว้นกฎหมายผังเมือง
ขอเรียนว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ นั้น จึงได้ปรับปรุงกฎหมาย ดังนี้
1) ปัญหาผังเมือง เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ภูเขาขยะ ซึ่งมีมาช้านานก่อนผังเมืองบังคับใช้ ย่อมเป็นอุปสรรคในการเข้าไปแก้ไขปัญหาโดยการสร้างโรงกำจัดขยะ ซึ่งมีพื้นที่จำกัด มีขั้นตอนยาวนานในการยกเว้นตามกฎหมายเดิม จึงจำเป็นต้องยกเว้นโดยกฎหมายพิเศษ แต่ทั้งนี้ แม้ยกเว้นผังเมืองแล้ว การจัดสร้างโรงงานกำจัดขยะ ได้มีกฎหมาย และระเบียบอื่น ๆ ต้องปฏิบัติ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดพื้นที่ห้ามก่อสร้างบ่อฝังกลบ เตาเผา และโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน สนง.กกพ. กำหนดหลักการปฏิบัติของ Code of Practice : COP เรื่องพื้นที่ และ กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดพื้นที่ห้ามก่อสร้างด้วยเช่นกัน
2) การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม : EIA นั้น ขอเรียนว่า โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานต่าง ๆ เช่น ขยะชีวมวล ขยะอุตสาหกรรม เป็นต้น ได้ปรับเปลี่ยนการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เหมาะสมกับประเภทโครงการ การดำเนินงาน และหน่วยกำกับที่เรียกว่า CoP (Code of Practice) ประมวลหลักปฎิบัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 เห็นชอบระบบรายงาน CoP และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้ออกประกาศ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 มีผลเป็นการยกเว้นให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงาน EIA โดยได้เปลี่ยนให้ดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice/ COP) และ สำนักงาน กกพ. กระทรวงพลังงาน ได้ออกระเบียบ CoP แต่ละประเภทของโรงไฟฟ้าออกมา โดยการจัดทำรายงานนั้น ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานกลาง(Third Party) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีประสบการณ์และขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับการจัดทำ EIA แต่เปลี่ยนผู้ควบคุมเป็น สำนักงาน กกพ. ซึ่งกำกับโครงการโรงไฟฟ้าโดยตรง
ดังนั้น โครงการไฟฟ้าพลังงานขยะ ไม่ได้ยกเลิกรายงานสิ่งแวดล้อม แต่เปลี่ยนจากระบบ EIA เป็น CoP เป็นการเฉพาะ โดยใช้มาตรฐานและกระบวนการเทียบเคียงกับ EIA เดิม ไม่ใช่ไม่มีการทำรายงานสิ่งแวดล้อมเลย อย่างที่มีข้อสงสัยมา รวมถึงโรงไฟฟ้าประเภทอื่นด้วย ไม่ใช่โรงไฟฟ้าขยะอย่างเดียว