ธ.ก.ส. เพิ่ม 4 จังหวัด สานต่อประกันภัยแล้งนาข้าว
ธ.ก.ส. สานโครงการประกันภัยพืชผลจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีน้ำฝนผลิตข้าวหลังประสบความสำเร็จช่วยเกษตรกร 6 พันราย วงเงิน 71.5 ล้านบาท เตรียมเพิ่มพื้นที่คุ้มครองอีก 4 จังหวัด
วันที่ 24 พ.ค.55 ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายบุญช่วย เจียดำรงค์ชัย รองผู้จัดการธ.ก.ส. นายยูจิ คาวาอูชิ ประธานกรรมการบริหารบริษัทสมโพธิ์ เจแปน ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการประกันภัยพืชผลจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีน้ำฝนสำหรับการผลิตข้าว ปีการผลิต 55 เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างหลักประกันความมั่นคงและลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ
นายบุญช่วย เปิดเผยว่า การประกันภัยพืชผลจากภัยแล้งเป็นรูปแบบของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงด้านการผลิตให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ชีวิตของตนเอง โดยปี 54 ที่ผ่านมาได้ดำเนินงานประกันภัยในพื้นที่รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา มีเกษตรกรลูกค้าซื้อประกันภัยรวม 6,173 ราย พื้นที่ประกันภัยจำนวน 35,775 ไร่ ค่าเบี้ยประกันภัย 3,319,920 บาท วงเงินประกันภัย 71,550,000 บาท ทั้งนี้ได้มีการจ่ายสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรผู้ทำประกันภัย และประสบภัยแล้งไปแล้วจำนวน 90 ราย จำนวนเงิน 141,000 บาท และจ่ายส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรที่ไม่ประสบภัย จำนวน 6,083 ราย จำนวนเงิน 1,404,498 บาท
รองผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวต่อว่า ในปีการผลิต 55 ได้ขยายพื้นที่การดำเนินงานเพิ่มอีก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่กู้เงินเพื่อปลูกข้าว โดยมีพื้นที่การปลูกข้าวไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และอยู่ในเขตพื้นที่ดำเนินงานของ ธ.ก.ส. สาขาที่เกษตรกรกู้เงิน ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยจะคิดอัตราร้อยละ 4.64 ของวงเงินที่ประสงค์จะเอาประกันภัย เช่น หากเกษตรกรกู้เงินเพื่อปลูกข้าว จำนวน 200,000 บาท มีความต้องการจะทำประกันภัยพืชผลในวงเงิน 10,000 บาท จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย เท่ากับ 464 บาท ทั้งนี้ค่าเบี้ยประกันภัยแต่ละรายขั้นต่ำเท่ากับ 464 บาท
สำหรับระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 55 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 55 รวม 92 วัน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือช่วงที่ 1 เริ่มวันที่ 1- 31 ก.ค.55 และช่วงที่ 2 เริ่มวันที่ 1 ส.ค. - 30 ก.ย.55 โดยค่าสินไหมทดแทนที่เกษตรกรจะได้รับ ในกรณีที่ปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกจริงต่ำกว่าหรือเท่ากับกับค่าดัชนีน้ำฝนสะสมขั้นสูงสำหรับภัยแล้งประเภทต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ เกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยในกรณีที่เกิดภัยแล้งช่วงแรกในอัตราร้อยละ 10 ช่วงที่2 อัตราภัยแล้งร้อยละ 15 หรือภัยแล้งรุนแรง ร้อยละ 40 ของจำนวนเงินกู้ที่ประสงค์จะเอาประกันภัย
“โครงการประกันภัยพืชผลจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีน้ำฝนสำหรับการผลิตข้าวจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรได้อย่างดี เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับชีวิตของเกษตรกรด้วยตัวของเกษตรกรเอง” นายบุญช่วยกล่าว.