รมว.สธ.ชี้รับฟังความเห็นพัฒนาสิทธิบัตรทอง กลไกสู่ความสำเร็จระบบหลักประกันสุขภาพ
“หมอปิยะสกล” มอบนโยบายเวทีรับฟังความเห็นพัฒนาสิทธิบัตรทอง ปี 61 ย้ำ “รับฟังความเห็นทั่วไป” กลไกสร้างการมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของร่วมกัน หนุน 16 ปี “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” สู่ความสำเร็จ นานาชาติยอมรับ ต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมชื่นชม สปสช.สร้างความแข็งแกร่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมจัดทำข้อสรุป นำเสนอต่อบอร์ด สปสช.ต่อไป
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ รร.เซ็นทราฯ ศูนย์ราชการฯ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มอบนโยบาย “ทิศทางความร่วมมือกับกลไกนโยบายหลักประกันสุขภาพระดับโลก เพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพในประเทศ” “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2561 “เสียงเพื่อกลุ่มเปราะบาง: ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จัดโดยคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย บอร์ด สปสช. อนุกรรมการฯ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้เสีย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การรับฟังความเห็นทั่วไปเป็นหัวใจสำคัญของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้เริ่มในปี 2545 ตลอดระยะเวลา 16 ปีได้ผ่านร้อนผ่านหนาว มีอุปสรรคปัญหามากมาย แต่ประเทศไทยได้ฟันฝ่ามาได้ มีการพัฒนาและปฏิรูปหลายครั้ง จนกระทั่งวันนี้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เห็นได้จากการเข้าร่วมประชุมองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ยกย่องให้ไทยเป็นประเทศตัวอย่าง แม้ไม่ร่ำรวยแต่สามารถบริหารจัดระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ลดความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ต้องล้มละลายจากปัญหาสุขภาพ
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ แม้แต่ นายทีโดรส อัดฮานิม กีบรีเยซุส (Mr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ซึ่งเข้าร่วมประชุมนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2561 ยังกล่าวชัดเจนว่าประเทศไทยได้พิสูจน์แล้วว่า ประเทศรายได้ปานกลางอย่างไทย สามารถขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยมีรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินนโยบายประชารัฐ ส่งผลให้เกิดเป็นความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งจากการประชุมองค์การอนามัยโลกที่ผ่านมา มีหลายประเทศเข้าพบขอนำแนวทางระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยไปใช้ ทั้งประเทศเคนย่า หรือแม้แต่อิหร่านประเทศที่ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาร่วม 10 ปี แต่ด้วยใช้ระบบ Fee For Service คือ รพ.จ่ายเท่าไหร่ เบิกจากรัฐบาลเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่าย จึงขอนำระบบของไทยที่มีรูปแบบการจ่ายชดเชยหลากหลาย อาทิ ระบบ DRG และ UCEP เป็นต้น ไปเป็นแนวทางพัฒนาต่อไป
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ส่วนกระบวนการรับความเห็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ สปสช.ได้ดำเนินอยู่นี้ ต้องบอกว่ามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากมีการรับข้อเสนอและความเห็นแล้ว ยังได้มีการติดตามเพื่อให้บรรลุผล ซึ่งทุกฝ่ายต่างให้ความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ขอชื่นชม สปสช. เพราะยิ่งเวลาผ่านไป ความแข็งแกร่งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยิ่งเพิ่มมากขึ้น สะท้อนความสำเร็จจากการได้รับ 2 รางวัลกองทุนหมุนเวียน ประจำปี 2561 ประเภทผลการดำเนินงานดีเด่นและประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่นที่ผ่านมา ในการบริหารกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้งบประมาณที่จำกัด ถือเป็นความสำเร็จของ สปสช.และทุกภาคส่วนที่ต่างร่วมมือกัน โดยยึดหลักการสำคัญ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารและรับฟังความคิดเห็นทั่วไป กล่าวว่า การรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ในปี 2561 นี้ มีผู้ร่วมเสนอความเห็นจำนวน 13,101 คน ทั้งจากผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ อปท. กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มอื่นๆ โดยกลุ่มเปราะบางมีสัดส่วนเสนอความเห็นมากสุด ร้อยละ 34 รองลงมาเป็น ผู้รับบริการ ร้อยละ 29 ผู้ให้บริการ ร้อยละ 20 อปท.ร้อยละ 9 และกลุ่มอื่น ร้อยละ 8 นอกจากนี้ยังรับฟังความเห็นผ่านระบบออนไลน์และแบบสอบถามจำนวน 1,796 คน ซึ่งภาพรวมได้มีการนำเสนอความเห็นในประเด็นต่างๆ ทั้ง 7 ด้าน ตามข้อบังคับ คือ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ
ทั้งนี้ข้อเสนอที่ได้สรุปรวบรวม อาทิ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ยา ทั้งยาต้านไวรัสเอชไอวี โดลูเทกูรินในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย และยา Growth hormones ในเด็กที่มีการเจริญเติบโตไม่สมวัย, การทบทวน ปรับหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ การรับ-ส่งต่อให้เหมาะสมกับบริบท, การกระจายเครื่องช่วยฟัง, การจัดช่องทางด่วนสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ, การเพิ่มประสิทธิภาพการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนบริการปฐมภูมิ, การเพิ่มบทบาทการเข้าร่วมบริการจัดการของภาคประชาชน, สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาระเบียบหรือแนวทางการใช้เงินอย่างถูกต้อง, ให้มีกลไกรองรับยาใหม่และยาแพงที่จะนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และการเพิ่มงบรายหัวจาก 45 บาท เป็น 50-60 บาท เป็นต้น ขณะที่ข้อเสนอต่อประเด็นกลุ่มเปราะบาง อาทิ เสนอเพิ่มโค้วต้าพิเศษกรณีพระสงฆ์ในการลงทะเบียนย้ายสิทธิใน กทม.และเขตเมือง และการจัดตั้งกองทุนดูแลคนไทยไร้สิทธิในระหว่างรอการพิสูจน์สถานะ เป็นต้น
“หลังจากนี้จะมีเรียบเรียงประเด็นที่ได้รับฟังความเห็นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอต่อคณะทำงาน อนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ เพื่อสรุปความเห็นและนำเสนอต่อ บอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และ บอร์ด สปสช.เพื่อพิจารณาในการดำเนินการและติดตามประเมินผลต่อไป” นพ.จรัล กล่าว