ที่นี่มีเรื่องเล่า...อาชีพพระราชทาน ณ สหกรณ์โคมนมมวกเหล็ก
สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก 1 ใน 35 ชุมชนสหกรณ์นำร่องที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) มีแนวทางจะส่งเสริมให้เป็นสถานที่จัดงาน “ไมซ์เพื่อชุมชน” ก้าวไปสู่สถานที่แหล่งศึกษาดูงานการผลิตน้ำนมตั้งแต่ต้นทาง- ปลายทาง
มวกเหล็ก ได้ฉายาคาวบอยซิตี้ หรือเมืองคาวบอย เวลาเรามา มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี หลายคนอาจแวะท่องเที่ยวฟาร์มโคนมที่ใดสักแห่งที่ดังๆ มีชื่อเสียง ยอมควักระเป๋าเพื่อจ่ายค่าเข้าชม และสนุกกับกิจกรรมป้อนนมวัวเพื่อได้ทำความรู้จักกระบวนการผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ และนมยูเอสที ก่อนซื้อสินค้าติดไม้ติดมือกลับบ้าน
และเมื่อพูดถึงมวกเหล็ก ทุกคนมักนึกถึง วัวแดง (องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย:อ.ส.ค.) นายนครินทร์ สีบงกช ที่ปรึกษาสหกรณ์โคนม มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ยอมรับว่า อ.ส.ค.ถือเป็นพี่ที่สอนอาชีพพระราชทานนี้ให้สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก
สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2515 ดำเนินการสืบสานอาชีพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการส่งเสริมการเลี้ยงโคมนมเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชนชาวไทย ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมจำนวน 555 ฟาร์ม (ส่งนมจริง 366 ราย) เลี้ยงดูโคนม รวมทั้งสิ้น 12,00 ตัว รวบรวมน้ำนมดิบได้ประมาณ 118 ตันต่อวัน มีเงินทุนหมุนเวียนจากการทำธุรกิจในแต่ละปีสูงกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวกระจายลงไปถึงชุมชนเกษตรกรรายย่อย
นายนครินทร์ บอกว่า ระยะเวลากว่า 46 ปี วันนี้สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก มีธุรกิจทั้งการจำหน่ายและบริการ เรามีมินิมาร์ทจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป มีสถานีบริการน้ำมันดีเซล ธุรกิจสินเชื่อ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส.และกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีโรงงานอาหารสัตว์ ทั้งชนิดผงและชนิดเม็ดครบวงจร รวมถึงฝ่ายสัตว์แพทย์ผสมเทียมบริการสมาชิกด้วย พอถึงช่วงสิ้นปีจะมีการปันผลกลับคืนสู่สมาชิกในสหกรณ์
ธุรกิจล่าสุดที่เพิ่งเพิ่มขึ้นมา คือ ธุรกิจการแปรรูปนม มีโรงงานแปรรูปนมระบบพาสเจอร์ไรซ์ และยูเอสที รวมไปถึงธุรกิจการแปรรูปผลิตภัณฑ์
เกือบครึ่งหนึ่งของนมที่สหกรณ์ฯ รวบรวมได้จากสมาชิกสหกรณ์ จะผลิตเป็น "นมโรงเรียน"นายเอกลักษณ์ ฮวยแหยม ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายโรงงานแปรรูปนมพร้อมดื่ม สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด อธิบายว่า สหกรณ์โคนมวกเหล็ก มีโควต้าผลิต 42 ตันต่อวัน โดยจัดส่งไปยังโรงเรียนในพื้นที่ 15 จังหวัด แบ่งเป็นภาคกลาง 13 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด
“นมโรงเรียนเรามีสินค้า 2 ประเภท ผลิตนมกล่องยูเอสที 30% และนมพาสเจอรไรซ์ 70% ส่วนใหญ่เปิดเทอมโรงเรียนจะให้เด็กดื่มนมถุงพาสเจอร์ไซซ์วันต่อวัน ปิดเทอมจะเป็นนมกล่อง”
ส่วนขั้นตอนการตรวจเช็คคุณภาพน้ำนมดิบก่อนนำไปแปรรูปนั้น นายเอกลักษณ์ ยืนยันว่า สิ่งที่รับไม่ได้เลย คือ เวลาตรวจสอบคุณภาพน้ำนมแล้วพบ นมมียาปฏิชีวนะปนเปื้อน เราจะส่งคืนทันที ซึ่งสหกรณ์เรามีขั้นตอนตรวจตั้งแต่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบแล้ว จึงไม่เคยเจอเมื่อน้ำนมดิบมาถึงหน้าโรงงาน
ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายโรงงานแปรรูปนมพร้อมดื่มฯ ยังชี้ว่า นมพาสเจอร์ไรซ์ มีอายุการเก็บค่อนข้างสั้นไม่น้อยกว่า 7 วัน โรงงานบางแห่งที่มีเทคโนโลยีสูงๆ สามารถจัดเก็บนมประเภทนี้ได้ถึง 25 วัน แต่ของสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก มีการรับประกันสินค้านมพาสเจอร์ไรซ์ เก็บได้ 12 วัน
ขณะที่นายสมาน มอญหา ประธานกรรมการ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ จากที่ติดลบ ปี 2560 สามารถทำกำไรได้ 28 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่ของสหกรณ์เรามาจากธุรกิจอาหารสัตว์ รองลงมา คือ ธุรกิจการแปรรูปนม
ปัจจุบันนี้ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก เป็น 1 ใน 35 ชุมชนสหกรณ์นำร่องที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ มีแนวทางจะส่งเสริมให้เป็นสถานที่จัดงาน “ไมซ์เพื่อชุมชน” ก้าวไปสู่สถานที่แหล่งศึกษาดูงานการผลิตน้ำนมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ที่ผู้ศึกษาดูงานสามารถชมกระบวนการเลี้ยงโคนม รีดนม สาธิตการป้อนนมลูกโค กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ การผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ การผลิตนมยูเอสที และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนม ตลอดจนกิจกรรมเวิร์คช็อปสอนวิธีการทำขนม อาทิ เค้กหน้านิ่ม โยเกิร์ต ไอศกรีมนมสด Gellato พุดดิ้งนมสด เป็นต้น
นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ ทีเส็บ กล่าวว่า ประชุมเมืองไทย ไมซ์เพื่อชุมชน เป็นหนึ่งในโครงการพิเศษที่ทีเส็บจัดร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ ส่งเสริมให้คนมาประชุม สัมมนา เดินทางมาท่องเที่ยว หรือเรียกว่า ประชุมเที่ยวเรื่องเดียวกัน เนื่องจากนโยบายของภาครัฐต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ทีเส็บจึงนึกถึงสหกรณ์ที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 8 พันแห่ง โดยเฉพาะสหกรณ์มีศักยภาพสามารถเป็นแหล่งประชุม สัมมนา เรียนรู้แลกเปลี่ยนกันได้
“เราพบว่า หลายแห่งมีความพร้อม มีเรื่องเล่าดีๆ เยอะ ที่สำคัญสถานที่พร้อม สินค้าพร้อม คนพร้อม เราจึงเข้ามาส่งเสริมเพื่อให้มีรายได้กระจายสู่ชุมชนให้ได้มากที่สุด ทีเส็บตั้งเป้าเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปยังองค์กรภาคธุรกิจ สมาชิกเครือข่ายอนาคตไทย บริษัทต่างๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน สถานศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ โดยจากนี้ไปจะเปิดตัวคู่มือสถานที่จัดงานไมซ์และกิจกรรม Table Top Sale จับคู่เจรจาธุรกิจพร้อมผลักกันให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชนและองค์กรธุรกิจต่างๆในการทำงานร่วมกัน สนับสนุนด้านการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชน”สราญโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
และไม่เกินปีนี้ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก มีแผนปรับปรุงสำนักงานเป็นอาคาร 2 ชั้น พร้อมห้องประชุม เพื่อรองรับผู้ร่วมประชุมประมาณ 200 คน รวมถึงการปรับปรุงร้านกาแฟ บริเวณด้านหน้า รองรับนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการด้วยงบประมาณกว่า 12 ล้านบาท
สมาน มอญหา ประธานกรรมการ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด
สราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ ทีเส็บ
หลากหลายผลิตภัณฑ์แปรรูป จากนมโคแท้ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นำร่อง 35 สหกรณ์ ชู “ไมซ์เพื่อชุมชน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก