สสส.ต่อยอดวิจัยผลักสู่นโยบายช่วยแรงงานวัยเกิน 45 ปี
เวทีสัมมนา “Active and Productive Ageing : ความท้าทายที่ไทยต้องไปให้ถึง” วิจัย 3 ด้าน “เตรียมพร้อมแรงงานวัยเกิน 45 ปี-ระบบดูสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ – สร้างการมีส่วนร่วม” สู่ “สังคมสูงวัยอย่างกระปรี้กระเปร่า” เตรียมข้อเสนอเชิงนโยบายนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ สสส.พร้อมสานพลังภาคีต่อยอดงานวิจัยผลักดันสู่นโยบายใช้ได้จริง
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2561 ที่โรงแรมแกรนด์เมอเคียว มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีสัมมนา “Active and Productive Ageing : ความท้าทายที่ไทยต้องไปให้ถึง”เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร นักวิชาการ และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในการนำผลงานวิจัยที่ได้ไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้จัดการชุดโครงการพัฒนาคุณภาพและประเมินติดตามชุดโครงการวิจัย และสังเคราะห์เชื่อมโยงการพัฒนานโยบายด้านผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยแล้วและกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ในขณะที่ประเทศเรายังไม่ก้าวพ้นประเทศรายได้ปานกลาง ภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลต่อผลกระทบต่าง ๆ ที่จะตามมาทั้งในด้าน การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แรงงาน ตลอดจนการจัดระบบบริการด้านต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่สอง พ.ศ. 2545-2564 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ผู้สูงอายุเป็นหลักชัยของสังคม” ซึ่งผู้สูงอายุจะเป็นเช่นนั้นได้ต้องมีความมั่นคงทางสังคม (Social security) มีสุขภาพที่ดี (Healthy) มีส่วนร่วมในครอบครัว ชุมชน และสังคม (Participation) รวมถึงการยังประโยชน์ต่อบุคคลอื่นในครอบครัว ชุมชน และสังคม
นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการศึกษาวิจัยภายใต้ “แผนงานบริหารจัดการโครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มเรื่อง Active and Productive Aging” 3 ด้าน ได้แก่ 1) การเตรียมความพร้อมของแรงงานวัย 45 ปีขึ้นไปเพื่อก้าวสู่วัยสูงอายุอย่างกระปรี้กระเปร่าในกลุ่ม ลูกจ้างภาคเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวในภาคราชการ และแรงงานนอกระบบ 2) การพัฒนาศักยภาพและบทบาทของผู้สูงอายุผ่านกลไกรูปแบบชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) และ การรวมกลุ่มตามกิจกรรมหลายช่วงวัย และ 3) การเตรียมความพร้อมของระบบเพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะในด้านการพัฒนาตัวชี้วัดพฤฒพลัง การพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และมาตรการป้องกันการพลัดตกหกล้มและสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งจากข้อค้นพบนี้นำมาสู่การพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย มาตรการ และกลไกที่เสนอให้หน่วยงานต่าง ๆ พิจารณานำไปขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมเพื่อทำให้เกิด “สังคมสูงวัยอย่างกระปรี้กระเปร่า (Active and Productive)” อย่างแท้จริง
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยชุดนี้ ถือเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีฐานคิดจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงอายุและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ โดยได้วิเคราะห์ให้เห็นข้อค้นพบเชิงประจักษ์จากงานวิจัยด้านนโยบาย และการทำงานในระดับพื้นที่ ทำให้เห็นจุดแข็ง และจุดอ่อน เพื่อนำมาสู่การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนี้ที่มีความครอบคลุมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ ในส่วนของ สสส. สามารถนำข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยรวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในประเด็นด้านสุขภาพ และด้านสังคม ไปใช้ในการวางแผนการสนับสนุนโครงการเพื่อหนุนเสริมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุได้ตามพันธกิจ สสส. รวมถึงร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน เพื่อนำข้อค้นพบ และข้อเสนอเชิงนโยบาย ไปขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ เช่น การพัฒนาเครื่องมือ ชุดความรู้เพื่อสร้างความตระหนักและเกิดการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพของวัยแรงงาน การพัฒนาศักยภาพชมรมผู้สูงอายุ หรือสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างความเข้มแข็งและกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้สูงอายุ เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายที่มีคนทุกช่วงวัยร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม หรือทำให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมและเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมอย่างต่อเนื่อง