ทำความรู้จัก‘พรรคเพื่อธรรม’หลัง‘เจ๊แดง’รีแบรนด์ดิ้ง-เหตุผล‘ชินวัตร’มีพรรคอะไหล่?
“…กระทั่งช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กระแสพรรคเพื่อธรรมถูกพูดถึงอีกครั้ง ต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันอดีต ส.ส.เพื่อไทย ประมาณ 40 ราย ส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.มีชื่อเสียงของพรรค ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน กรณีผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และหากมีการชี้มูลความผิดเกิดขึ้น อาจส่งผลสะเทือนต่อพรรคที่ขณะนี้ก็ถูก ‘พลังดูด’ ไปพอสมควรขึ้นได้…”
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ !
สปอร์ตไลต์ทางการเมืองกำลังฉายแสงไป ‘พรรครวมพลังประชาชาติไทย’ หรือ รปช. ที่มี ‘กำนันสุเทพ’ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นักการเมือง ‘ลายคราม’ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเลขาธิการกลุ่ม กปปส. รวมถึงอดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ผู้มากด้วยบารมี-คอนเนกชั่น เป็นผู้ก่อตั้ง และอยู่เบื้องหลัง
เนื่องจากช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีการประชุมพรรค และเลือก ‘หม่อมเต่า’ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตปลัดกระทรวงการคลัง หนึ่งใน ‘เทคโนแครต’ คนสำคัญ นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค โดยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2561 ‘หม่อมเต่า’ เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อจดทะเบียนพรรค รปช. แล้ว ทุนจดทะเบียนกว่า 30 ล้านบาท มีสมาชิกประเดิม 607 ราย พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้อยู่ ‘ใต้เงา’ ของนายสุเทพ (อ่านประกอบ : 'หม่อมเต่า'ยันไม่ใช่เงา 'สุเทพ'! จดทะเบียนแล้วพรรค รปช. ทุน 30 ล.สมาชิกเริ่มต้น 607 คน)
‘หม่อมเต่า’ ก้าวมาเป็นหัวหน้าพรรค รปช. แย่งพื้นที่ข่าว หรือเบี่ยงเบนความสนใจ ‘กลุ่มสามมิตร’ ที่ระดมสรรพกำลัง ‘ดูด’ อดีต ส.ส. หลากพรรคไปได้มากพอสมควร เพราะปัจจุบันกำลังใช้ ‘พลังดูด’ กวาดต้อนอดีต ส.ส. ทั้งพรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ เข้ามาสะสมเพื่อเป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองในการเลือกตั้งที่ (อาจ) เกิดขึ้นช่วงเดือน ก.พ. 2562 ได้เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
การขยับเขยื้อนของ ‘กลุ่มสามมิตร-รปช.’ ซึ่งมีเบื้องหลังเป็นนักการเมือง ‘รุ่นเดอะ-มากบารมี’ สะเทือนถึงพรรคพรรคที่มีฐานอำนาจมวลชนแข็งแกร่งลำดับต้น ๆ ในไทยอย่าง ‘เพื่อไทย’ ไม่น้อย เพราะถูก ‘พลังดูด’ ทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฐานเสียงที่มั่นหลายจังหวัดเริ่มสั่นคลอน ?
ประเด็นสำคัญที่สุดของพรรคเพื่อไทยตอนนี้คือ ‘ขาดหัวเรือใหญ่’ ที่จะมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค เนื่องจากการลี้ภัยทางการเมืองของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรค-อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ทำให้พรรคจำเป็นต้องคัดสรรบุคคลขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
ชื่อของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ถูกหยิบยกมาเป็นชื่อแรกในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะด้วยบารมี-คอนเนกชั่นทางการเมือง โดยเฉพาะฐานเสียงใน กทม. ทำให้มีอดีต ส.ส.เพื่อไทย กทม. หลายคนผลักดัน อย่างไรก็ดีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า อดีต ส.ส.เพื่อไทย ต่างจังหวัด ยังไม่ยอมรับ และส่งสัญญาณไปที่ ‘นายใหญ่’ ว่าไม่เอา ‘คุณหญิงหน่อย’ เป็นหัวหน้า
แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาชื่อของคนสกุล ‘วงศ์สวัสดิ์’ กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และสามีของ ‘เจ๊แดง’ หรือนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของนายทักษิณ เนื่องด้วยบุคลิกไม่แข็งกร้าว และไม่เคยว่าร้ายใคร รวมถึงคดีความที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ทำให้ไม่มีชนักติดหลังเหมือนนักการเมืองรายอื่น ๆ ทำให้นายสมชาย ถูก ‘เจ๊แดง’ ผนึกกำลังกับนายพายัพ ชินวัตร น้องชายนายทักษิณ และนางเยาวภา รวมถึงอดีต ส.ส.เพื่อไทย หลายคนผลักดันให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2561 อดีต ส.ส.เพื่อไทย หลายราย เดินทางไปฮ่องกง เพื่อพบกับนายทักษิณเพื่อจัดงานวันเกิดย้อนหลังให้ เตรียมการหารือกับนายทักษิณเรื่องหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ด้วย และได้สะท้อนท่าทีว่า มีอดีต ส.ส.เพื่อไทย ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ ‘คุณหญิงหน่อย’ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ชื่อที่โดดเด่นขึ้นมาคือ นายสมชาย เพราะทุกคนในพรรคให้ความเคารพ และเกรงใจ (อ้างอิงข่าวจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
หากไม่เป็นไปตามแผนนี้ ‘เจ๊แดง’ เตรียมให้นายยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ลูกชาย ที่มีดีกรีถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์ มานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคแทน เบื้องต้นมีการเดินสายลงพื้นที่เปิดตัวอย่างเงียบ ๆ ในหลายจังหวัดแล้ว
นอกจากนี้ยังมีแผนสำรองไว้หากพรรคเพื่อไทยถูกยุบพรรคคือ ฟื้นฟูพรรคเพื่อธรรม ขึ้นสำรองแทนพรรคเพื่อไทย โดยให้นายสาโรช หงษ์ชูเวช อดีต ผอ.พรรคเพื่อไทย เป็นคนดำเนินการ (อ้างอิงข่าวจาก โพสต์ทูเดย์ออนไลน์)
หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อพรรคเพื่อธรรมมาบ้างแล้ว แต่เพื่อให้สาธารณชนรู้จักมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปที่มาที่ไปของพรรคดังกล่าวให้ทราบ ดังนี้
ปัจจุบันพรรคเพื่อธรรม เพิ่งแก้ไขคณะกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2560 มี พล.ต.ต.จรัญ ชิตะปัญญา อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) ว่ากันว่าเป็นเพื่อนของนายทักษิณ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค มี พล.อ.สำเนียง เสลาหอม นายสันติ ตันสุหัช เป็นรองหัวหน้าพรรค และนายชัยวัฒน์ ทรัพย์รวงทอง เป็นเลขาธิการพรรค ปัจจุบันพรรคนี้ตั้งอยู่เลขที่ 444/1 ถ.นครสวรรค์ แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กทม. ที่ตั้งเดียวกับมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย
ย้อนกลับไปตอนก่อตั้งพรรคเพื่อธรรม จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2553 มีนายสุรสิทธิ์ ฉิมพาลี เป็นหัวหน้าพรรค พล.อ.สำเนียง เสลาหอม เป็นรองหัวหน้าพรรค นายวันชัย จุฬานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค ระยะเวลาประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อธรรมเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคถึง 6 ครั้ง และส่ง ส.ส.ลงเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 1 ครั้ง (ปี 2557)
ช่วงปี 2554 มีชื่อของนายวัลลภ สุปริยศิลป์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เคยเป็น ส.ส.น่าน พรรคพลังประชาชน อดีตประธานพรรคเพื่อไทยภาคเหนือ และอดีตรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 113 ด้วย ส่วนนายพิษณุ พลไวย์ กรรมการบริหารพรรค เคยเป็นอดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคไทยรักไทย แต่ปัจจุบันทั้ง 2 ราย ไม่ปรากฏชื่อเป็นหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคแล้ว
เคยมีชื่อของ ม.ล.ณัฏฐพล เทวกุล อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เพื่อไทย เมื่อปี 2554 เป็นหลานของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย นั่งเก้าอี้โฆษกพรรคด้วย แต่เมื่อปี 2557 ได้ถูกถอดออกไป มี พ.ต.อ.มานัส ศัตรูลี้ อดีตรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลภาค 1 นั่งเป็นโฆษกพรรคแทนจนถึงปัจจุบัน
สำหรับการส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเมื่อปี 2557 ช่วงนั้นนายวัลลภ ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอยู่ และถูกส่งเป็นบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 อย่างไรก็ดีขณะนั้น พล.ต.ต.จรัญ เพิ่งก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นรองหัวหน้าพรรค และถูกส่งเป็นบัญชีรายชื่อลำดับที่ 2
คำถามสำคัญคือ ทำไมพรรคที่สนับสนุนคนสกุล ‘ชินวัตร’ ถึงต้องมี ‘พรรคอะไหล่’ คอยสำรองตลอด ?
ย้อนกลับไปช่วงวิกฤติของพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรคเมื่อปี 2549 นั้น กรรมการบริหารพรรคต่างถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ทำให้อดีตคนไทยรักไทย ต่างแตกฮือไปพรรคอื่นจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ดีบิ๊กนักการเมืองในพรรคไทยรักไทยตอนนั้น มีมติให้สมาชิกเข้าไปสู่พรรคพลังประชาชน ที่เตรียมการไว้เผื่อเหลือเผื่อขาดหากพรรคไทยรักไทยถูกยุบไว้เรียบร้อยแล้ว
แต่เพื่อเตรียมการเผื่อเหลือเผื่อขาดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นอีก ทำให้ต้องจัดตั้ง ‘พรรคอะไหล่’ พรรคที่สองคือ ‘พรรคเพื่อไทย’ เมื่อปี 2550 โดยใช้ที่ตั้งเดียวกับพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน มีนายบัณจงศักดิ์ วงศ์รัตนวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และนายโอฬาร กิจเลิศไพโรจน์ กลุ่มทุน ‘อิมพีเรียล’ เป็นเลขาธิการพรรค
ต่อมา พรรคพลังประชาชน ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘นอมินี’ พรรคไทยรักไทย ถูกยุบพรรคอีกเมื่อปี 2551 และการก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองครั้งแรกของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านการผลักดันของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ขณะนั้น) ภายหลังการยุบพรรคพลังประชาชน กลุ่มนักการเมืองใต้ปีก ‘ไทยรักไทย’ ย้ายเข้ามาสู่พรรคเพื่อไทยแทบจะทันที โดยมีสุชาติ ธาดาดำรงเวช ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรองหัวหน้าพรรค และเมื่อปี 2552 นายยงยุทธ จึงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก่อนจะมาถึงนายจารุพงศ์ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค
และในคราวเกิดวิกฤติทางการเมืองเมื่อปี 2553 นั้น พรรคเพื่อไทยเล็งเห็นว่า อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างที่พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน โดนอีก จึงดำเนินการตั้งพรรคเพื่อธรรมเพื่อเป็นอะไหล่สำรองอย่างเงียบ ๆ แม้พรรคเพื่อไทยผ่านพ้นวิกฤตินั้นมาได้ และได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลอีกครั้งช่วงปี 2554 มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก แต่ในช่วงบริหารบ้านเมืองระหว่างปี 2554-กลางปี 2557 พรรคเพื่อไทยถูกสารพัดปัญหาท้าทายอยู่ตลอด และมีการพูดถึงพรรคสำรองคือ พรรคพลังธรรมเป็นช่วง ๆ แต่ก็เงียบหายไป
กระทั่งช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กระแสพรรคเพื่อธรรมถูกพูดถึงอีกครั้ง เพราะต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันอดีต ส.ส.เพื่อไทย ประมาณ 40 ราย ส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.มีชื่อเสียงของพรรค ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน กรณีผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และหากมีการชี้มูลความผิดเกิดขึ้น อาจส่งผลสะเทือนต่อพรรคที่ขณะนี้ก็ถูก ‘พลังดูด’ ไปพอสมควรขึ้นได้
เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้ระบบแบ่งเขตการเลือกตั้งแบบใหม่ ทำให้การต่อสู้ของ 2 พรรคใหญ่จากเดิมทำได้ลำบากมากขึ้น และพรรคขนาดกลางสามารถมีเสียงต่อรองทางการเมืองมากขึ้น อาจเป็นอีกประการที่ทำให้ ‘บิ๊กนักการเมืองซีกสีแดง’ ใช้โมเดล ‘พรรคขนาดกลาง’ หนุน ‘พรรคใหญ่’ ก็เป็นไปได้ ?
นั่นจึงอาจเป็นคำตอบว่า ทำไม ‘เจ๊แดง’ จำเป็นต้อง ‘ปัดฝุ่น-รีแบรนด์ดิ้ง’ พรรคเพื่อธรรมขึ้นมาอีกครั้ง
ท้ายสุดบทสรุปทางการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด!