ผลสรุปโครงการครูพอเพียงฯ พบ 33% ติดหนี้ขั้นวิกฤติ สาเหตุขาดความรู้จัดการเงิน
เปิดผลสรุปดำเนินโครงการครูพอเพียงฯ พบครู 33% มีหนี้สินขั้นวิกฤติ ครึ่งหนึ่งของกลุ่มยอมรับ เพราะอบายมุข สาเหตุหลัก ไม่มีความรู้จัดการเงิน เข้าถึงสินเชื่อง่ายเกินไป
โครงการครูพอเพียง ปลอดหนี้ ชีวีสมดุล จัดทำขึ้นเพื่อหาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาครูเป็นหนี้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นระบบ
โดยมีการนำเสนอข้อสรุปจากการดำเนินโครงการฯ ในเวทีมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo2018) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2561 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ พบว่า
ร้อยละ 36 ครูกลุ่มตัวอย่างมีหนี้สิน ไม่มีปัญหาทางการเงิน ใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ มีรายได้เสริมจากสินทรัพย์ เช่น ทำการเกษตร มีห้องเช่า มีรถตู้ให้เช่า
ร้อยละ 19 มีหนี้สิน และเริ่มมีปัญหา
และร้อยละ 12 มีหนี้สิน และมีปัญหา เป็นกลุ่มที่จัดการหนี้ไม่ถูกวิธี ทำให้มีโอกาสประสบปัญหาการเงินหนักขึ้น
ขณะที่ร้อยละ 33 มีปัญหาหนี้สินขั้นวิกฤติ ส่วนใหญ่เป็นเสาหลักของทางบ้านที่ 'ต้องปลดหนี้' แทนพ่อแม่หรือกู้เงินให้ญาติพี่น้อง ไม่มีสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้
อย่างไรก็ดี ร้อยละ 50 ในกลุ่มนี้ยอมรับว่า เป็นหนี้เพราะอบายมุข
ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ กรรมการและเลขานุการโครงการครูพอเพียงฯ บอกเล่าถึงสาเหตุสำคัญทำให้ครูกลุ่มตัวอย่างเป็นหนี้ คือ การไม่มีความรู้ในการจัดการเงิน และทัศนคติเกี่ยวกับการเป็นหนี้ที่ไม่เหมาะสม ชวนกันเป็นหนี้ เพราะเห็นว่าการไม่เป็นหนี้เป็นเรื่องแปลก หรือสลับกันค้ำประกัน ทั้งที่ทราบว่า ไม่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ นอกจากนี้ยังมีแรงจูงใจจากการเข้าถึงบริการสินเชื่อง่ายเกินไป เพราะสามารถหักเงินเดือนจากบัญชีของครูได้อัตโนมัติ
ทั้งนี้ เมื่อได้เข้าไปดำเนินโครงการครูพอเพียง ได้ข้อสรุปว่า ร้อยละ 100 มีความพยายามจะลดค่าใช้จ่าย รู้วิธีการจัดการตนเอง ซึ่งเราไม่ได้นำปลาไปให้ครู แต่เรานำเบ็ดไปให้ครู เพื่อให้รู้วิธีการจัดการตนเอง ซึ่งพบว่าการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงทำให้มีความสุขมาก
“ครูจำนวนครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้ทำจริงจัง ยังมีปัญหาอยู่ แต่อีกครึ่งหนึ่งที่ทำจริงจัง ชีวิตดีขึ้นจริง ๆ นั่นแสดงว่า มีภูมิคุ้นกันแล้ว” กรรมการโครงการครูพอเพียงฯ กล่าว และว่า สมัยก่อนเจ้าหนี้มาหา ครูจะถามก่อนว่า ให้กู้เท่าไหร่ แต่หลังจากโครงการครูพอเพียงฯ เข้าไป ครูจะเปลี่ยนคำถามว่า ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ผ่อนนานแค่ไหน
ขณะที่ปัจจุบัน ดร.อัจฉรา กล่าวว่ามีหลักสูตรการเงินพอเพียง 4 หลักสูตรพื้นฐาน คือ หลักสูตรเด็กไทยอุปนิสัยพอเพียง หลักสูตรครูรุ่นใหม่หัวใจพอเพียง หลักสูตรครูไทยใส่ใจการเงิน และหลักสูตรการเงินพอเพียงสำหรับนักศึกษาครู ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรถือเป็นการวิจัยที่ดีมาก
“หลักสูตรได้พัฒนาครูใน 26 จังหวัด ประมาณ 3,000 คน โดยมีพันธมิตรสำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารออมสิน ซึ่งทำให้ครูเริ่มมีความรู้จัดการการเงินได้แล้ว ถึงแม้จะไม่ 100% ก็ตาม”
ดร.อัจฉรา กล่าวทิ้งท้ายถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศไทยผ่านงานวิจัย ทำได้โดยนักวิจัยต้องใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทุกขั้นตอนการทำวิจัย ต้องมีความรู้ถูกต้องในเรื่องที่ทำ คุณธรรม ความพอประมาณ และข้อเสนองานวิจัย ต้องบูรณาการหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปให้ได้ เพื่อการขยายผลจะเกิดความยั่งยืนและมั่นคง
“งานวิจัยเป็นเรื่องสนุก หากทำจากเล็กไปใหญ่ อย่างผู้รู้จริง และใช้หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง” กรรมการโครงการครูพอเพียงฯ ระบุ
เพื่อสุดท้ายเเล้ว ครูไทยจะปลอดหนี้ ชีวีมีสุข ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง .