นักวิชาการชี้ “มีหนี้ต้องใช้” หนุน กยศ. แก้ปัญหาการชำระหนี้
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สนับสนุน กยศ. แก้ปัญหาการชำระหนี้ แนะผู้กู้ยืมควรมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองและสังคมส่วนรวม เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนและนักศึกษารุ่นต่อไป
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอดีตประธานอนุกรรมการจัดเตรียมแผนการศึกษาชาติ สภาการศึกษา กล่าวว่า จากกรณีนักเรียนและนักศึกษากู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้วไม่ชำระหรือเบี้ยวหนี้นั้น ส่งผลให้ กยศ. ได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งอาจมีผลต่อการดำเนินงานในระยะยาว สร้างผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของผู้กู้รายใหม่ รวมทั้งเกิดภาระทางงบประมาณของรัฐบาลที่มากขึ้น ดังนั้น ผู้กู้ยืมที่เคยได้รับโอกาสทางการศึกษาจาก กยศ. ไปแล้วควรมีจิตสำนึกต่อหน้าที่ของตัวเองและสังคมส่วนร่วมในการชำระหนี้ อีกทั้งไม่ควรให้เดือดร้อนผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ เพื่อส่งต่อโอกาสให้แก่นักเรียนและนักศึกษารุ่นหลังต่อไป
องค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์กร Unicef สหประชาชาติ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ให้ความเห็นตรงว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา บทบาทของ กยศ. ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย จากกรณีนี้จึงนับเป็นความท้าทายที่ กยศ. ต้องเผชิญกับการติดตามทวงหนี้จากผู้กู้ยืมกลับมาจ่ายหนี้ได้เป็นผลสำเร็จ
ปัญหาหนี้เสียของ กยศ. นั้น เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนานซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข และ กยศ. เองก็ได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะทำให้สถานะทางการเงินของ กยศ. เข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้ ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ กยศ. สามารถดำเนินการกับผู้กู้ยืม เพื่อให้ได้เงินกลับคืนสู่กองทุนฯ และสามารถนำไปใช้หมุนเวียนในการให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนรุ่นหลังต่อไป
“แผนการศึกษาแห่งชาติในฉบับที่ตนเป็นประธานกรรมการยกร่างนั้นได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้นและถือเป็นเป้าหมายสำคัญของแผนการศึกษาชาติ ในส่วนของแผนการศึกษาชาติที่เป็นแผนปฏิบัติการ ตนจะเสนอให้เพิ่มเรื่อง สวัสดิการการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ยากจนหรือการขยายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กในครอบครัวที่ยากจนโดยให้ “แต้มต่อ” ให้กับเด็กยากจนด้วยมาตรการ CCT (Conditional Cash Transfer) เงินโอนที่มีเงื่อนไขให้เด็กได้เรียน” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวเสริม