เสียงจากเหยื่อไฟใต้...ไม่อยากได้เจ็ดล้านห้า แค่ขอให้รัฐเยียวยาและเหลียวแล
ผ่านไปแล้วครบ 3 วันสำหรับกิจกรรมการจัดหน่วยเคลื่อนที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ออกรับลงทะเบียนจาก "เหยื่อไฟใต้" ที่ต้องการรับความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ กระจายไปทั้ง 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
ภาพที่ปรากฏแม้จะสะท้อนความสำเร็จของรัฐบาลและ ศอ.บต.จากนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังความรู้สึกเศร้าสลดที่ได้เห็นเหยื่อความรุนแรงจำนวนมากเดินทางไปรอยื่นเอกสารกันอย่างเนืองแน่นทุกจังหวัด
หลายรายต้องกลายเป็นคนพิการ ต้องนั่งรถเข็นมาต่อแถวลงทะเบียน ซ้ำร้ายยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลายเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงนิทรา ลุกจากเตียงไม่ได้ ต้องให้คนในครอบครัวมายื่นเอกสารแทน
เป็นภาพที่ตัดกันระหว่างความสวยงามของน้ำใจ กับความโหดร้ายจากไฟใต้ที่โหมกระหน่ำมานานกว่า 8 ปีและยังไม่มีทีท่าว่าจะมอดดับลง...
3 วันของการเปิดรับลงทะเบียน จำนวนผู้ได้รับผลกระทบที่มากมายแม้จะไม่เกินความคาดหมาย แต่สิ่งที่ผิดคาดก็คือแทบไม่มีสุ้มเสียงของความผิดหวังเรื่องยอดเงินช่วยเหลือเยียวยาซึ่งค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าไม่น่าจะมีใครได้ถึง 7.5 ล้านบาทเท่าผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง
ญาติผู้สูญเสียจำนวนมากบอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า พวกเขาต้องการเพียงแค่เงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนให้พอยังชีพ ทุนการศึกษาให้บุตรหลานได้เล่าเรียน และความสนใจ ใส่ใจ เหลียวแลเยี่ยมเยียนจากภาครัฐบ้าง...เท่านั้นเอง
นับเป็นความพอเพียงอันงดงามของพี่น้องชายแดนใต้ แม้ต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์และหวาดภัยจากความรุนแรงก็ตาม
ขอแค่ครอบครัวมีกิน ลูกได้เรียน...ก็พอใจแล้ว
มะซูดิง ดะแม็ง อายุ 35 ปี เหยื่อกระสุนจากคนร้ายไม่ทราบฝ่ายที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี บอกว่า ถูกยิงมา 8 เดือนแล้ว ทุกวันนี้กลายเป็นคนทุพพลภาพ ไม่สามารถทำงานอะไรได้เลย ภรรยาต้องรับหน้าที่ดูแลทั้งตนเองและลูกเล็กๆ อีก 2 คน โดยอาศัยเงินจากการปลูกผักสวนครัวขายเป็นรายได้ประทังชีวิต
"ที่มายื่นขอความช่วยเหลือในวันนี้ก็แค่ต้องการงานที่มั่นคง เช่น โครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาทต่อเดือน ผมเห็นคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบยังได้รับ แต่เราทำงานไม่ได้ ถูกใครยิงก็ไม่รู้ ก็คิดว่ารัฐน่าจะให้เราบ้าง นอกจากนั้นก็อยากได้ทุนการศึกษาให้กับลูกๆ ผมขอแค่นี้ ให้ครอบครัวมีกิน ลูกได้เรียนหนังสือก็พอใจแล้ว"
อยากให้รัฐส่งหมอมาเยี่ยมลูกชายบ้าง...
มะดอเฮร์ ดอเลาะห์ อายุ 50 ปี พ่อค้าจาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับภรรยาเพื่อลงทะเบียนเยียวยาให้กับลูกๆ 3 คนที่ตกเป็นเหยื่อมอเตอร์ไซค์บอมบ์เมื่อปี 2551 โดยลูกชายคนโตซึ่งขณะเกิดเหตุอายุแค่ 8 ขวบยังเป็นเจ้าชายนิทรา ต้องนอนใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่จนถึงปัจจุบัน
เขาบอกว่าอยากได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของลูกๆ รวมทั้งอยากให้รัฐส่งแพทย์มาเยี่ยมลูกที่บ้านบ้าง
"ผมเคยได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากทางราชการ แต่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าเดินทางทำให้เงินที่ได้รับมาไม่เพียงพอ ภรรยาก็ต้องออกจากงานมาดูแลลูกเต็มตัว แถมยังต้องย้ายบ้านเข้ามาอยู่ในเขตอำเภอเมืองเพื่อความสะดวกในการดูแลลูกด้วย ปัจจุบันผมต้องขายของทุกวันเพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ" มะดอเฮร์ กล่าว
อยากได้เครื่องตัดหญ้าไปทำงานเลี้ยงลูก
ฟารีดะห์ ประดู่ วัย 32 ปี ชาวบ้านกาโสด หมู่ 5 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา หนึ่งในเหยื่อกราดยิงร้านน้ำชาเมื่อ 4 พ.ค.ปีที่แล้ว เล่าว่า ขณะเกิดเหตุเธอท้องได้ 3 เดือน ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องเสียลูกไป ต้องตัดม้ามและลำไส้ออกไปบางส่วน แขนซ้ายก็หัก ปัจจุบันยังใช้การได้ไม่ดี ต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถออกไปตัดยางเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
"อยากให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษาของลูกๆ 3 คน เพราะแม้จะได้รับเงินเยียวยาทุกเดือน แต่ก็ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของลูกที่อยู่ในวัยเรียน ขณะนี้ทราบว่าจะได้รับการสนับสนุนเครื่องตัดหญ้า หากได้มาจริงก็จะช่วยให้ฉันสามารถประกอบอาชีพเล็กๆ น้อยๆ ได้บ้าง"
ครูผู้สูญเสียพ่อและสามีหวังได้ทุนเรียนต่อ
มากลือซง วาแต ข้าราชการครูวัย 34 ปี จากโรงเรียนบ้านเตาปูน ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา ซึ่งต้องเสียชายอันเป็นที่รักถึง 2 คนเมื่อปี 2550 ในเวลาห่างกันเพียง 50 วัน คือ สามีกับบิดาของเธอซึ่งทำงานเป็นพนักงานการรถไฟฯ เธอเล่าว่า หลังเกิดเหตุแม้จะได้รับเงินเยียวยา แต่แม่ของสามีและภรรยาใหม่ของพ่อเป็นผู้รับเงินช่วยเหลือไปทั้งหมด ทำให้เธอประสบกับความลำบาก
"เมื่อก่อนยังไม่มีหลักเกณฑ์เยียวยาเป็นสัดส่วน แต่วันนี้มีแล้ว ทำให้ประชาชนจะได้รับความช่วยเหลือรอบด้านมากกว่าในอดีต ทั้งเรื่องจิตใจ ที่อยู่อาศัย การศึกษา อาชีพ และความเป็นธรรม ส่วนตัวอยากได้รับการช่วยเหลือด้านการศึกษา ก็หวังว่าภาครัฐจะดูแล"
ไม่อยากได้เจ็ดล้านห้า...แค่แวะมาเยี่ยมบ้างก็พอ
เองล่าย แซ่ซอง ผู้เฒ่าไทยพุทธวัย 73 ปีซึ่งเคยถูกคนร้ายยิงใส่ที่หน้าท้องจนต้องผ่าตัดลำไส้ เดินทางมาพร้อมกับภรรยาวัย 70 ปี เขาบอกว่าที่มายื่นขอรับการช่วยเหลือก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ขอแค่มีใครก็ได้แวะมาสอบถามข่าวคราวความเป็นอยู่ของสองตายายบ้างก็พอแล้ว นอกจากนั้นก็อยากให้รัฐดูแลเรื่องความปลอดภัย ส่วนเงิน 7.5 ล้านบาทที่เคยมีข่าวว่าจะให้ ถึงไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไร
มลินี รังทอง ผู้ได้รับผลกระทบจาก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือการเอาใจใส่ดูแลของภาครัฐ เข้าไปเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงทุกพื้นที่ เพื่อจะได้เป็นพลังในการต่อสู้ชีวิตต่อไป
ทั้งหมดนี้คือเสียงจากเหยื่อไฟใต้ที่ไม่ได้หวังเงินเยียวยามากมาย แค่ขอให้รัฐเหลียวแลพวกเขาบ้างก็เพียงพอ...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ผู้สูงอายุที่บางรายตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจนพิการ ต้องนั่งรถเข็นมายื่นเอกสารลงทะเบียน (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
2 มะดอเฮร์ ดอเลาะ
3 มากลือซง วาแต (ภาพโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.)
หมายเหตุ : เนื้อหาบางส่วนจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.