เจาะบ.เอ็กเพย์ฯ ธุรกิจแรก คดี 'บูม-พวก'หลอกลงทุนบิทคอยน์797ล.-ชื่อ'ประสิทธิ์' หราถือหุ้น
"...สำนักข่าวอิศรา พบข้อมูลว่า บริษัท เอ็กเพย์ ซอฟแวร์ จำกัด มีตัวตนอยู่จริง จดทะเบียนจัดตั้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 26 พย.2557 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 251/420 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แจ้งประกอบธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 28 กันยายน 2560 นาย ชาคริส อาห์มัด ถือหุ้นใหญ่ 50% วงเงิน 1,000,000 บาท นาย ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ 25% 500,000 บาท นาย อาร์นี่ โอทาวา ซาริมา ชาวฟินแลนด์ 20% 400,000 บาท นางสาว ชนนิกานต์ แก้วกาสี 5 % 100,000 บาท นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ตุลาคม 2560 แจ้งว่า มีรายได้รวม 1,661,848 บาท รวมรายจ่าย 1,299,612 บาท กำไรสุทธิ 355,936 บาท..."
กำลังเป็นคดีใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ!
สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม เข้าทำการจับกุมตัว นาย จิรัชพิสิษฐ์ จารวิจิต หรือ บูม นักแสดงจากซีรี่ย์ความรักครั้งสุดท้าย ที่ถูกออกหมายจับ ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน หลังมีผู้เสียหายชาวต่างชาติเข้าแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกนายบูมและครอบครัว หลอกลงทุนสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) ทำให้เสียหายเป็นเงินกว่า 7 ร้อยล้านบาท และยังการออกหมายจับนายปริญญา จารวิจิต และ นางสาวสุพิชย์ฌา จารวิจิต พี่ชายและพี่สาวของนายบูม ในข้อหาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการสอบสวนเชื่อมโยงไปถึง นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ บุคคลที่มีชื่อเสียงในตลาดหลักทรัพย์ ว่าอาจมีความเกี่ยวข้องด้วย แม้ว่า นายประสิทธิ์ จะได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมชี้แจ้งว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของขบวนการนี้เช่นเดียวกัน
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูล บริษัท เอ็กเพย์ ซอฟแวร์ จำกัด ที่ปรากฎอยู่ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ที่ระบุว่าในช่วงปลายเดือน ม.ค.2561 ที่ผ่านมา นาย อาร์นี่ โอทาวา ซาริมา ชาวฟินแลนด์ ผู้เสียหายในคดี ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายปริญญา จารวิจิต พี่ชายของ บูม นักแสดงชาย กับพวก ว่า ถูกหลอกลวงนำเงินไปโดยทุจริตจำนวน 797 ล้านบาท ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่า ในช่วงมิ.ย.2560 ถูกนายปริญญา นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ และนายปัณณ์ฉัตร ชยุตธนา ชักชวนให้ตนเอง และน.ส.ชนนิกานต์ แก้วสาสี เข้ามาซื้อหุ้น บริษัท เอ็กเพย์ ซอฟแวร์ จำกัด และร่วมลงทุนอีกหลากหลายธุรกิจ ก่อนที่ผู้เสียหายจะตกลงตามข้อเสนอและโอนเงินบิตคอย์ เป็นวงเงินกว่า 797 ล้านบาทให้ แต่ไม่เคยได้รับหุ้น หรือไม่เคยได้รับการเชิญการประชุมผู้ถือหุ้นหรือเงินปันผลลงการลงทุนแต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา พบข้อมูลว่า บริษัท เอ็กเพย์ ซอฟแวร์ จำกัด มีตัวตนอยู่จริง จดทะเบียนจัดตั้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 26 พย.2557 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท
ตั้งอยู่เลขที่ 251/420 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
แจ้งประกอบธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้
ปรากฎชื่อ นาย อเล็กซี่ เว็กแมน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 28 กันยายน 2560 นาย ชาคริส อาห์มัด ถือหุ้นใหญ่ 50% วงเงิน 1,000,000 บาท นาย ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ 25% 500,000 บาท นาย อาร์นี่ โอทาวา ซาริมา ชาวฟินแลนด์ 20% 400,000 บาท นางสาว ชนนิกานต์ แก้วกาสี 5 % 100,000 บาท
บริษัทฯ นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ตุลาคม 2560 แจ้งว่า มีรายได้รวม 1,661,848 บาท รวมรายจ่าย 1,299,612 บาท กำไรสุทธิ 355,936 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า ที่อยู่เลขที่ 251/420 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ยังเป็นที่ตั้งเดียวกับบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่ง คือ บริษัท เอ็กซ์เพย์ กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2557 ทุน 2,000,000 บาท
แจ้งประกอบธุรกิจ ขายสินค้าเครื่องไฟฟ้าทางอินเตอร์เน็ต
ปรากฎชื่อ นายอเล็กซี่ เว็กแมน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 27 กรกฎาคม 2560 บริษัท เอ็กเพย์ ซอฟแวร์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 49% 980,000 บาท บริษัท เอ็นเอ็กซ์เชน อินคอปอเรเต็ด จำกัด 47% 940,000 บาท นาย ชาคริส อาห์มัด 4% 80,000 บาท
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อ บริษัท เอ็กซ์เพย์ กรุ๊ป จำกัด ตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในประกาศรับสมัครงาน 038-236-005 เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง เพิ่มเติม แต่ไม่มีผู้รับสาย
ขณะที่ พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผบก.ป. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนล่าสุดว่า สำหรับตัว น.ส.สุพิชย์ฌา เบื้องต้นได้มีการประสานผ่านคนกลางมาเพื่อขอเข้ามอบตัว แต่ยังไม่ได้มีการระบุวันเวลาสถานที่ในการเข้ามอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งสำหรับตัวนางสาวสุพิชย์ฌา ยังไม่พบข้อมูลว่ามีการหลบหนีออกนอกประทศ นอกจากนี้จากการสืบสวน มีข้อมูลพอที่คาดว่าจะสามารถออกหมายจับเพิ่มอีกประมาณ 5-6 คน ซึ่งจะเป็นคนที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่ใช่คนในตลาดหลักทรัพย์ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์
ในส่วนของตัวนายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ บุคคลที่มีชื่อเสียงในตลาดหลักทรัพย์ ที่เข้ามาพบเพื่อเข้าชี้แจ้งอ้างว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของขบวนการนี้เช่นเดียวกัน แต่จากการสืบสวน รวบรวมหลักฐานเจ้าหน้าที่ตำรวจพบข้อมูลที่เชื่อได้ว่านายประสิทธิ์ อาจจะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน
จากการตรวจสอบ 3 บริษัท ที่มีการเปิดทั้งในประทเศไทยและฮ่องกง ยังพบว่านายปริญญา เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว และจากการตรวจสอบทะเบียนการค้าทั้งสามบริษัท พบว่ามีคนในตระกูลจารวิจิตร เข้าร่วมมีส่วน และบางบริษัทที่มีการแอบอ้างกับผู้เสียหายไม่มีตัวตนจริง นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายดังกล่าวอีกหลายบริษัท ซึ่งตำรวจกองปราบปรามอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน
ส่วนนายบูม ได้ถูกคุมตัวไปขออำนาจศาลอาญารัชดาฝากขัง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยื่นคัดค้านการประกันตัวเนื่องจากมีมูลค่าความเสียหายสูงเกรงจะหลบหนี
สำหรับพฤติการณ์ของขบวนการหลอกลวงนักลงทุนชาวต่างชาติ ครั้งนี้ ถูกระบุว่า เป็นการหลอกลวงให้นำเหรียญ bitcoin มาลงทุนในประเทศไทย โดยนำเหรียญดังกล่าวไปเปลี่ยนเป็นอีกหนึ่งสกุลเพื่อลงทุนต่อไปยังตลาดหลักทรัพย์และนำไปใช้ใน บ่อนการพนันที่มาเก๊า แต่ไม่มีการนำเงินไปลงทุนอย่างที่กล่าวอ้างแต่นำเงินดังกล่าวไปหมุนเวียนใช้จ่ายภายในครอบครัว และใช้เงินซื้อที่ดิน ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงินได้แล้วกว่า200ล้านบาท จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ามีบัญชีที่เกี่ยวข้องกว่า 40บัญชี (อ้างอิงข่าวส่วนนี้ จากกรุงเทพธุรกิจ http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/809955)