ข้อมูลโรงขยะ ปี 60 พบมีระบบกำจัดถูกต้องแค่ 643 แห่ง จากทั้งหมดเกือบ 3 พันแห่ง
คพ.เผยแพร่ทางการ สถานการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ปี 60 พบเปิดให้บริการโดยระบบกำจัดถูกต้องเพียง 643 แห่ง จากทั้งหมดเกือบ 3 พันแห่ง
ปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณ ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากแหล่งกําเนิดขยะมูลฝอยต่าง ๆ ประมาณ 27.37 ล้านตัน หรือประมาณ 74,998 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีปริมาณ 27.06 ล้านตัน แต่หากพิจารณาเฉพาะอัตราการเกิดขยะมูลฝอย พบว่า ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เหลือเพียง 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน จากเดิม 1.14 กิโลกรัม/คน/วัน
จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ปัญหาขยะมูลฝอยในประเทศไทยยังเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องช่วยกันรณรงค์ เพื่อหาวิธีลดปริมาณกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมา ดูเหมือนการจัดการยังประสบปัญหา โดยเฉพาะการให้บริการของสถานที่กำจัดขยะ
ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในชุมชนของประเทศไทย ปี 2560 โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ (อ่านฉบับเต็ม: http://www.pcd.go.th/Info_serv/File/WasteSociety60.pdf) ระบุ ปัจจุบันมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเอกชน ทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 3,101 แห่ง
โดยเปิดให้บริการ 2,867 แห่ง หรือร้อยละ 92 ของจํานวนสถานที่กําจัดขยะมูลฝอย และปิดให้บริการแล้ว 234 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของจํานวนสถานที่กําจัดขยะมูลฝอยทั้งหมด
สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ปี 2560 ที่เปิดเเละปิดดำเนินการ
ในจำนวน 2,867 แห่ง ที่เปิดให้บริการ พบดำเนินการได้อย่างถูกต้องเพียง 643 แห่ง เท่านั้น
ส่วนที่เหลืออีก 2,209 แห่ง พบว่า ดำเนินการไม่ถูกต้อง โดยมีการเทกอง การเผากลางแจ้ง การใช้เตาเผาขนาดเล็กที่ไม่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศ
และสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย 15 แห่ง
ระบบกําจัดขยะมูลฝอยแบบถูกต้อง ปี 2560 ที่เปิดดําเนินการ
ระบบกําจัดขยะมูลฝอยแบบไม่ถูกต้อง ปี 2560 ที่เปิดดําเนินการ
สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย ปี 2560 ที่เปิดดําเนินการ
ทั้งนี้ จังหวัดที่มีปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างในสถานที่กําจัดขยะมูลฝอยที่ดําเนินการไม่ถูกต้องมากที่สุด คือ จ.นครศรีธรรมราช มีปริมาณขยะตกค้าง 1.13 ล้านตัน ซึ่งพบว่าอยู่ ณ สถานที่กําจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชมากที่สุด ประมาณ 1.11 ล้านตัน
รองลงมา คือ จ.ฉะเชิงเทรา (0.47 ล้านตัน) พระนครศรีอยุธยา (0.31 ล้านตัน) กาญจนบุรี (0.24 ล้านตัน) และจ.สมุทรสาคร (0.23 ล้านตัน)
อย่างไรก็ตาม มีเพียง 7 จังหวัด เท่านั้น ที่ไม่มีปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างในสถานที่กำจัดขยะที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง ได้แก่ ยโสธร สมุทรสงคราม อ่างทอง สมุทรปราการ นนทบุรี ภูเก็ต และกรุงเทพมหานคร
จึงมีข้อแนะนำแนวทางเบื้องต้นทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยต่าง ๆ ลดลง ด้วยการปรับปรุง ฟื้นฟู สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง มีการออกแบบทางวิศวกรรมที่ดี พัฒนาสมรรถนะในการกำจัดขยะมูลฝอย เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเก็บขนขยะมูลฝอย ส่งเสริมสังคมรีไซเคิล และส่งเสริมการนําขยะมูลฝอยมาผลิตพลังงาน
เพื่อไทยจะได้เป็นประเทศสะอาดที่มีสภาพแวดล้อมดีเสียที .