เจาะงบขุดคลองแก้อุทกภัย 4 ปี รบ.บิ๊กตู่ 2 หมื่นล.-แค่ ปภ. 6 พันล. อผศ.ได้งานเยอะสุด
ชำแหละงบภาพรวม 4 ปีเศษขุดคลองแก้ภัยแล้ง-อุทกภัย 5,306 สัญญา 2 หมื่นล้าน เฉพาะ ปภ. 4,683 สัญญา 6.1 พันล้าน ปี’58 จ้างเยอะสุด 2,900 สัญญา 4.6 พันล้าน ด้าน อผศ. รับงานมากสุด 2.4 พันล้าน
“ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น เร่งดำเนินการตรวจสอบแล้วปรับปรุงสภาพและขุดลอกคูคลอง ทางระบายน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นแหล่งรองรับน้ำ/เป็นทางระบายน้ำได้อย่างคล่องตัวต่อไป”
เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการต่อกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อเร่งป้องกันการเกิดอุทกภัย โดยต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2561 (อ่านประกอบ : เน้นขุดลอกคลอง!‘บิ๊กตู่’สั่ง มท.-คมนาคมแม่งานป้องอุทกภัยขีดเส้น ธ.ค.ต้องเสร็จ)
หลายคนอาจจะรู้กันอยู่แล้วว่า ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงเวลา 4 ปีเศษที่ผ่านมา รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขุดลอกคลอง หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยมาอย่างต่อเนื่อง หลายโครงการ โดยมีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก หรือ อผศ. เป็นหน่วยงานหลักที่เข้าไปรับงานจำนวนหลายพันโครงการ วงเงินหลายพันล้านบาท ตามมติของกระทรวงการคลังที่ให้สิทธิพิเศษเมื่อช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 อย่างไรก็ดีด้วยสารพัดปัญหาความไม่ชอบมาพากลทำให้กระทรวงการคลังสั่งเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าวไปแล้วเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! เหตุผล‘คลัง’เลิกสิทธิพิเศษขุดคลอง อผศ. เจอจ้างช่วง-อ้างชื่อ‘บิ๊กป้อม’กินหัวคิว, เครื่องมือไม่ครบ-จ้างช่วงจริง! เหตุผล‘คลัง’เลิกสิทธิพิเศษ อผศ.ขุดคลอง)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อดูว่าในช่วงเวลา 4 ปีเศษภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เม็ดเงินเท่าไหร่ในการขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย พบรายละเอียด ดังนี้
นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 (เริ่มปีงบประมาณใหม่ 2558) จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ส.ค. 2561) พบว่า ในภาพรวมรัฐบาลใช้จ่ายเม็ดเงินเพื่อทำสัญญากับเอกชนขุดลอกคลอง-แหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวม 5,306 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 20,932,596,947 บาท หรือราว 2 หมื่นล้านบาท
สำหรับหน่วยงานหลักที่เข้าไปรับงานมากที่สุดในช่วง 4 ปีเศษที่ผ่านมาคือ อผศ. รวมทั้งสิ้น 665 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงินรวม 2,429,336,155 บาท ซึ่งเป็นไปตามมติของกระทรวงการคลังที่ให้สิทธิพิเศษ แต่ขณะนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว
ทั้งนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ถือเป็นหน่วยงานรัฐหลักที่เป็นผู้รับผิดชอบในการว่าจ้างเอกชนขุดลอกแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศมากที่สุด จากการตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐพบว่า 4 ปีเศษที่ผ่านมา ว่าจ้างเอกชนแล้ว 4,683 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงินรวม 6,118.57 ล้านบาท
โครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ จ้างขุดลอกหนองน้ำวังเดือนห้า ม.3 บ.หนองงูเหลือม ต.บ้านค้อ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 75.89 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2558 ดำเนินการโดย อผศ.
หากจำแนกรายละเอียดในช่วง 4 ปีเศษที่ผ่านมาแต่ละปี ปภ. ใช้เม็ดเงินว่าจ้างเอกชนทำสัญญาขุดลอกแหล่งน้ำ ดังนี้
งบประมาณปี 2558 จำนวน 2,900 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 4,689,63 ล้านบาท โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ จ้างขุดลอกหนองน้ำวังเดือนห้า ม.3 บ.หนองงูเหลือม ต.บ้านค้อ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 75.89 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2558 ดำเนินการโดย อผศ.
งบประมาณปี 2559 จำนวน 413 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 483.83 ล้านบาท โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ จ้างขุดลอกคลองบางแก้ว บ้านบางแก้ว ม.3 ต.ท่านางาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 21.6 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2558 ดำเนินการโดย อผศ.
งบประมาณปี 2560 จำนวน 1,118 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 718,08 ล้านบาท โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ จ้างขุดลอกบึงแก้มลิง (ศาลากลางจังหวัด) ด้วยวิธี e-bidding วงเงิน 54 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2560 ดำเนินการโดยบริษัท ดิอาคิเท็คส์ แอนด์ เทิร์นคีย์ จำกัด
งบประมาณปี 2561 จำนวน 252 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 227.03 ล้านบาท โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ โครงการบริหารจัดการน้ำกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ขุดลอกคลองธรรมชาติ ม.1, 2 ต.ตะโละ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงิน 12.71 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561 ดำเนินการโดย หจก.วีหนึ่ง เอ็นจิเนียริ่ง
น่าสังเกตว่า ในช่วงปี 2558 ปภ. ทำสัญญาว่าจ้างขุดลอกคลองเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายหลักเพื่อดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในช่วงนั้น อผศ. ยังได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าไปขุดลอกคลองกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศด้วย
(ที่มา ฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, สำนักข่าวอิศรา รวบรวม)
หมายเหตุ : ภาพประกอบขุดคลองจาก สำนักงาน กปร.