ค้นผลศึกษาแบงก์ชาติ เหตุใดแรงงานหญิงถึงหยุดทำงานตั้งแต่อายุ 45 ปี
การมีประชากรสูงอายุ หรือประชากรรุ่นบิดามารดาในครัวเรือน มีส่วนทำให้วัยแรงงานทำงานได้น้อยลง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากต้องสละเวลาเพื่อดูแลประชากรสูงวัยในครอบครัวมากขึ้น
โครงการศึกษาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจไทย (Thematic Studies) สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดผลการศึกษาเรื่อง "สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย" (คลิกอ่านฉบับเต็ม) เมื่อกรกฎาคม 2561
ความน่าสนใจของผลการศึกษาในระดับมหภาค ค้นพบว่า นอกจากแรงงานไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว แรงงานจะเริ่มออกจากตลาดตั้งแต่อายุ 45 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “แรงงานหญิง” ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
"การที่แรงงานผู้หญิงของไทย กลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่ออกจากตลาดแรงงานค่อนข้างเร็ว จะเริ่มหยุดทำงานหารายได้ตั้งแต่อายุ 45 ปี โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิงของไทยที่มีทักษะไม่สูงนัก หรือกลุ่มที่จบการศึกษาน้อยกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวนถึง 5.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 81 ของจำนวนผู้หญิงที่ออกจากตลาดแรงงานทั้งหมด "
สาเหตุหลักๆ ของการออกจากตลาดแรงงานของประชากรกลุ่มดังกล่าว คือ ภาระที่ต้องดูแลสมาชิกคนอื่นในครอบครัว อาจเป็นทั้งเด็ก คนป่วย หรือผู้สูงอายุ
ขณะที่แรงงานผู้ชายของไทย พบว่า จะอยู่ในตลาดแรงงานนานกว่า โดยยังคงทำงานจนถึงช่วงอายุ 55-59 ปี ในทุกระดับการศึกษา
นอกจากนี้ ยังพบว่า พฤติกรรมของประชากรรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกิดหลังปี 1970 มีส่วนทำให้ประชากรตัดสินใจทำงานลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับประชากรรุ่นก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ประชากรรุ่นใหม่ที่มีงานทำกลับมีจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยมากขึ้น และทำงานในระบบมากกว่าประชากรรุ่นก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากระดับการศึกษาของประชากรรุ่นหลังดีขึ้น ทำให้โอกาสหางานในระบบมีมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผลศึกษาปัจจัยด้านบุคคลที่กำหนดอุปทานแรงงานของไทย ยังพบว่า
- ผู้มีงานทำที่มีระดับการศึกษาสูง มีโอกาสจะทำงานนานกว่า และทำงานอยู่ในระบบมากกว่า
- ปัญหาสุขภาพก็มีผลต่อการตัดสินใจ "ลด" การทำงาน โดยเฉพาะแรงงานชายที่มีปัญหาสุขภาพ มีแนวโน้มจะลดชั่วโมงการทำงาน มากกว่าแรงงานหญิง
และเมื่อดูลักษณะโครงสร้างและขนาดครัวเรือนในแต่ละประเทศ สะท้อนถึงบทบาทและความรับผิดชอบของสมาชิกครอบครัวดูแลสมาชิกคนอื่นในบ้านที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ หรือเด็ก สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนแบบขยายค่อนข้างใหญ่ สะท้อนจากสัดส่วนของครัวเรือน 3 รุ่น ประกอบด้วย ประชากรรุ่นบิดามารดา วัยแรงงาน และลูกหลานคิดเป็นร้อยละ 33 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในปี 2012
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทำงานของประชากรวัยแรงงานไทย อย่างมีนัยสำคัญ และแตกต่างบริบทในต่างประเทศ
โดยผลการศึกษาปัจจัยด้านครอบครัว พบว่า
- ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ แรงงานมักออกจากงานเร็วกว่า และทำงานน้อยลง โดยเฉพาะแรงงานหญิงที่อยู่นอกเมือง
- ในครอบครัวที่มีเด็กเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่นอกเมือง แรงงานมีแนวโน้มทำงานน้อยลง หรือบางส่วนเลือกที่จะลดชั่วโมงการทำงาน หรือทำงานนอกระบบแทน
อย่างไรก็ดี แรงงานกลุ่มดังกล่าวจะกลับมาทำงานเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น แต่มักจะเลือกทำงานนอกระบบหรือทำงานในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นด้านเวลามากขึ้น
"การศึกษาในระดับจุลภาคพบว่า การมีประชากรสูงอายุ หรือประชากรรุ่นบิดามารดาในครัวเรือนมีส่วนทำให้วัยแรงงานทำงานได้น้อยลง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากต้องสละเวลาเพื่อดูแลประชากรสูงวัยในครอบครัวมากขึ้น
ผลดังกล่าวสะท้อนจากการเปรียบเทียบระหว่าง ครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิก 3 วัย กับครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิก 2 วัย พบว่า คนทำงานในครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิก 3 วัยจะมีโอกาสทำงานน้อยกว่าคนวัยทำงานในครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิก 2 วัย ประมาณ ร้อยละ 0.2 และมีโอกาสทำงานน้อยกว่า คนวัยทำงานในครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิก 1 วัยประมาณ ร้อยละ 2.6
การมีประชากรสูงวัย หรือประชากรรุ่นบิดามารดาในครัวเรือน มีส่วนทำให้วัยแรงงาน "บางกลุ่ม" ทำงานได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงานเพศหญิงที่อาศัยอยู่ในเมือง โดยสำหรับแรงงานกลุ่มดังกล่าว การมีผู้สูงอายุในบ้านช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานร้อยละ 0.8"
จะเห็นว่า บริบทตลาดแรงงานและลักษณะครอบครัวของไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยไปก่อนหน้านี้ การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ยังมีผลต่อกำลังแรงงานโดยตรง วันนี้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วัยแรงงานบางกลุ่มออกจากงาน ลดชั่วโมงการทำงาน หรือออกไปทำงานนอกระบบตั้งแต่ก่อนวัยเกษียณ
ช่วงท้าย ผลการศึกษาชิ้นนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการออกแบบนโยบายด้านแรงงานด้วยว่า จะต้องพิจารณาปัจจัยด้านครอบครัวของผู้มีงานทำประกอบด้วย