สปสช.จัดเวทีรับฟังความเห็น ปี 61 แก้ปัญหาประชากรกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ
เริ่มแล้ว “เวทีรับฟังความเห็นบัตรทองระดับประเทศ ปี 61” ร่วมแก้ปัญหา “ประชากรกลุ่มเปราะบาง” เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม พร้อมรับฟังความเห็น 7 ด้าน สู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบ พร้อมเผยผลจากการรับฟังความเห็น มีผลดีทางตรงและทางอ้อม สร้างการมีส่วนร่วม หนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสู่ความสำเร็จ
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2561 นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดเวทีรับความความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2561 “เสียงเพื่อกลุ่มเปราะบาง: ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมราว 500 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อนุกรรมการฯ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้เสีย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สปสช. เพื่อรับฟังความเห็นและจัดทำข้อเชิงนโยบายสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.จรัล กล่าวว่า การรับฟังความเห็นโดยทั่วไปทั้งจากผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกลไกสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา นอกจากทำให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคน ให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียม ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยในมาตรา 18 (13) ได้กำหนดให้มีการจัดประชุมเพื่อเปิดรับความเห็นฯ เป็นประจำทุกปีและดำเนินต่อเนื่องมา 16 ปีแล้ว ทั้งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ในยุทธศาตร์ที่ 4 คือการสร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และยุทธศาสตร์สื่อสารสังคมและการรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ (พ.ศ. 2560-2564)
นพ.จรัล กล่าวว่า การรับฟังความเห็นปีนี้ นอกจากประเด็น 7 ด้านตามข้อบังคับแล้ว ได้เพิ่มประเด็น “การเข้าถึงสิทธิและบริการของกลุ่มเปราะบางตามบริบทของพื้นที่” ที่เป็นประเด็นเฉพาะตามที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบ เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในสังคม อาทิ ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ ผู้พิการ และประชากรพื้นที่ชายขอบ เป็นต้น ให้เกิดการแก้ไขปัญหาและพัฒนา ดูแลคนเหล่านี้ให้เข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็น “การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เพื่อกระตุ้นการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น และ “การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ” ทั้งที่ดำเนินผ่านกลไกกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC: Long Term care) และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
สำหรับความเห็นต่างๆ ที่ได้รับ ทั้งจากเวทีรับฟังความเห็นในระดับพื้นที่ 13 เขต เวทีรับฟังความเห็นระดับประเทศในวันนี้ และความเห็นที่นำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ ตลอดทั้งปี ทั้งจากระบบออนไลน์ และการประชุมต่างๆ คณะอนุกรรมการฯ จะนำมาสังเคราะห์และสรุปเพื่อนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.ในการพิจารณาดำเนินการต่อไป
“การรับฟังความเห็นจากอดีตถึงปัจจุบัน ได้ส่งผล 2 ประการ คือ 1.ผลทางตรง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ในการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐาน ตามมาตรา 44 และ 45 และเป็นข้อมูลสู่การบริหารกองทุนฯ ตามมาตรา 46 และ 2.ผลทางอ้อม คือ 1.สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และผู้มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบ 2.ติดตามเร่งรัดแผนงานโครงการที่ล่าช้าและมีปัญหา นำมาสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างพื้นที่และส่วนกลาง 3.ประชาสัมพันธ์ สื่อสาร เร่งรัดและติดตามยุทธศาสตร์และแผ่นหลักต่างๆ อาทิ กลุ่มเปราะบาง การสื่อสารออนไลน์ เป็นต้น และ 4.เชื่อมเครือข่าย ระหว่างทุกภาคส่วน ทุกเครือข่าย ผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และประชาชน”ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 16 ปี ของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.ได้ให้ความสำคัญต่อกระบวนการรับฟังความเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เพียงแต่เกิดการพัฒนารุดหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการยอมรับจากทั้งในประเทศและต่างประเทศในการทำหน้าที่ดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพ แต่ยังตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ รวมถึงในส่วนผู้ให้บริการที่เป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้มีสิทธิในระบบ โดยได้นำความเห็นและข้อเสนอที่ได้มาปรับปรุง เพิ่มเติม เพื่อแก้ไขในจุดบกพร่อง เช่น ปัญหาการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง ที่เป็นประเด็นรับฟังความเห็นเพิ่มเติมในปีนี้ ส่งผลให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน
ทั้งนี้ การรับฟังความเห็น 7 ด้าน ตามข้อบังคับ คือ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ