เปิด พ.ร.บ.ข้าว ดึงชาวนาแก้ปัญหา-ราคาตก ยึดข้าวสวมสิทธิ์ได้-‘บิ๊กตู่’หนุนเต็มที่
เปิดร่าง พ.ร.บ.ข้าว ยุค ‘บิ๊กตู่’ แก้ไขปัญหาโครงสร้างการผลิต-ขายข้าวอย่างเป็นระบบ ช่วยเหลือชาวนาเต็มรูปแบบ ตั้ง กก.ข้าว มาดูแล ดึงภาครัฐ-เอกชน-ชาวนา-ผู้ซื้อข้าวร่วมหารือ ผลักดันสร้างผลประโยชน์ เปิดช่องให้อำนาจ จนท. เข้าไปยึด-ทำลายข้าวปนเปื้อน พวกลักลอบค้าข้าว ป้องถูกสวมสิทธิ์ กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนจำหน่ายพันธุ์ข้าวไม่ถูกรับรอง-ข้าวเสื่อม โฆษณาเป็นเท็จ แต่ไม่มีการกำหนดโทษชาวนา
ปัจจุบันนโยบายเกี่ยวกับข้าวกำลังได้รับความสนใจจากชาวนาทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาดำเนินการเอาจริงเอาจังกับนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวนาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันราคาข้าวในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้น
สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกเหนือจากโครงการรับจำนำยุ้งฉางที่ถือเป็นนโยบายหลักในการช่วยเหลือชาวนาแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ออกอากาศทุกคืนวันศุกร์ ถึงร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับใหม่ ที่จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวนาในการเพาะปลูกข้าว รวมถึงดูแลบริหารภาพรวมการจัดการข้าวอย่างเป็นระบบด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับนี้ พบว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลุ่มหนึ่งได้จัดทำร่างขึ้นมา ปัจจุบันได้เสนอร่างดังกล่าวแก่ที่ประชุม สนช. เพื่อพิจารณา สรุปหลักการเหตุผล และสาระสำคัญได้ ดังนี้
ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับดังกล่าว สรุปหลักการและเหตุผลว่า ข้าวเป็นพืชสำคัญของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง แต่ปัจจุบันการทำนากำลังประสบปัญหาทั้งระบบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของ เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงต่อการขาดทุน ปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ประสิทธิภาพ และคุณภาพผลผลิตมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ชาวนามีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จึงสมควรปรับปรุง และพัฒนา เพื่อให้กระบวนการผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิตมีความมั่นคง ยั่งยืนอย่างบูรณาการ และเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ ตลอดจนสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งตามยุทธศาสตร์ชาติ มีกลไกควบคุมการผลิต และการจำหน่ายข้าวอย่างเป็นระบบ สร้างความเป็นธรรมระหว่างชาวนาและผู้รับซื้อ มีคณะกรรมการข้าวที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศเพื่อให้มีการนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีระบบที่ให้ความคุ้มครองชาวนาให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และรักษาความเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับดังกล่าว สรุปได้ว่า กำหนดให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ นอกจากนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าว (คกข.) ที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตข้าว มีหน้าที่จัดทำแผนนโยบายยุทธศาสตร์ข้าว ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ กำหนดมาตรการ และรูปแบบที่ส่วนราชการ ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาในรูปแบบเครือข่ายชาวนา ส่งเสริมให้ชาวนาจัดซื้ออุปกรณ์และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ และราคาที่เป็นธรรม
กำหนดมาตรการที่กรมการข้าวต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ชาวนามีความรู้ เข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างเหมาะสม กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ จะทำให้แผนนโยบายบริหารจัดการผลิตข้าวของประเทศ มีความต่อเนื่อง และนำสู่การปฏิบัติจริง เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน และให้กรมการข้าวทำหน้าที่เป็นสำนักงานคณะกรรมการข้าว โดยให้อธิบดีกรมการข้าวทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าว และเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของสำนักงาน ซึ่งไมเป็นการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่
พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจเข้าไปเก็บตัวอย่างข้าวเปลือก ข้าวสาร ผลพลอยได้ ตรวจค้น ยึด อายัดสมุดบัญชีและเอกสารหรือหลักฐานใด เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กำหนดให้มีการจดทะเบียน และการขึ้นทะเบียนผู้ซึ่งดำเนินการหรือประกอบกิจการต้องมาจดทะเบียน รวมถึงบุคคลต้องมาขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อกำกับและควบคุมตั้งแต่ปัจจัยการผลิต กระบวนการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ และการจำหน่ายข้าวเปลือกรักษาความเป็นธรรมสำหรับชาวนาและผู้รับชื้อทำให้ภาครัฐมีข้อมูลในภาคการผลิตข้าวที่ถูกต้อง สำหรับการวางแผนหรือกำหนดนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติสำหรับการพัฒนาข้าวและชาวนา
ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดให้มีการทำเขตศักยภาพการผลิตข้าว (Zoning) ของประเทศโดยมีเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ โดยการวิเคราะห์พื้นที่แหล่งผลิตข้าวทั่วประเทศ ทั้งพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกข้าวและพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสม ทั้งด้านกายภาพและด้านการตลาด เพื่อประโยชน์ในการกำหนดให้มีการผลิตข้าวตามพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวให้สามารถลดต้นทุน มีผลผลิตที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ โดยมีบทเฉพาะการให้ดำเนินแล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้การกำหนดเขตศักยภาพการผลิตข้าว (Zoning) มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
กำหนดโทษสำหรับผู้ใดฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนด ในเรื่องการรับชื้อข้าวเปลือก การฝ่าฝืนการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับการรับรอง เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เสื่อมคุณภาพ หรือปลอมปน และการโฆษณาเมล็ดพันธุ์ข้าวอันเป็นเท็จ เพื่อคุ้มครองให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี
อนึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีการกำหนดโทษใด ๆ เกี่ยวกับชาวนาไว้ หากแต่การไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ อาจมีผลให้ชาวนาไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเท่าที่ควร
นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติในการป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าว และข้าวเปลือกเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ยึดและทำลายข้าวเพื่อเป็นการป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมี โรค แมลง ที่จะเข้ามาระบาดในประเทศ ตลอดจนป้องกันการสวมสิทธิ์การผลิตข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อประโยชน์ในการขอรับการช่วยเหลือจากนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพข้าว และบริหารจัดการข้าวของประเทศ
มีบทเฉพาะกาล ให้มีการปรับโครงสร้างกรมการข้าว เพื่อให้สอดคล้องกับทบบาทหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนด ที่ไม่กระทบต่อการเพิ่มงบประมาณของแผ่นดิน และกำหนดให้มีกฎระเบียบ ประกาศ รวมทั้งหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นไปตามอำนาจของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ออกให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวัน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ถึงการดำเนินการร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับที่ .. พ.ศ. …. สรุปได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ปัจจุบันสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดทำร่างขึ้นมาแล้ว อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาประเด็นว่า จะมีคนดูแลการประกอบข้าวได้อย่างไร ทั้งเกษตรกร ผู้ค้าข้าว เพราะเป็นห่วงโซ่เดียวกัน ต้องดูแลทั้งหมด ทั้งการผลิต แปรรูป การตลาด ดูกลไกว่าขณะนี้เพียงพอหรือไม่ ทั้งนี้กรมการค้าข้าว ที่จัดทำยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศนั้น ได้จัดทำบิ๊กดาต้าขึ้นมา เพื่อบริหารรวมกันเรียกว่า แผนบริหารการผลิตข้าวแบบครบวงจร มีคณะกรรมการฯทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนเกษตรกร หารือร่วมกันเพื่อวางแผนการผลิตไปจนถึงการตลาด ตั้งแต่การกำหนดอุปสงค์ อุปทาน ช่วงเวลาการผลิต บางครั้งอาจต้องมีการผลิตเหลื่อมเวลากัน เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำ
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า เพราะฉะนั้นการที่ สนช. พิจารณาในเรื่องความจำเป็นของ พ.ร.บ.ข้าว ก็ต้องหารือกันต่อไป ต้องดูถึงความซ้ำซ้อน ไม่ซ้ำซ้อน มันดีกว่าหรือไม่ อย่างไร แล้วก็ขอให้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยว่า มันมีปัญหาหรือเปล่า ครบถ้วนหรือยัง ถ้าไม่ครบจะทำอย่างไร จะมีหรือไม่มี เป็นเรื่องของการพิจารณาด้วยหลักการและเหตุผลที่ครบถ้วน ไปดูตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง สิ่งที่เน้นย้ำอย่างเดียวคือ ดูแลต้นทางให้มากที่สุด เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และดูในเรื่องของตลาดนำการผลิตอุปสงค์-อุปทานให้ได้ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น (อ่านคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ ฉบับเต็มได้ที่ : http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/14542)
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก times of oman