กรมอนามัย ชี้ กิจกรรมแฝง “ลด แลก แจก แถม ติดต่อกลุ่มเป้าหมาย” เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.นมผง
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว โดยครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้การขับเคลื่อนบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงละเมิดด้วยกิจกรรมแฝง ลด แลก แจก แถม ติดต่อกลุ่มเป้าหมายแม่ตั้งครรภ์แม่หลังคลอด
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดขอนแก่น ว่า การสื่อสารและสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้วนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการให้ข้อมูลข่าวสารและปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม ยังพบเหตุการณ์ที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อการกระทำผิดหรือการละเมิดกฎหมายใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ กรณีที่หนึ่ง ผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารกได้จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์ แม่หรือบุคคลในครอบครัวที่มีบุตรซึ่งเป็นทารกและเด็กเล็ก และมีการให้ตัวอย่างอาหารสำหรับทารก พร้อมของขวัญ เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถทำได้ ถือเป็นการละเมิดและกระทำผิด ต่อข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า กรณีที่สอง ผู้ผลิตหรือตัวแทน ที่มีความประสงค์จะมอบสิ่งของ อุปกรณ์หรือของใช้แก่หน่วยบริการสาธารณสุขโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะนั้นสามารถกระทำได้ แต่ข้อควรระวังคือสิ่งของ อุปกรณ์ หรือของใช้ดังกล่าวจะต้องไม่มีชื่อ ตรา หรือสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นว่าเป็นอาหารสำหรับทารกหรือสื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับอาหารสำหรับทารก เพื่อป้องกันการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เมื่อแม่และครอบครัวมาใช้บริการ และ กรณีที่สาม กฎหมายอนุญาตให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย ทำการบริจาคอาหารสำหรับทารกและอาหารสำหรับเด็กเล็กได้ในสองกรณี คือ การบริจาค อาหารสำหรับทารกหรืออาหารสำหรับเด็กเล็กที่มีวัตถุประสงค์พิเศษเพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค หรืออาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคเฉพาะ ได้แก่ โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก แพ้โปรตีนนมวัวรุนแรง ลำไส้ล้มเหลว ทุพโภชนาการระดับสาม (รุนแรง) ภาวะการดูดซึมไขมันบกพร่อง หรือ อาหารเสริมนมแม่สำหรับทารกเกิดก่อนกำหนด (Human Milk Fortifier) โดยสามารถบริจาคให้แก่หน่วยบริการด้านสาธารณสุขเท่านั้นเพราะผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ อีกกรณีหนึ่งคือ การบริจาคอาหารสำหรับทารกให้แก่ เด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง โดยบริจาคให้แก่สถานสงเคราะห์ หรือมูลนิธิที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้
“ทั้งนี้ หากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อกฎหมายฉบับนี้ และประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลจะเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องแม่และเด็กทุกคน โดยสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากขึ้นทำให้เด็กที่ได้กินนมแม่ไม่เสียโอกาส ถูกเปลี่ยนไปกินนมผงก่อนเวลาอันควร ในขณะเดียวกันยังช่วยปกป้องแม่ที่จำเป็นต้องใช้นมผงให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านเกี่ยวกับนมผงและไม่ถูกโน้มน้าวด้วยวิธีส่งเสริมการตลาดผ่านการลด แลก แจก แถมของผู้ประกอบการนมผงที่มีมาอย่างยาวนาน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ทางด้าน นายแพทย์ชาตรี เมธาธราธิป ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางจังหวัดขอนแก่นได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง และได้เร่งชี้แจง ทำความเข้าใจและแนวทางการปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เห็นได้จากการที่จังหวัดขอนแก่นมีอัตราการกินนมแม่อย่างเดียวของทารกในช่วง 6 เดือนแรกสูงตามเป้าหมายที่ร้อยละ 50