สปสช.ชวนเครือข่ายคนพิการ 7 ประเภท ผลักดันข้อเสนอปรับระบบหลักประกันสุขภาพ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ โดยมีตัวแทนเครือข่ายคนพิการทั้ง 7 ประเภทเข้าร่วมเสนอความคิดเห็นในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขสำหรับคนพิการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ทั้งนี้ หลังการระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายคนพิการประเภทต่างๆ สมลักษณ์ แซ่ลิ้ม นักวิชาการอิสระ ได้นำเสนอข้อเสนอไว้ 5 ประเด็นหลัก โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.การเพิ่มสิทธิประโยชน์คนพิการให้เข้าถึงบริการสุขภาพและการฟื้นฟูสมรรถภาพความพิการ โดยเสนอให้มีการจัดระบบคูปองในการเบิกกายอุปกรณ์ไม้เท้าขาว เพื่อให้คนพิการสามารถมีทางเลือกคุณสมบัติของไม้เท้าได้หลากหลาย รวมทั้งจัดบริการผ่านสมาคมที่มีในพื้นที่เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเสนอให้เพิ่มประสิทธิประโยชน์การใส่ตาปลอมให้เป็นส่วนหนึ่งของชุดกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการ การเพิ่มสิทธิประโยชน์รายการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์ในทุกประเภทความพิการ การให้หน่วยบริการสุขภาพจะต้องมีสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้คนพิการทุกประเภทสามารถเข้าถึงบริการได้ เช่น ล่ามภาษามือ แอปพลิเคชัน หรือบัตรคิว เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังเสนอให้พัฒนาระบบการส่งต่อคนพิการทางจิตในกลุ่มอาการกำเริบ เช่น จัดรถรับส่งด่วนสำหรับคนที่มีอาการจิตกำเริบ พัฒนาระบบการดูแลคนพิการทางจิตที่เชื่อมโยงกับภาครัฐและองค์กรคนพิการทางจิต ให้องค์กรคนพิการทางจิตเป็นหน่วยบริการร่วม พัฒนาระบบบริการและการคัดกรองทางการเรียนรู้ พัฒนาระบบบริการจัดให้มีคลินิกพิเศษสำหรับบุคคลออทิสติกในโรงพยาบาลระดับจังหวัดทุกจังหวัดและเพิ่มพละบำบัดเป็นโปรแกรมบำบัดบุคคลออทิสติก การทำหมันผ่านการส่องกล้องจัดเป็นบริการ โดยเฉพาะการผ่าตัดใหญ่ในกลุ่มบุคคลออทิสติกที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ตลอดจนขอให้กองทุน สปสช.ระดับพื้นที่มีตัวแทนคนพิการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง รวมทั้งขอให้มีบริการกายอุปกรณ์โดยการจัดสรรงบประมาณผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล
2. การเพิ่มสิทธิประโยชน์การเข้าถึงอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ โดยเสนอให้เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์เครื่องช่วยฟังและประสาทหูเทียม เพิ่ม/ทบทวนสิทธิประโยชน์อุปกรณ์ วัสดุทางการแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย
3. สิทธิประโยชน์การเข้าถึงยาสำหรับคนพิการ เสนอให้ปรับเปลี่ยนยาขยายกระเพาะปัสสาวะ ปรับมาตรฐานยาและการเข้าถึงยารักษาอาการผู้ป่วยจิตเวช โดยปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในการเข้ารับยา เพิ่มสิทธิประโยชน์หลักและสิทธิประโยชน์เฉพาะ บรรจุยาริสเพอริโดนประเภทน้ำอยู่ในบัญชียาหลัก ขอให้คงยาน้ำออริจินอลไว้ในระบบบัญชียาหลัก
4. สิทธิประโยชน์การเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารบริการ และความรู้ที่จำเป็นกับคนพิการ เสนอให้พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร จัดบริการคอลเซ็นเตอร์ 1330 สำหรับคนหูหนวก พัฒนาการค้นหาข้อมูลเพื่อรองรับจำนวนคนพิการที่ใช้บริการผ่านล่ามภาษามือตู้ TTRS หรือช่องทางอื่นๆในการไปโรงพยาบาลพบแพทย์หรือเข้าถึงบริการสาธารณสุข
และ 5. หน่วยบริการร่วมให้บริการโดยองค์กรของคนพิการ เสนอให้หน่วยบริการร่วมให้บริการการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการเห็นโดยสมาคมคมตาบอดแห่งประเทศไทย, หน่วยบริการร่วมจัดบริการทั่วไปคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย เป็นหน่วยร่วมจัดบริการให้กับคนพิการทางการเคลื่อนไหว, หน่วยบริการร่วมจัดบริการทักษะการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ (Independent Living : IL) และหน่วยบริการร่วมให้จัดบริการคนพิการทางจิต
ด้าน สุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็น กล่าวว่า ข้อเสนอเหล่านี้ บางประเด็นก็น่าจะทำได้ง่ายไม่ใช้เงินมากมาย เช่น มีล่าม แต่ก็ยังเกิดสถานการณ์ปัญหาอยู่ สะท้อนว่าระบบยังไม่ใส่ใจหรือมีความละเอียดอ่อนพอ คิดว่าถ้าพัฒนาอีกเล็กน้อยระบบก็น่าจะปรับให้ดีขึ้นได้ โดยรับปากว่าจะนำไปสะท้อนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพให้ เช่นเดียวกับบางประเด็นที่มีในชุดสิทธิประโยชน์อยู่แล้วแต่ยังมีข้อเสนอขึ้นมาอีก สะท้อนว่าคนพิการบางส่วนยังไม่ทราบสิทธิประโยชน์หรือสิทธิประโยชน์ที่มียังไม่สอดคล้องกับความต้องการ เรื่องนี้ก็คงต้องนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมทั้งประเด็นการเข้ามามีส่วนร่วมจัดระบบการบริการของเครือข่ายคนพิการก็คงต้องช่วยกันผลักดันต่อไป
อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่ทำงานกับเครือข่ายด้านแรงงาน ตนมีข้อแนะนำเครือข่ายคนพิการว่า การใช้เวทีรับฟังความคิดเห็นลักษณะนี้อย่างเดียวยังไม่พอสำหรับการเสนอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ๆในระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ยังมีอีกกระบวนการเสนอสิทธิประโยชน์ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือในทุกๆปี สปสช.จะมีงานศึกษาข้อเสนอสิทธิประโยชน์ใหม่โดยให้ผู้มีส่วนได้เสียจัดทำข้อเสนอ ซึ่งทุกปีทางผู้กำหนดนโยบาย สภาวิชาชีพต่างๆ จะจัดทำข้อเสนอขึ้นมา เช่นเดียวกับภาคประชาชนก็มีสิทธิทำข้อเสนอเช่นกัน หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกหัวข้อและการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
“ปกติจะเริ่มทำข้อเสนอประมาณเดือน ธ.ค. ของทุกปี ดังนั้นนอกจากเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้วก็อยากให้เครือข่ายคนพิการใช้ช่องทางดังกล่าวด้วยสำหรับสิทธิประโยชน์ที่คิดว่ามีความสำคัญหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนด้วย”สุนทรี กล่าว
ขณะที่ สุภัทรา นาคะผิว กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่า ในเชิงยุทธศาสตร์การเสนอข้อเสนอลักษณะนี้คงไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีข้อเสนอเยอะไปหมด ดังนั้นการบ้านที่เครือข่ายคนพิการต้องทำต่อคือต้องคัดเลือกประเด็นว่าอะไรเร่งด่วนสำคัญของแต่ละกลุ่ม อะไรมีโอกาสสำเร็จได้ภายใน 3-5 ปี และจัดทำรายละเอียดมากกว่านี้
“เรื่องอะไรก่อนหลังเราควรเป็นคนหยิบขึ้นมาพูดไม่ใช่ให้คนอื่นเป็นคนหยิบ นอกจากนี้ต้องแยกแยะข้อเสนอ เพราะบางประเด็นไม่ได้เกี่ยวกับ สปสช.โดยตรง บางอย่างเป็นหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ใช่หน้าที่ของ สปสช.ที่จะทำได้ตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นต้องไปแยกแยะประเด็นและคัดเลือกข้อเสนอให้เหลือเครือข่ายละ 1 ประเด็นพอ เอาที่เร่งด่วนที่สุดและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด รวมทั้งจัดทำรายละเอียดที่ชัดเจนมากๆ เพราะคนที่อยู่ในกลไก สปสช.หลายคนก็ไม่ได้ทราบรายละเอียดในประเด็นเหล่านี้เลย”สุภัทรา กล่าว
ขณะเดียวกัน การผลักดันเรื่องใดสักเรื่องก็ต้องรู้กลไกทั้งหมดที่มีในระบบสุขภาพ เช่น ถ้าเป็นเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ก็ต้องไปทำงานกับอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ ถ้าเป็นสิทธิประโยชน์อยู่แล้วแต่เข้าไม่ถึงหรือมีปัญหาเรื่องมาตรฐานการบริการ ก็ต้องมาที่กรรมการควบคุมคุณภาพฯ การศึกษากลไกภายในต่างๆเหล่านี้มีความสำคัญมากเพราะจะทำยิงเป้าได้ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา
สุภัทรา กล่าวต่อไปว่า นอกจากการทำการบ้านที่ดีแล้ว ข้อเสนอแต่ละข้อต้องมีคนรับผิดชอบเป็นเรื่องๆไป เสนอแล้วอย่าทิ้งต้องกัดไม่ปล่อย และผู้รับผิดชอบต้องเป็นคนที่รู้เรื่องนั้นดีที่สุดและต้องพร้อมจะตอบคำถามได้
“ถ้าเสนอสิทธิประโยชน์ใหม่ คำถามที่ต้องเจอคือจะต้องใช้เงินกี่บาท แล้วจะเกิดความคุ้มค่าทางสุขภาพอย่างไร คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นอย่างไร คำถามเหล่านี้เป็นคำถามพื้นฐานของผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายต้องการรู้ เพราะฉะนั้นทำการบ้านอีกนิด เริ่มจากการเลือกประเด็นสำคัญ อย่าเอาทั้งหมดนี้มาเสนอในคราวเดียว ขอให้เลือกและมีรายละเอียดชัดเจนว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ภายในกี่ปี ขณะเดียวกัน การให้ข้อมูลแก่คนที่อยู่ในกลไกสำคัญ ควรทำชุดข้อมูลมาประกอบหน่อยก็ดีเพราะคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการคนพิการอาจจำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม พูดง่ายๆคือเป็นเอกสารที่ทำให้คนตัดสินใจเชิงนโยบายเห็นภาพและเข้าใจในปัญหานั้นๆได้”สุภัทรา กล่าว
ด้าน พญ.ดลฤดี ศรีศุภผล จากสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ให้ความเห็นว่า ถ้าอยากให้ข้อเสนอได้รับการตอบสนองจริงๆต้องเข้าใจก่อนว่ากำลังขอใครและคนที่ถูกขอสามารถให้อะไรได้บ้าง ณ จุดนี้ สปสช.มีหน้าที่หลักคือด้านการเงินของระบบสุขภาพ เพราะฉะนั้นการขอให้เบิกเรื่องนั้นเรื่องนี้เพิ่มแบบนี้ตรงไปตรงมา แต่หลายข้อเสนอเป็นหน้าที่ สธ. ซึ่งการที่ สปสช.ซึ่งเป็นคนถือเงินจะไปกำกับ สธ. ว่าต้องให้บริการอย่างไรก็อาจทำได้บ้างแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า สปสช.ต้องไปทำอะไรกับกระทรวงและสิ่งที่เครือข่ายคนพิการยังไม่ได้รับเป็นเพราะอะไร
“บางเรื่อง สปสช.จ่ายเงินให้โรงพยาบาลอยู่แล้วแต่ทำไมโรงพยาบาลถึงไม่จัดบริการ อย่างเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการ เรื่องพละบำบัด อันนี้ สปสช.จ่ายอยู่แล้ว แต่ทำไมหน่วยบริการจัดบริการไม่ได้ ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการด้วยก็เข้าใจว่ามันไม่มีผู้ให้บริการ ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายว่า สปสช.ต้องจ่ายเงินแบบไหนถึงจะมีผู้ให้บริการมากขึ้น หรือเรื่องยา ยาบางอย่างไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลัก ดังนั้นขอไป สปสช.ก็ให้ไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นเรื่องยาก็จะต้องไปต่อสู้ในอีกเวทีเพื่อให้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาตินำยาที่ต้องการเข้าไปอยู่ในบัญชีให้ได้ หรือประเด็นการให้องค์กรคนพิการเป็นหน่วยร่วมบริการ เรื่องนี้มีข้อกำหนดเบื้องต้นคือหน่วยที่จะมาร่วมให้บริการต้องผ่านมาตรฐาน ดังนั้นก็ต้องเป็นการบ้านว่าเราจะไปทำให้องค์กรคนพิการผ่านมาตรฐานหน่วยบริการให้ได้เสียก่อน”พญ.ดลฤดี กล่าว
พญ.ดลฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่คัดเลือกประเด็นที่ต้องการนำเสนอได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อคือการติดตามความคืบหน้าและต้องมีทีมงานที่มีความเข้าใจเชิงวิชาการ มีโจทย์ที่ต้องทำวิจัยหาคำตอบหลักๆให้ได้ 2 อย่างคือ 1.สิ่งที่ต้องการเพิ่มนั้น ถ้าทำแล้วคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นแบบมีนัยยะสำคัญทางสถิติหรือไม่ และ 2.ถ้าจะเพิ่มเข้าไปในชุดสิทธิประโยชน์ ต้องใช้งบประมาณกี่บาท
“4-5 ปีก่อน เคยมีข้อเสนอให้เพิ่มผ้าอ้อมสำหรับคนพิการในชุดสิทธิประโยชน์แต่ก็ไม่ผ่านเพราะคำนวนแล้วว่า สปสช.ต้องใช้เงินเยอะมาก ก็เป็นการบ้านอีกว่าเวลาทำวิจัยต้องตามดูคนทำวิจัยว่าผิดพลาดอะไรหรือไม่ อย่างเรื่องผ้าอ้อม คนที่ฉี่ราดขนาดไหนถึงควรได้ผ้าอ้อม คนที่ฉี่ราดจากโรคอะไรถึงจำเป็นต้องได้ผ้าอ้อม ซึ่งงานวิจัยชิ้นนั้นนับรวมคนที่ฉี่ราดทุกคนจึงทำให้ต้องใช้งบประมาณมหาศาลและไม่ผ่านการพิจารณา ดังนั้นต้องตามไปดูว่าคนทำวิจัยเขาทำอะไรบ้าง ไม่อย่างนั้นอาจจะพลาดได้” พญ.ดลฤดี กล่าว
ขณะที่ ระนอง สุขเกษม จากสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม สปสช. กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของสปสช.คืออยากให้ทุกเครือข่ายมีการรวมตัวกัน เครือข่ายคนพิการมีความหลากหลายถึง 7 ประเภท มีความต้องการที่หลากหลาย ที่ผ่านมาการรวมตัวกันจึงค่อนข้างยากเพราะต่างคนต่างมีประเด็น จึงอยากให้คนพิการทุกเครือข่ายมารวมกันผลึกกำลังหรือพูดบางที่ทำให้เสียงมีพลัง
“จากการรับฟังความคิดเห็นใน 13 เขตที่ผ่านมา ทุกเขตก็มีตัวแทนคนพิการมาเสนอเขตละ 2-3 ข้อ ซึ่งมันกระจัดกระจายและขาดความแหลมคม ก็เลยคิดว่าการเชิญทุกเครือข่ายมารวมกันครั้งนี้น่าจะช่วยทำให้กระบวนการเสนอข้อคิดเห็นมีความชัดเจนมากขึ้น”ระนอง กล่าว
ผู้แทนจากสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม สปสช. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปีนี้คิดว่าจะเป็นการรวบรวมปัญหาของแต่ละเครือข่ายก่อนแล้วมาช่วยกันกลั่นกรองคัดเลือกข้อเสนอ มาตกลงร่วมกันจริงๆว่าขับเคลื่อนเรื่องไหน แล้วค่อยๆทำไปทีละเรื่อง รวมทั้งอยากให้กำลังใจว่าถ้าคนพิการรวมตัวกัน ช่วยกันคิดช่วยกันทำ สุดท้ายแล้วก็น่าจะได้รับสิ่งที่ต้องการกันทุกเครือข่าย