10 ปีปลูกถ่ายไขกระดูกในเด็กกว่า 300 คน สปสช.เตรียมพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์เพิ่ม
หมอมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็ก เผยปัจจุบันมีผู้ป่วยปีละประมาณ 600 ราย ชี้ควรขยายชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองครอบคลุมการรักษา แม้ 10 ปีที่ผ่านมาพัฒนาไปมาก
ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง หัวหน้าโครงการโรคมะเร็งในเด็ก สาขาโลหิตวิยาและโรคมะเร็ง ภาควิชากุมารศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และในฐานะคณะทำงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ได้ออกแบบสิทธิประโยชน์มะเร็งโลหิตวิทยาในเด็ก กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเด็กเฉลี่ยแล้วพบถึงปีละ 600 คน และมีถึง 200 คน ที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายเม็ดเลือด หรือการทำสเต็มเซลล์ไขกระดูก ซึ่งสาเหตุยังคงไม่พบว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่สำหรับผู้ป่วยในสิทธิประโยชน์ของ สปสช.หรือบัตรทองนั้น ยังไม่สามารถครอบคลุมการรักษาได้ทั้งหมด เนื่องจากมีกฎระเบียบระบุเอาไว้ว่า จะสามารถปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้จากผู้บริจาคที่เป็นพี่น้องตามสายเลือดเท่านั้น
ศ.นพ.สุรเดช กล่าวว่า แต่เดิมนั้นการปลูกถ่ายเม็ดเลือดในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไม่อาจรักษาให้หายได้ด้วยเคมีบำบัด แต่ต้องรักษาต่อยอดด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่ง สปสช.มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคดังกล่าว โดยสามารถปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้เฉพาะกับพี่น้องที่มีเซลล์ตรงกันเท่านั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่เซลล์จะสอดคล้องกับทั้งผู้บริจาคและผู้รับซึ่งเป็นพี่น้องกันนั้น จะมีโอกาสแค่ 25% ซึ่งเซลล์ของพ่อและแม่ไม่มีทางตรงกันอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาขีดความสามารถในการรักษาปัจจุบันพบว่าแพทย์สามารถค้นหาเซลล์ในพ่อแม่เพื่อปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ให้กับลูกที่ป่วยได้ แต่ต้องยอมรับว่าสิทธิประโยชน์ตรงจุดนี้ยังไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นไปเนื่องจากยังมีข้อติดขัดด้านงบประมาณ นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ที่จะขอการปลูกถ่ายจากผู้บริจาคของสภากาชาดไทยก็ยังไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะยังติดขัดในแง่ของงบประมาณ
“แต่ถือว่ามีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ขึ้นมาอย่างมากในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เพราะแต่เดิมสิทธิ สปสช.ไม่สามารถทำการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้เลย ล่าสุดก็ให้รักษาได้แต่ต้องได้รับไขกระดูกจากพี่น้องร่วมสายเลือด ซึ่งขณะนี้ทราบว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อประสานงานไปยังสภากาชาดไทยในการขอรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีการพิจารณาเป็นอย่างไร” ศ.นพ.สุรเดช กล่าว
ศ.นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมานั้นผู้ป่วยรายแรกที่ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เกิดขึ้นเมื่อราว 30 ปีก่อน แต่สำหรับสิทธิประโยชน์ในการรักษาของ สปสช. หรือบัตรทองนั้นเพิ่งให้สิทธิมาประมาณ 10 ปี และมีเด็กที่ได้รับการปลูกถ่ายเสต็มเซลล์ไปแล้วราว 300 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในเด็ก เพราะปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยในเด็กจำนวนมากที่รอการปลูกถ่าย ซึ่งบางส่วนก็เป็นการปลูกถ่ายผ่านการบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาล ซึ่งต้องยอมรับว่าเงินบริจาคมีมากกว่างบประมาณที่ สปสช.ให้มา
“ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็กมีความจำเป็นต้องปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งแผนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมมากกว่าเดิมเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องพิจารณา ซึ่งต้องมาดูว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมประชุมกันเพื่อหาประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย” ศ.นพ.สุรเดช กล่าวทิ้งท้าย